'พระนิรันตราย' พระผู้ 'ปราศจากอันตราย' พระพุทธรูปสำคัญสมัย 'รัชกาลที่ ๔'
‘พระนิรันตราย’ พระสำคัญของชาติอีกองค์หนึ่ง ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในหอพระสุราลัยพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง เป็นพระพุทธรูปโบราณสององค์ซ้อนกัน 'องค์เดิม' (องค์เดิมอยู่ด้านในก่อนสร้างอีกองค์ใหม่ / องค์นอก) เป็นพระพุทธรูปทองคำ ศิลปะแบบทวารวดี ราวพุทธศตวรรษ ๑๔-๑๕ ขนาดหน้าตักกว้าง ๓ นิ้ว องค์สูง ๔ นิ้ว ขัดสมาธิเพชร ข้อพระบาทไขว้กันอย่างหลวม ๆ พระหัตถ์ประสานกันบนพระเพลา โดยพระหัตถ์ขวาซ้อนเหนือพระหัตถ์ซ้าย
ส่วนพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงเป็นเส้นติดต่อกันคล้ายปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกป้าน พระโอษฐ์ค่อนข้างกว้าง พระกรรณยาวเกือบจรดพระอังสะ พระเศียรประกอบด้วยขมวดพระเกศา มีเกตุมาลาอยู่เบื้องบนปราศจากรัศมี องค์พระพุทธรูปครองอุตราสงค์เรียบ ไม่มีริ้ว ห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวาของอุตราสงค์พาดผ่านข้อพระกรซ้าย ประทับนั่งบนปัทมาสน์ (ฐานดอกบัว) มีกลีบบัวคว่ำบัวหงายประกอบทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง ซึ่งฐานปัทมาสน์นี้ได้สร้างเพิ่มเติมในภายหลัง
ใน 'ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ' พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า เป็นพระพุทธรูปที่กำนันอินและนายยังบุตรชาย ไปพบขณะขุดหามันนกในบริเวณชายป่าห่างจากดงศรีมหาโพธิ์ประมาณสามเส้น พบเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำ จึงได้นำมามอบให้ 'พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ' ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา โดยขุดพบเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ พระเกรียงไกรกระบวนยุทธจึงบอกกรมการเมืองและ 'พระยาวิเศษฤๅไชย' เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา กรมการเมืองฉะเชิงเทราทั้งหลายจึงพร้อมใจกันนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จากนั้นพระองค์ก็ได้สอบถามที่ไปที่มาและได้พระราชทานเงินตรากับกรมการเมือง และ ๒ พ่อลูก โดยมีบันทึกไว้ว่า...
“สองพ่อลูกมีกตัญญูต่อพระพุทธศาสนาและพระเจ้าแผ่นดิน ขุดได้พระทองคำแล้วไม่ทำลาย หรือซื้อขายเป็นประโยชน์ส่วนตัว แล้วยังมีน้ำใจมาทูลเกล้าฯ ถวาย…” พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานเงินตราให้เป็นรางวัล ๗ ชั่ง แล้วมีพระบรมราชโองการดำริให้ช่างทำฐานเงินกะไหล่ทองประดิษฐานไว้
จากนั้นจึงโปรดฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปทองคำไปประดิษฐาน ณ หอพระเสถียรธรรมปริตรคู่กับพระกริ่งทองคำองค์น้อย และพระพุทธรูปสำคัญอื่น ๆ อีกหลายองค์ โดยที่พระทองคำองค์นี้ยังไม่มีพระนามใด ๆ
ที่มาแห่งชื่อ 'นิรันตราย' นั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๐๓ เกิดมีขโมยได้มาลักเอาพระกริ่งทองคำองค์น้อยไปถึงในหอพระ แทนที่จะลักพระพุทธรูปทองคำองค์ใหญ่กว่า และอยู่คู่กัน พระองค์ทรงมีพระราชดำริความว่า “พระพุทธรูปซึ่งกำนันอินทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นทองคำทั้งแท่งและใหญ่กว่าพระกริ่ง ควรที่คนร้ายจะลักเอาองค์ใหญ่ไป แต่กลับละไว้ เช่นเดียวกับผู้ที่ขุดได้ไม่ทำอันตราย เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่แคล้วคลาดถึง ๒ ครั้ง” พระองค์จึงทรงถวายพระนามพระพุทธรูปทองคำว่า 'พระนิรันตราย' แปลว่า 'ปราศจากอันตราย' และโปรดเกล้าฯ ให้ หล่อองค์ใหม่ครอบองค์เดิมมาจนถึงทุกวันนี้
โดยรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ พระราชทานแบบส่วนให้ 'พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ' และกลุ่มช่างในพระองค์ หล่อพระพุทธรูปประทับสมาธิเพชรให้ต้องตามพุทธลักษณะด้วยทองคำบริสุทธิ์ ขนาดหน้าตัก ๕ นิ้วครึ่ง สวมครอบพระพุทธรูปนิรันตรายองค์เดิมอีกชั้นหนึ่ง และให้หล่อด้วยเงินบริสุทธิ์อีกองค์เป็นคู่กัน โปรดเกล้าฯ ให้ถวายพระนามว่าพระนิรันตรายทุกองค์ เฉพาะองค์ทองคำให้เชิญไปประดิษฐานในพระแท่นมณฑลในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ อาทิ พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (พิธีทำบุญตรุษตัดส่งปีเก่า) พระราชพิธีสงกรานต์
ปัจจุบันเจ้าพนักงานภูษามาลายังคงรักษาแบบแผนโบราณราชประเพณี โดยอัญเชิญพระนิรันตรายไปประดิษฐานในพระราชพิธีสำคัญ ๆ ต่าง ๆ อาทิ ในการบำเพ็ญพระราชกุศลวันเฉลิมพระชนมพรรษา และงานพระราชกุศลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัด ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นต้น
กลับมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ กันต่อ นอกจากพระองค์จะทรงหล่อ พระองค์ใหม่ / องค์นอก ครอบพระองค์เดิมแล้วนั้น ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูปพิมพ์เดียวกันพระนิรันตราย (องค์นอก) เนื้อทองเหลือง มีลักษณะเพิ่มเติมจากพระนิรันตรายเดิม คือ ประดับด้วยซุ้มเรือนแก้ว ทำเป็นพุ่มพระศรีมหาโพธิ์ประกอบ ยอดซุ้มประดับลายพระมหามงกุฎ และจารึกบท 'อิติปิโส ภควา' ๙ วรรค เป็นอักษรขอมประดับตามซุ้ม ส่วนฐานประดับรูปโค เจาะรูบริเวณปากโค น้ำสรงพระนิรันตรายจะไหลออกทางปากโค ซึ่งศีรษะโค แสดงเครื่องหมายพระสกุล 'โคตมะ' ของพระพุทธเจ้า จัดสร้างขึ้นจำนวน ๑๘ องค์เท่ากับปีที่ครองราชย์ เพื่อพระราชทานพระอารามฝ่ายธรรมยุต จำนวน ๑๘ แห่ง แต่ยังไม่กะไหล่ทองก็สวรรคตเสียก่อน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างดำเนินการต่อจนแล้วเสร็จและนำไปพระราชทานยังวัดธรรมยุตตามพระราชประสงค์ของพระบรมราชชนก โดยวัดทั้ง ๑๘ แห่ง ได้แก่...
๑.วัดบวรนิเวศวิหาร
๒.วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
๓.วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
๔.วัดเสนาสนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา
๕.วัดนิเวศธรรมประวัติฯ จ.พระนครศรีอยุธยา
๖.วัดบรมนิวาส
๗.วัดมกุฏกษัตริยาราม
๘.วัดเทพศริรินทราวาส
๙.วัดโสมนัสวิหาร
๑๐.วัดราชาธิวาส
๑๑.วัดเขมาภิรตาราม จ.นนทบุรี
๑๒.วัดปทุมวนาราม
๑๓.วัดราชผาติการาม
๑๔.วัดสัมพันธวงศาราม
๑๕.วัดเครือวัลย์
๑๖.วัดบุปผาราม
๑๗.วัดบุรณศิริมาตยาราม
๑๘.วัดยุคันธราวาส จ.นนทบุรี
สำหรับท่านที่อยากไปสักการะพระนิรันตรายนั้นสามารถไปได้ตามรายชื่อวัดดังกล่าว เพียงแต่อาจจะต้องสอบถามก่อนว่าเปิดให้เข้าสักการะหรือไม่
เชื่อว่าถ้าท่านผู้อ่าน ๆ ได้เข้าไปสักการะองค์พระแล้ว ก็จะได้ 'ปราศจากอันตราย' เช่นเดียวกับนามขององค์พระ
เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager