'กองทัพเรือ' จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติ อีกทั้งมอบเกียรติประวัติแด่ทุกผู้เกี่ยวข้องในพระราชพิธีสำคัญนี้

สืบเนื่องจาก 'กองทัพเรือ' ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 การพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งได้มีการเตรียมการด้านการฝึกซ้อมกำลังพลฝีพาย และการซ่อมบำรุงเรือ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในส่วนอื่น ๆ เพื่อให้การจัดงานในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สง่างาม และสมพระเกียรติ 

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 31 ส.ค.67 ได้ถือโอกาสพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องในพระราชพิธีสำคัญดังกล่าว โดยเริ่มที่ นาวาโทจิระพงศ์ กลมดวง นายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ถึงเส้นทางการรับราชการจนเป็นนายเรือ ดังนี้...

นาวาโทจิระพงศ์ เล่าว่า เมื่อปี พ.ศ. 2536 ได้เริ่มต้นรับราชการอยู่กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ โดยมีหน้าที่รับเชือกอำนวยความสะดวกให้เรือพระราชพิธีเข้าออกจากหลักจอด และได้ย้ายมาอยู่ที่แผนกเรือพระราชพิธี เมื่อปี พ.ศ. 2546 และได้เริ่มเป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เมื่อปี พ.ศ. 2549 ซึ่งหน้าที่ของนายท้ายเรือนั้น ก็เหมือนคนขับรถที่ต้องถือพวงมาลัย คอยที่จะเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาให้กับเรือ 

จากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2562 ได้รับโอกาสเป็นนายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ โดยมีหน้าที่รับผิดชอบทั้งหมด เช่น ต้องควบคุมเรือให้อยู่ในตำแหน่งที่กำหนดในริ้วขบวนและควบคุมความเร็วของเรือ ซึ่งการพายเรือพระที่นั่งต้องพายท่านกบินตลอดเส้นทาง 

นอกจากนี้ยังได้เป็นครูฝึกฝีพาย แก่คนที่พายเรือไม่เป็นเลย ให้ต้องมาเรียนรู้บนบกก่อน เรียกว่าการฝึกบนเขียงฝึก โดยกองทัพเรือมีเขียงฝึกอยู่ทั้งหมด 12 แห่งทั่วประเทศ 

เมื่อถามถึงความรู้สึกของฝีพายเรือพระที่นั่ง? นาวาโทจิระพงศ์ เผยว่า "ทุกคนอยากจะพายเรือเพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี ส่วนตัวผมเอง มีความภาคภูมิใจมากที่ได้เป็นนายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และอยากทำงานนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งพร้อมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ไปยังรุ่นน้อง ๆ ต่อไป"

สำหรับกาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติในครั้งนี้ นาวาโทจิระพงศ์ เล่าอีกว่า มีลักษณะเป็นการบรรยายเล่าถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประพันธ์โดย พลเรือตรีทองย้อย แสงสินชัย มีทั้งหมด 4 บท ได้แก่ สรรเสริญพระบารมี, ชมเรือกระบวน, บุญกฐิน และชมเมือง ซึ่งทางกองทัพเรือได้เตรียมกำลังพลเห่เรือไว้ 3 ท่าน ได้แก่...

- ท่านที่ 1 เรือโทสุราษฎร์ ฉิมนอก หัวหน้าหมวดเรือลำเลียงที่ 1 ซึ่งมีประสบการณ์เป็นพนักงานเห่เรือสำรอง เมื่อปี พ.ศ. 2562 

- ท่านที่ 2 พ.จ.อ.พูลศักดิ์ กลิ่นบัว ช่วยปฏิบัติราชการกองเรือเล็ก เดิมเคยเป็นฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์และเป็นครูฝึกพายเรือพระราชพิธี ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของการเป็นพนักงานเห่เรือ 

- ส่วนท่านที่ 3 จ.อ.เสฐียร ขาวขำ ช่วยปฏิบัติราชการกองเรือเล็ก เคยเป็นฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์และเป็นครูฝึกพายเรือพระราชพิธี ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของการเป็นพนักงานเห่เรือเช่นกัน 

เมื่อถามถึงความรู้สึกของพนักงานเห่เรือที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีสำคัญครั้งนี้? ด้านเรือโทสุราษฎร์ กล่าวว่า "มีความรู้สึกปลาบปลื้มใจและเป็นเกียรติประวัติของวงศ์ตระกูลจะตั้งใจทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุดตามที่ได้รับมอบหมาย"

ส่วน พ.จ.อ.พูลศักดิ์ กล่าวว่า 'มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้ามาเป็น 1 ใน 3 ของพนักงานเห่เรือและเป็นเกียรติประวัติของวงศ์ตระกูล" และ จ.อ.เสฐียร กล่าวว่า "รู้สึกภาคภูมิใจและเป็นเกียรติสูงสุดในการทำหน้าที่นี้ ซึ่งต้องขอขอบคุณผู้บังคับบัญชาที่ให้โอกาส ส่วนการสืบทอดการเห่เรือให้คงอยู่ต่อไป"

เรือโทสุราษฎร์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า "ปัจจุบันทางกองทัพเรือได้ให้โอกาสบุคคลที่มีความรู้ความสามารถได้แสดงศักยภาพของตัวเองเพื่อสร้างสมประสบการณ์มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันท่านผู้บัญชาการทหารเรือได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ของกองทัพเรือ ได้เป็นพนักงานเห่เรือในครั้งนี้ด้วย"