'ประธานกกอ.' แจงเคส 'หมอเกศ' กฎหมายทำอะไรได้ลำบาก แต่หากขาดความน่าเชื่อถือ ต้องจี้ตรวจสอบ ก.พ.รับรองวุฒิ
(12 ก.ค. 67) จากกรณี พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สว.จากกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งที่ได้คะแนนสูงสุดในการเลือกระดับประเทศ เดินทางมารายงานตัว พร้อมชี้แจงกรณีวุฒิการศึกษาของตนเอง โดยยืนยันว่า วุฒิการศึกษาที่ได้มาทั้งหมดเป็นของจริง จบจริง ไม่มีการซื้อปริญญา มหาวิทยาลัยที่จบก็ไม่ใช่มหาวิทยาลัยห้องแถว
ก่อนหน้านี้ไม่ออกมาชี้แจงเพราะเกรงว่าจะผิดต่อระเบียบของ กกต. ซึ่งจริง ๆ โดนตรวจสอบวุฒิการศึกษาตั้งแต่ระดับอำเภอแล้ว และได้ชี้แจงเป็นเอกสารทั้งหมด ปริญญาที่ได้จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียยูนิเวอร์ซิตี้ และใบรับรองที่ได้จากกระทรวงศึกษาธิการ ของสหรัฐอเมริกา และตัวแคลิฟอร์เนียยูนิเวอร์ซิตี้ ก็เป็นมหาวิทยาลัยจริง ๆ ไม่ใช่ห้องแถว ไม่มีการซื้อปริญญานั้น
ล่าสุด วันที่ 12 ก.ค.67 นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า การจบปริญญาจากต่างประเทศแล้วใช้คำว่า ดร.นำหน้า ไม่ถือว่าเป็นตำแหน่งที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ ดังนั้น ใครได้ ดร.มาจากไหนแล้วจะใช้เป็นคำนำหน้าก็ถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล ขณะที่ตำแหน่งทางวิชาการ ทั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) รองศาสตราจารย์ (รศ.) และศาสตราจารย์ (ศ.) ต้องผ่านการพิจารณาจากสภามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะตำแหน่ง ศ. เป็นตำแหน่งที่ต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ
ประธาน กกอ.กล่าวต่อว่า กรณีกลุ่มที่จบปริญญาโท-เอก จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย จะต้องได้รับการรับรองวุฒิจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งทาง ก.พ.จะมีรายชื่อมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่ ก.พ.รับรองวุฒิฯ อยู่แล้ว หากไม่ได้รับรองก็ไม่สามารถทำงานในหน่วยงานราชการได้ แต่ยังสามารถไปทำงานในบริษัทเอกชนได้ ไม่มีปัญหา
ส่วนตำแหน่งทางวิชาการที่ได้รับการรับรองจากต่างประเทศนั้น หากจะนำมาใช้เพื่ออ้างอิงการทำงานในหน่วยงานราชการของไทย ต้องผ่านการเทียบจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ถ้า อว.รับรองตำแหน่งทางวิชาการก็สามารถนำไปใช้อ้างอิงเพื่อเข้าทำงานในหน่วยงานราชการได้
“แต่ถ้า อว.ไม่รับรองก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย กรณีนี้ไม่เหมือนกับกลุ่มแพทย์ที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ไม่สามารถแอบอ้างได้ แต่ตำแหน่งทางวิชาการไม่ถึงขั้นนั้น เพียงแต่ไม่สามารถใช้ในการเข้าทำงานในหน่วยงานราชการได้ ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งกรณีของหมอเกศ ทางกฎหมายคงเข้าไปดำเนินการอะไรได้ลำบาก แต่ถ้ามีการตรวจสอบในเชิงลึก ตัวผู้ถูกร้องเรียนเองขาดความน่าเชื่อถือ” นายประดิษฐ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีใช้ตำแหน่ง ศ.หรือ ดร. ในการดำรงตำแหน่ง สว. จะถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ นายประดิษฐ์กล่าวว่า ตรงนี้ต้องไปดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีวุฒิการศึกษาของ สว. หากมีการร้องเรียนไปที่ อว.ก็ต้องดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งก็ต้องไปดูว่า มหาวิทยาลัยที่ผู้ถูกกล่าวหาจบออกมาได้รับการรับรองวุฒิฯ จาก ก.พ.หรือไม่ ส่วน กกอ.จะเข้าไปดำเนินการอะไรได้หรือไม่นั้น ในการประชุม กกอ.นัดแรก วันที่ 18 กรกฎาคมนี้ ตนจะหารือที่ประชุมเพื่อดูว่าบทบาทของ กกอ.ที่มีอยู่สามารถดำเนินการอะไรในเรื่องนี้ได้บ้าง
ที่มา : Matichon