'Forbes' เผย!! 50 อันดับ มหาเศรษฐีไทยปี 2567 ชี้!! ความมั่งคั่งรวมลดลง 12% เหตุการเมืองฉุด ศก.
(3 ก.ค. 67) นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) เปิดเผยผลการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทยประจำปี 2567 หรือ Thailand’s 50 Richest 2024 ว่า ปีนี้มหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของไทยมีการ ‘เปลี่ยนแชมป์’ จาก ‘พี่น้องเจียรวนนท์’ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ที่ครองอันดับ 1 มานานเกือบสิบปี ไปเป็น ‘เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว’ จากธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง Red Bull ด้วยทรัพย์สิน 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.32 ล้านล้านบาท)
ฟอร์บส์ระบุว่าหลังจากเข้ารับตำแหน่งได้ไม่ถึงปี อนาคตทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน อดีตนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ก็เริ่มไม่มั่นคง เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยที่ถูกการเมืองบั่นทอนความมั่นใจของนักลงทุน ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นตกลงถึง 15% นับตั้งแต่ปีที่แล้ว และยังถูกซ้ำเติมด้วยค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง จนฉุดความมั่งคั่งโดยรวมของมหาเศรษฐีเมืองไทยให้ลดลงถึงเกือบ 12% เหลือเพียง 1.53 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 5.6 ล้านล้านบาท) จากเดิม 1.73 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2566 มหาเศรษฐีไทยส่วนใหญ่ 39 คนจากการจัดอันดับปีนี้มีทรัพย์สินลดลง โดยมีเพียงแค่ ‘7 คน’ เท่านั้นที่ ‘รวยขึ้น’ สวนกระแสได้อย่างท้าทาย
ปีนี้ ‘เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว’ แซงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.32 ล้านล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2.6 พันล้านดอลลาร์ จากอานิสงส์รายได้ของธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง Red Bull ที่เติบโตกว่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2566 โดยสามารถขายได้ทะลุ 1.2 หมื่นล้านกระป๋องทั่วโลก
ขณะที่ ‘พี่น้องเจียรวนนท์’ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ที่ครองอันดับ 1 ติดต่อกันมานานเกือบสิบปี ถูกโค่นลงมาอยู่อันดับ2 ในปีนี้ โดยมีมูลค่าทรัพย์สิน 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.06 ล้านล้านบาท) หรือลดลงจากปีที่แล้ว 5 พันล้านดอลลาร์ โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาหุ้นที่ตกลงของบริษัท ‘ผิงอัน อินชัวรันซ์’ (Ping An Insurance) ในประเทศจีน ทำให้ขาดทุน 2.7 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว
สำหรับมหาเศรษฐีคนอื่น ๆ ใน 5 อันดับแรกของไทยยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในแง่ของอันดับ มีเพียงความมั่งคั่งเท่านั้นที่ปรับตัวลดลง ‘เจริญ สิริวัฒนภักดี’ แห่งบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด อยู่ในอันดับ 3 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 3.68 หมื่นล้านบาท) หรือลดลงจากปีก่อนถึงกว่า 1 ใน 4
ส่วนอันดับ 4 ที่ตามมาติด ๆ คือ ‘ครอบครัวจิราธิวัฒน์’ ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สิน 9.9 พันล้านดอลลาร์ (3.64 แสนล้านบาท) หรือลดลง 20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยกลุ่มเซ็นทรัลเพิ่งกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของห้างสรรพสินค้า Selfridges ในกรุงลอนดอน เมื่อเดือนพ.ย. 2567
ขณะที่ ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ อยู่ในอันดับ 5 โดยมหาเศรษฐีธุรกิจพลังงานและโทรคมนาคมรายนี้เคยสร้างความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ปรากฏชื่อในทำเนียบของฟอร์บส์เมื่อ 6 ปีก่อน แต่ล่าสุดในปีนี้ ถือเป็นปีแรกที่ความมั่งคั่งตกลงเหลือเพียง 9.2 พันล้านดอลลาร์ (ราว 3.38 แสนล้านบาท) ลดลงจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 1.13 หมื่นล้านดอลลาร์
สำหรับมหาเศรษฐีคนอื่นๆ ที่มีความมั่งคั่งลดลงมากในปีนี้ ได้แก่ ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ จาก Energy Absolute ซึ่งมีความมั่งคั่งลดลงถึง 2 ใน 3 ทำให้อันดับตกลงจากอันดับ 9 ในปีที่แล้ว มาอยู่อันดับ 32 ในปีนี้ ท่ามกลางราคาหุ้นที่ร่วงลงหนักเนื่องจากความกังวลเรื่องหนี้สินจากการขยายธุรกิจไปยังตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่
ขณะที่ ‘อาลก โลเฮีย’ แห่ง Indorama Ventures มีความมั่งคั่งลดลง 310 ล้านดอลลาร์ เหลือ 1.2 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ โดยเป็นผลจากความต้องการผลิตภัณฑ์ด้านปิโตรเคมีในจีนและยุโรปที่หดตัวลง
สำหรับ 10 อันดับมหาเศรษฐีไทย 2567 มีดังต่อไปนี้
1.เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว
- ทรัพย์สิน 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.32 ล้านล้านบาท)
เพิ่มขึ้น 2.6 พันล้านดอลลาร์
2.พี่น้องเจียรวนนท์
- ทรัพย์สิน 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.06 ล้านล้านบาท)
ลดลง 5 พันล้านดอลลาร์
3.เจริญ สิริวัฒนภักดี
- ทรัพย์สิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 3.68 หมื่นล้านบาท)
ลดลง 3.6 พันล้านดอลลาร์
4.ครอบครัวจิราธิวัฒน์
- ทรัพย์สิน 9.9 พันล้านดอลลาร์ (ราว 3.64 แสนล้านบาท)
ลดลง 2.5 พันล้านดอลลาร์
5.สารัชถ์ รัตนาวะดี
- ทรัพย์สิน 9.2 พันล้านดอลลาร์ (ราว 3.38 แสนล้านบาท)
ลดลง 2.1 พันล้านดอลลาร์
6.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ
- ทรัพย์สิน 3.8 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.39 แสนล้านบาท)
เท่ากับปีที่แล้ว
7.อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา และครอบครัว
- ทรัพย์สิน 3.6 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.32 แสนล้านบาท)
เพิ่มขึ้น 100 ล้านดอลลาร์
8.วานิช ไชยวรรณ
- ทรัพย์สิน 3.3 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.21 แสนล้านบาท)
ลดลง 600 ล้านดอลลาร์
9.ครอบครัวโอสถานุเคราะห์
- ทรัพย์สิน 2.2 พันล้านดอลลาร์ (ราว 8.10 หมื่นล้านบาท)
ลดลง 300 ล้านดอลลาร์
10.ประยุทธ มหากิจศิริ
- ทรัพย์สิน 2.15 พันล้านดอลลาร์ (ราว 7.91 หมื่นล้านบาท)
(ไม่มีข้อมูล)
หมายเหตุ: เทียบกับ 50 อันดับเศรษฐีไทยปี 2566