‘นักธุรกิจฟาร์มปลาสวยงาม’ ไขกระจ่างปมเจอปลาเทราต์ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ชี้!! เติบโตในน้ำอุณหภูมิไม่เกิน 24 องศา โอกาสรุกรานระบบนิเวศไทยมีน้อย
(23 ก.ค. 67) นายนิธิพัฒน์ พันธุ์ธุมจินดา นักธุรกิจ ฟาร์มปลาสวยงาม โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Nitipat Bhandhumachinda’ ระบุว่า…
กรณีปลาเทราต์ที่มีคนกล่าวว่าพบเจอหลุดในแหล่งธรรมชาติ และกังวลว่าจะสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อระบบนิเวศ โดยมีการอ้างอิง IUCN ว่าเป็นชนิดปลาที่สามารถรุกรานรุนแรงสายพันธุ์หนึ่งนั้น
ก็ต้องเรียนว่า ปลาเทราต์ในโครงการหลวงดังกล่าวนั้น เป็นปลาที่มีการนำเข้ามาทั้งในรูปแบบเพาะเลี้ยงจากไข่ปลา และมีการพัฒนาวิจัยจนสามารถเพิ่มจำนวนลูกปลาได้ด้วยการผสมเทียมในอุณหภูมิน้ำที่ประมาณ ๑๒ องศา
ส่วนการเลี้ยงดูให้เติบโตจนขายได้นั้น ปลาชนิดนี้ต้องอาศัยอยู่ในน้ำที่อุณหภูมิไม่เกิน ๒๔ องศาตลอดทั้งปี โดยยิ่งอุณหภูมิต่ำกว่านั้นโอกาสรอดก็ยิ่งสูง
ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้สร้างประโยชน์มหาศาลให้กับประชาชนชาวเขาในพื้นที่ให้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ อีกทั้งยังสร้างประโยชน์ในการลดปริมาณการนำเข้าเนื้อปลาชนิดเดียวกันซึ่งประชาชนจำนวนมากทั่วประเทศนิยมรับประทาน
จากการศึกษาเบื้องต้นแล้วโอกาสที่ปลาชนิดนี้จะขยายพันธุ์ในแหล่งธรรมชาติของไทยไม่ว่าจะภาคไหน ๆ ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะระบบนิเวศของไทยไม่ได้มีความพร้อมใด ๆ ต่อทั้งพฤติกรรมในการผสมพันธุ์อีกทั้งไม่มีภูมิประเทศที่เหมาะสมใด ๆ ต่อการขยายพันธุ์เลย
การจะอ้าง IUCN ซึ่งน่าจะหมายถึงการรุกรานรุนแรงในระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับการแพร่พันธุ์ของปลาชนิดนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะนำมากล่าวได้ในแหล่งนิเวศที่แตกต่างกันขนาดนี้
แต่ในขณะเดียวกัน หากมีการที่ลูกปลาหลุดไปเติบโตอยู่ในแหล่งธรรมชาติ ไม่ว่าจะหลุดมาในจำนวนมากน้อยอย่างไร
ทางเจ้าหน้าที่ของโครงการก็สมควรต้องตระหนักและหามาตรการที่เข้มงวดขึ้นในการควบคุมดูแลให้โอกาสที่ปลาจะหลุดรอดออกไปได้นั้น มีน้อยที่สุดหรือไม่มีเลยให้ได้เช่นกันนะครับ
ผมก็คงต้องเรียนไปตามข้อเท็จจริงเช่นนี้นะครับ