'อ.อุ๋ย-ปชป.' ชี้!! เหตุลอบยิง 'ทรัมป์' สะท้อนการเมืองแบบสุดขั้วของสหรัฐฯ ต่างจากการเมืองไทย คนไทยขัดแย้งทางแค่ไหน ก็ไม่ถึงขั้นสูญเสียรุนแรง
(14 ก.ค.67) จากกรณีเหตุลอบสังหาร โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ และผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ ปี 2024 ขณะกำลังปราศรัยหาเสียงที่มลรัฐเพนซิลเวเนีย นั้น นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรือ 'อาจารย์อุ๋ย' นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...
ในสหรัฐอเมริกามีการลอบสังหารและพยายามลอบสังหารประธานาธิบดีและผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีนับสิบครั้ง หากนับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีอับบราฮัม ลินคอล์น ถูกยิงเข้าที่ท้ายทอยขณะชมละครในกรุงวอชิงตัน เมื่อ พ.ศ. 2408 โดยมือปืนเป็นนักแสดงชายที่เป็นผู้สนับสนุนสมาพันธรัฐฝ่ายใต้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อเมริกากำลังแตกแยกระหว่างสงครามกลางเมือง และที่น่าจะเป็นที่จดจำมากที่สุดก็คือการลอบสังหารประธานาธิบดี จอห์ เอฟ เคนเนดี เมื่อ พ.ศ. 2506 ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็น และมีการปะทะทางความคิดอย่างรุนแรงระหว่างขั้วการเมือง
สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงของระบอบเสรีประชาธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกา ที่พยายามจะทำตัวเป็น 'ต้นแบบ' ของโลกของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่จริง ๆ แล้วกลับนิยมใช้ความรุนแรงเป็นทางออก ยังไม่นับเรื่องรัฐธรรมนูญที่เปิดเสรีในการครอบครองอาวุธปืน ซึ่งบางรัฐซื้อปืนง่ายเหมือนซื้อขนมกลับบ้าน
นอกจากนี้การที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายของสหรัฐฯ มอบอำนาจ 'ล้นฟ้า' ให้กับประธานาธิบดีในการชี้เป็นชี้ตายประเทศ เพราะถือว่าได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนแล้ว แถมยังไปถึงขั้นที่อนุญาตให้ผู้ที่ต้องโทษคดีอาญาลงสมัครได้อีก เพราะถือว่าต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน รวมทั้งการเอาประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง (Impeachment) ก็ต้องใช้เวลาและขั้นตอนมากมาย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการลอบสังหารขึ้นบ่อยเมื่อความขัดแย้งทางการเมืองพุ่งถึงขีดสุด เพราะถือว่า 'ตายแล้วจบ' และยังส่งผลรุนแรงในเชิงสัญลักษณ์ไปทั่วทั้งโลก
ส่วนประเทศไทยนั้น มีสถาบันหลักคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชนคนไทยที่มีความสามัคคีกลมเกลียวกันเหมือนพี่น้อง มีวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม มีความโอบอ้อมอารีเป็นที่ตั้ง ทุกความขัดแย้งสามารถคลี่คลายด้วยคำว่า 'เป็นคนไทยด้วยกัน' ซึ่งจะเห็นได้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทย มีน้อยครั้งที่จะเกิดความสูญเสียรุนแรง หากเทียบกับในต่างประเทศ ทั้งในประเทศรอบข้างและประเทศตะวันตก
"สุดท้ายนี้ผมหวังว่า ประเทศไทยและคนไทย จะไม่เดินตามสหรัฐอเมริกาที่ใช้การปลุกปั่นแบ่งแยกทางความคิดแบบสุดขั้ว จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงเป็นทางออก ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม ด้วยความปรารถนาดี" อ.อุ๋ย ฝากทิ้งท้าย