3 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ‘รถไฟฟ้าสายสีเหลือง’ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ถือเป็นรถไฟฟ้ายกระดับแบบรางเดี่ยว สายแรกของไทย

รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (ลาดพร้าว-ศรีนครินทร์-สำโรง) หรือ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ซึ่งเรียกตามสีที่กำหนดในแผนแม่บทโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนรองในพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก ตลอดจนถึงพื้นที่ส่วนเหนือของจังหวัดสมุทรปราการ ดำเนินการโดย บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด โดยได้รับสัญญาสัมปทานจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดำเนินการในรูปแบบรถไฟฟ้ายกระดับแบบรางเดี่ยว หรือ โมโนเรล เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2559 ก่อนหยุดการก่อสร้างไประยะหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 - พ.ศ. 2564 จนในที่สุดได้เปิดให้สาธารณชนทดลองใช้งานในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2566 และมีพิธีเปิดทดลองการเดินรถอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 มิถุนายน และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฎาคมปีเดียวกัน 

โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559 ในรูปแบบหุ้นส่วนมหาชน-เอกชน (Public Private Partnership: PPP) โดยให้รัฐบาล โดย รฟม. เป็นผู้ลงทุนจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน และการเวนคืนที่ดินเพื่อใช้ในโครงการ และเอกชนเป็นผู้ลงทุนในงานโยธา ระบบรถไฟฟ้า ตลอดจนดำเนินระบบรถไฟฟ้าและกิจการจนครบสัญญา

ทั้งนี้ นาม ‘นัคราพิพัฒน์’ เป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานเพื่อเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีความหมายว่า ‘ความเจริญแห่งเมือง’ โดยกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับมอบนามเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เส้นทางสายนี้เกิดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2543 โดยเป็นการรวมเส้นทางระบบขนส่งมวลชนรองช่วงรัชโยธิน-ศรีเอี่ยม และสำโรง-ศรีสำโรง ให้เป็นเส้นทางเดียวกัน แต่ได้ถูกนำออกไปเมื่อครั้งปรับปรุงแผนแม่บทปี พ.ศ. 2547 และนำกลับมาอีกครั้งในการปรับปรุงแผนแม่บท พ.ศ. 2549 โดยพิจารณาแยกเส้นทางออกเป็นสองช่วง คือช่วงแรกให้เป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยวตั้งแต่ รัชดา-ลาดพร้าว จนถึงพัฒนาการแล้วเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้ารางหนักไปจนถึงสถานีสำโรง และใน พ.ศ. 2551 ได้มีการปรับปรุงเส้นทางสายสีเหลืองให้เป็นรถไฟฟ้าวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ก่อนปรับปรุงใหม่อีกครั้งใน พ.ศ. 2553 โดยลดเส้นทางเหลือเพียงช่วง ลาดพร้าว–สำโรง และให้ดำเนินการเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวทั้งสาย


ที่มา : Wikipedia /