'อ.พงษ์ภาณุ' สวด!! 'แบงก์ชาติ' มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ขัด 'นโยบายการเงิน-การคลัง' บั่นทอนความเชื่อมั่นนักลงทุน

(7 ก.ค. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ กล่าวถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ว่า...

ดูเหมือนว่าช่วงนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะขยันออกข่าวเป็นพิเศษ และการออกข่าวแต่ละครั้งมีลักษณะขวางโลก ย้อนแย้งความรู้สึกของประชาชน และมุ่งสร้างความขัดแย้งกับนโยบายการคลังของรัฐบาล

มุมมองของ ธปท.ขวางโลก เพราะตั้งแต่เดือนที่แล้วธนาคารกลางทั่วโลกได้ประสานเสียงกันลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank-ECB) ธนาคารแห่งอังกฤษ (Bank of England) ธนาคารแห่งแคนาดา (Bank of Canada) ธนาคารแห่งชาติสวิส (Swiss National Bank) และแม้แต่ Federal Reserve ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่ลดแต่ก็มีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยนโยบายเร็วๆ นี้

ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางทั่วโลกในครั้งนี้ถือเป็นจุดหักเห (Turning Point) ที่สำคัญของนโยบายการเงิน นับจากวงจรการขึ้นดอกเบี้ยโลก ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา แต่ ธปท. มักจะอ้างเหตุผลของการไม่ลดดอกเบี้ยว่าดอกเบี้ยไทยอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น และประเทศไทยเริ่มขึ้นดอกเบี้ยรอบที่แล้วล่าช้ากว่าประเทศอื่น 

ทว่าความจริงแล้ว เป็นการหลอกลวงประชาชน เพราะเราต้องดูอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ซึ่งก็คืออัตราดอกเบี้ยหักด้วยอัตราเงินเฟ้อ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยถือได้ว่าสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง บ่งบอกว่านโยบายการเงินไทยมีความตึงตัวมากกว่าประเทศอื่น 

ฉะนั้น ประการแรก การที่ ธปท. เริ่มขึ้นดอกเบี้ยรอบที่แล้วช้ากว่าธนาคารกลางอื่น น่าจะมีจุดประสงค์ที่จะเอาใจฝ่ายการเมืองสมัยนั้นมากกว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพราะเงินเฟ้อของไทยในปี 2565 ขึ้นไปถึงกว่า 8% สูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง

ประการต่อมา มุมมองของ ธปท. ย้อนแย้งกับมุมมองทั่วไปของประชาชนและสำนักเศรษฐกิจแทบจะทุกสำนักที่เห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะคับขันและจำเป็นต้องมีการเยียวยาอย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นที่มาของการออกมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิเช่น การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของงบประมาณปี 2567 การตั้งงบประมาณปี 2568 ที่มีอัตราเติบโตของการใช้จ่ายสูงเป็นประวัติการ การผ่อนคลายการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของต่างชาติ การออกมาตรการกระตุ้นตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น คงจะมี ธปท.อยู่หน่วยงานเดียวที่มัวหลงระเริงอยู่กับความฝันลมๆ แล้งๆ ที่ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นแล้ว

ประการสุดท้าย การสร้างความขัดแย้งกับนโยบายการคลัง ซึ่ง ธปท. กำลังสร้างขึ้นมาผ่านสื่อต่าง ๆ โดยไม่จำเป็น เป็นต้นเหตุของการบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน การปรับกรอบเงินเฟ้อตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เป็นทางออกที่ดีที่จะช่วยประสานการทำงานของนโยบายการคลังและนโยบายการเงินให้ไปด้วยกันได้ราบรื่นขึ้น ขณะที่ยังรักษาความเป็นอิสระของการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบที่ปรับปรุงใหม่ได้เป็นอย่างดี แต่กลับได้รับการคัดค้านผ่านสื่อ ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่สมควรหารือเป็นการภายในระหว่างสองหน่วยงาน

ขณะนี้โลกกำลังมีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น อังกฤษได้ผู้นำรัฐบาลใหม่จากพรรคแรงงาน ซึ่งมีนโยบายกระตุ้นการเติบโต (Pro Growth) อย่างชัดเจน ธนาคารกลางชั้นนำทั่วโลกร่วมมือกันประสานนโยบายดอกเบี้ยขาลงอย่างเป็นระบบ รัฐบาลลาวมีมติปลดผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งลาวไปเมื่อเร็วๆ นี้ เพราะทำงานไม่ได้เรื่อง น่าเสียดายที่ไทยไม่สามารถเติบโตไปพร้อมๆ กับโลกจากสาเหตุที่มีธนาคารกลางที่มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ