สโมสรฟุตบอลสมุทรปราการเอฟซี ต้นแบบ 'สโมสรฟุตบอลสีเขียว'

THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 24 ส.ค.67 ได้พูดคุยกับ ดร.ก้องเกียรติ สุริเย ประธานกรรมการ บริษัท จีอาร์ดี จำกัด และผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต ถึงการรับมอบประกาศนียบัตรเครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุต พริ้นท์ และเครื่องหมายรับรองความเป็นกลางทางคาร์บอน จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งเป็นตอกย้ำถึงการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมในวงการกีฬาฟุตบอลไทย โดยมี 'สโมสรฟุตบอลสมุทรปราการ เอฟซี' เป็นสโมสรฟุตบอลแห่งแรกของไทยที่ได้การรับรองความเป็นกลางทางคาร์บอน

ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า ปัจจุบันวงการกีฬาให้ความสนใจในการลดโลกร้อนมากขึ้น เช่น การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศฝรั่งเศส เป็นการจัดโอลิมปิกที่ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำที่สุด ประมาณ 1.75 ล้านตัน ในขณะที่การจัดโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 1.9 ล้านตัน การจัดโอลิมปิกที่รีโอเดจาเนโร ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 3.6 ล้านตัน และการจัดโอลิมปิกที่กรุงลอนดอน ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 3.4 ล้านตัน 

ส่วนการแข่งขันฟุตบอลระดับโลกในปัจจุบัน สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า (FIFA) ได้ออกกฎ Cooling break หมายถึง การเล่นกีฬาฟุตบอลต้องพักเพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดโอเวอร์ฮีท (Over heat) มากเกินไป เนื่องจากตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีนักกีฬาที่วิ่งในสนามแล้วเป็นโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด กว่า 50 คน 

ดังนั้นเมื่ออุณหภูมิในสนามสูงถึง 32 องศาเซลเซียส นักกีฬาต้องหยุดพักก่อน เมื่ออุณหภูมิลดลงถึงจะเริ่มเกมแข่งขันได้ ซึ่งอาจทำให้ความนิยมของแฟนบอลลดลงเนื่องจากการแข่งขันไม่ต่อเนื่องและมีการหยุดพักบ่อยครั้ง แสดงถึงภาวะโลกร้อนเริ่มส่งผลกระทบต่อวงการกีฬาในระดับโลกแล้ว 

ในส่วนของวงการฟุตบอลไทย คุณพีรพัฒน์ ถานิตย์ ประธานสโมสรฟุตบอลจังหวัดสมุทรปราการ เอฟซี กล่าวถึง ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและแรงบันดาลใจในการสนับสนุนให้สโมสรฟุตบอลสมุทรปราการ เอฟซี เข้าสู่โครงการลดโลกร้อน ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าสโมสรฟุตบอลกับการลดโลกร้อนห่างไกลกัน แต่จริงๆ แล้วมันใกล้กันมาก เพราะสมัยก่อนเวลาแข่งขันฟุตบอลมันไม่มีการหยุดแข่งขันระหว่างเกมเนื่องจากอากาศร้อน เลยได้ปรึกษากับ ดร.ก้องเกียรติ สุริเย ว่าทางสโมสรฯ อยากเริ่มต้นลดโลกร้อนอย่างจริงจัง เพราะความร้อนสามารถคร่าชีวิตนักกีฬาได้ เนื่องจากการซ้อมฟุตบอลของไทย นิยมซ้อมในช่วงเวลา 3-4 โมงเย็น ซึ่งอากาศยังร้อนอยู่มาก เราเลยเริ่มต้นลดโลกร้อนง่ายๆ จากเสื้อกีฬาของสโมสรที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล (Recycle) รวมถึงการติดแผงโซล่าเซลล์ (Solar cell) ในร้านอาหารบริเวณสนามซ้อมเพื่อประหยัดพลังงาน  หรือแม้แต่สนามหญ้าก็ใช้ปุ๋ยออร์แกนิก (Organic) ในการบำรุงรักษา รวมถึงรณรงค์การแยกขยะของแฟนบอลอีกด้วย 

ดร.ก้องเกียรติ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสโมสรฟุตบอลโดยทั่วไปจะปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ประมาณ 100 ตันต่อปี โดยสโมสรฟุตบอลสมุทรปราการ เอฟซี ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ลง 30% ในปี 2568 และปีถัดไปตั้งเป้าลดลง 60% จนกระทั่งเหลือศูนย์เลย สิ่งสำคัญจะทำให้กีฬาฟุตบอลยังคงอยู่กับเราต่อไป การสร้างน้ำใจนักกีฬา และเรื่องของสุขภาพของนักกีฬา เราต้องหาจุดสมดุลใหม่ให้กีฬากับโลกร้อนเดินไปด้วยกันได้ ไม่อยากให้เล่นกีฬาแล้วมีปัญหาเรื่องสุขภาพเนื่องจากอากาศและภาวะโลกร้อน เราต้องรีบดำเนินการตั้งแต่วันนี้ก่อนที่มันจะสายไป สโมสรฟุตบอลสมุทรปราการ เอฟซี จึงกลายเป็นต้นแบบ 'สโมสรฟุตบอลสีเขียว' แห่งแรกของไทย นอกจาก 'ชัยชนะ' จะเป็นสิ่งที่นักกีฬาทุกคนต้องการ แต่สิ่งสำคัญไม่ควรมองข้าม คือ น้ำใจนักกีฬาที่ควรมีให้กัน และการมีน้ำใจให้กับโลกใบนี้ด้วยครับ