จับภาวะเศรษฐกิจไทย ในจังหวะ 'ต้นทุนแพง แข่งขันลำบาก' โจทย์ใหญ่สุดหินของรัฐบาล ส่วนฝ่ายค้านก็ค้านแต่เรื่องผิดๆ ถูกๆ
ข่าวปิดกิจการ ของห้างสรรพสินค้า ‘ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี’ พร้อมการยุติการจ่ายกระแสไฟฟ้า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 กระทบต่อผู้ประกอบการร้านค้า ที่เช่าพื้นที่ขาย บนอาคาร 12 ชั้น ทั้งหมด ร้านอาหารที่ใช้ตู้แช่เย็น เพื่อเก็บวัตถุดิบ หากไม่สามารถขาย หรือขนย้ายได้ทัน ก็คงเสียหายไปอีกไม่น้อย
ธุรกิจเอสเอ็มอีไทย 8 เดือนแรกปีนี้ 'ปิดกิจการ' 10,000 ราย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า ข้อมูลการปิดกิจการของธุรกิจ SMEs ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 มีอยู่ประมาณ 10,000 ราย (อ้างอิงข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) โดยภาคอีสานและภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่มีความเปราะบางสูงสุด สะท้อนจากสัดส่วนธุรกิจที่ปิดกิจการเทียบกับธุรกิจที่มีอยู่
ไม่ใช่แค่ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจที่กระทบต่อเอสเอ็มอีไทย แต่พบว่ายังมีความท้าทายจากปัจจัยภายในที่เผชิญ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจที่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็เผชิญร่วมกัน โดย 95% ของกลุ่มตัวอย่างพบว่า 3 เรื่องที่มีความกังวลและกดดันศักยภาพในการทำธุรกิจมากที่สุดคือ
1.ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการดำเนินงาน ต้นทุนวัตถุดิบที่สูง
2.พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
3.กลยุทธ์การผลิตและการตลาดที่ล้าสมัย ทำให้เอสเอ็มอีไทยอาจมีแนวโน้มฟื้นช้ากว่าคาด
ทั้งนี้มองในระยะข้างหน้าปัญหาเหล่านี้อาจจะมีความรุนแรง แก้ไขและควบคุมได้ยาก พบ 4 ประเด็นจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามาซ้ำเติมปัญหาเหล่านี้คือ
1.ต้นทุนพลังงานที่น่าจะผันผวน
2.ต้นทุนค่าแรงที่กำลังจะปรับสูงขึ้น
3.สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ
และ 4.ปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขยายเข้าไปในท้องถิ่นต่าง ๆ ทำให้เอสเอ็มอีแข่งขันได้ยากขึ้น รวมถึงยังเน้นแข่งขันด้านราคา ที่ทำให้สภาพคล่องของธุรกิจด้อยลงอย่างต่อเนื่อง
ต้นทุนเป็นปัญหาหลัก ที่ส่งผลให้ SMEs ปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก แต่รัฐบาล เตรียมประกาศปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ !! ซึ่งก็ต้องรอดูว่า มาตรการที่จะมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ต้องแบกรับต้นทุนค่าแรงงาน ที่สูงขึ้น จะออกมาในรูปแบบใด หากมาตรการไม่สามารถช่วยเหลือได้ จำนวนตัวเลขการปิดกิจการ ก็คงเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวหน้า และแรงงาน ก็คงตกงานกันอีกเป็นจำนวนมาก
ฝ่ายค้าน ที่จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมการบริหารของรัฐบาลให้เป็นไปโดยชอบตามทำนองคลองธรรม จากการอภิปรายล่าสุด ก็ยังไม่พบว่า มีข้อแนะนำในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จากแกนนำฝ่ายค้าน อ่านตัวเลขงบประมาณ ยังผิด ๆ ถูก ๆ มีแต่ข่าวคราว การหาเสียงเลือกตั้งซ่อม เลือกตั้งท้องถิ่น ผลักดันสุราเสรี จัดสัมมนาเรื่อง Sex Tourism และเพศพาณิชย์ ที่ยังมองไม่เห็นว่า จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจได้อย่างไร เมื่อเทียบกับโครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการแลนด์บริจด์
ม.หอการค้าไทย เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนสิงหาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 57.7 เป็น 56.5 เป็นการปรับตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือนนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566
เดือนมีนาคม 2567 'ดนันท์ สุภัทรพันธุ์' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เคยกล่าวถึงกรณีการแข่งขันอันดุเดือดท่ามกลางสมรภูมิขนส่งไว้ว่า 'ไปรษณีย์ไทย' กำลังเจอปัญหาการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเพราะโดนกีดกันจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากร้านค้าและลูกค้าไม่สามารถเลือกขนส่งเองได้ เขาเสนอว่า ต้องมี 'Regulator' หรือหน่วยงานที่เข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลเป็นผู้กำหนดกติกาการแข่งขัน เพื่อความเป็นธรรมและชัดเจนมากขึ้น
เท่านั้นยังไม่พอ เพราะตอนนี้ต้องเจอศึกหนักจาก ‘Temu’ ที่มีความยากกว่าหลายเท่า เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่มีสำนักงานในไทย แม้แต่กรมสรรพากรก็ตรวจสอบไม่ได้ ทำให้ต้นทุนของ Temu ต่ำกว่าเดิม จากที่ส่วนแบ่งในตลาดถูก 'Shopee' และ 'Lazada' ปันส่วนไป
ถ้าคนขายตาย ผู้ประกอบการตาย ขนส่งก็ไม่รอด ‘GDP’ ไหลออกนอกประเทศ แล้วรัฐบาลจะหารายได้จากแหล่งใด มากระตุ้นเศรษฐกิจ สุดท้าย ผู้ประกอบการ ธุรกิจ SMEs ในประเทศต้องปิดตัวลง ถ้ายังไม่แก้ สุดท้ายก็ตายกันหมด
อ้างอิง: กรุงเทพธุรกิจ / ฐานเศรษฐกิจ / ประชาชาติธุรกิจ
เรื่อง: The PALM