พลิกฟื้น 'เศรษฐกิจไทย' เริ่มได้หรือยัง? ในจังหวะที่ยังมีศักยภาพพอให้ทำได้
ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยระบุว่า การปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง จะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และการลงทุนในประเทศไทย
นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ในฐานะที่ดูเศรษฐกิจต่างจังหวัดต้องบอกว่า ขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศแย่มาก ทุกคนต่างบ่นกันหมด ต่างจังหวัดเงียบมาก กรุงเทพก็เงียบ ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณอันตราย เนื่องจากภายในก็แย่ ขณะที่ผลกระทบจากต่างประเทศก็กดดันสูง โดยเฉพาะกับจีน
ที่สำคัญ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. แสดงจุดยืนชัดเจน คัดค้านการปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ หากยังยืนยันจะปรับขึ้นในวันที่ 1 ต.ค.นี้ จะได้เห็นสัญญาณอันตรายยิ่งกว่านี้ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการรายเล็ก หรือเอสเอ็มอี (SMEs) อาจได้เห็นการปิดตัวเพิ่มขึ้น
เสียงสะท้อน สัญญาณอันตราย กับ ภาวะเศรษฐกิจประเทศไทย ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับที่โฆษกรัฐบาล เคยออกมาชี้แจง สินค้าอุปโภคไม่แพง แหล่งท่องเที่ยวยังคึกคัก...ไม่แน่ใจว่า สำรวจพื้นที่ไหนบ้าง?
ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจของทุกประเทศสามารถเขียนเป็นสมการ ได้ว่า ‘GDP = C + I + G + NX’
I = Investment คือ การลงทุนของภาคเอกชน
G = Government Spending คือ งบประมาณรัฐบาล
NX = Net Export คือ การส่งออกสุทธิ
C – ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ มีรายได้ มีกำลังซื้อจำกัด แต่ใช้จ่ายกับสิ่งที่ไม่ควรใช้ ไม่อยู่ในระบบเศรษฐกิจเช่น หวยใต้ดิน ยาเสพติด บ่อนออนไลน์ สิ่งเหล่านี้ผิดกฎหมาย หากกระตุ้นให้ประชาชนสามารถใช้จ่ายกับการซื้อบ้าน ปลูกบ้าน ซื้อรถคันใหม่ ซื้อของกินของใช้มากขึ้น จับจ่ายใช้สอย กินข้าวนอกบ้าน ท่องเที่ยวในประเทศ หรือมีเงินลงทุนค้าขายซึ่งยิ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจมากขึ้น
แต่ปัจจุบัน อัตราการปฏิเสธสินเชื่อบ้าน พุ่งเกือบ 70% ยอดจำหน่ายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจรายย่อย โรงงาน ปิดกิจการเป็นจำนวนมาก
I - การลงทุน ต้องเข้าใจและฉกฉวยประโยชน์จากสถานการณ์การเมืองของโลกที่ขั้วอำนาจกำลังมีปัญหาระหว่างกัน ประเทศไทยมีแรงงานที่นักลงทุนจากต่างประเทศต้องการ ที่ค่าจ้างไม่แพงเกินไป มีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานด้านโลจิสติกส์ มีตลาดเงินตลาดทั้งสินค้าและทุน อาจขาดเพียงทักษะของแรงงานด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ยังมีจำนวนน้อย สิ่งเหล่านี้ ยังพอดึงดูดทุนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมที่เราต้องการ และมีประโยชน์ระยะยาวต่อประเทศชาติ
G - ใช้เงินงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ สร้างระบบชลประทาน สร้างไซโล/คลังเก็บผลผลิตทางการเกษตร สร้างอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมากกว่าสิบล้านคนได้ประโยชน์ ได้มีรายได้มากขึ้น หรือทุ่มงบประมาณให้กับการศึกษา สายวิทยาศาสตร์ สายวิศวกรรม สายอาชีพ ผลิตคนที่มีความรู้ ความสามารถที่เป็นที่ต้องการของธุรกิจอุตสาหกรรม
ที่สำคัญ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพราะความล่าช้าของงบประมาณแผ่นดิน เป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจ
NX - สนับสนุนการส่งออกสินค้าที่เราผลิตได้เองแล้วทั้งอุตสาหกรรมและเกษตร รวมถึงภาคบริการ(การท่องเที่ยว) ให้มีประสิทธิภาพ การระบายข้าวเปลือกจำนำสิบปี ไม่ควรประโคมข่าว จะทำลายชื่อเสียงความน่าเชื่อถือของข้าวไทย
ทั้งหมดนี้ในปัจจุบัน เหมือนจะเริ่มเป็นเรื่องยาก ที่ผ่านมาเกือบ 1 ปี ไม่มีวี่แววว่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ ศักยภาพทางเศรษฐกิจไทยย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ถึงเวลาหรือยัง ที่จะพุ่งเป้าไปผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต มีความมั่นคง ทั้งที่ประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอที่ทำได้ ... ถึงเวลาหรือยัง?
อ้างอิง: https://www.infoquest.co.th/2024/397113
https://www.thansettakij.com/business/economy/601910
เรื่อง: The PALM