ปรับตำแหน่งสถานีราชวิถี Missing Link ย้ายจุดเพื่อเชื่อมต่อเข้า รพ.รามา โดยตรง!!

เมื่อวานนี้ (6 มิ.ย.67) เพจ 'โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure' ได้โพสต์ข้อความถึงความคืบหน้า โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางช่วงบางซื่อ-มักกะสัน และบางซื่อ-หัวลำโพง ในส่วนของสถานีราชวิถี ที่จะมีการปรับตำแหน่งมาเป็นสถานีโรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า...

บอร์ดรถไฟ ตีกลับ #MissingLink ปรับตำแหน่งสถานีราชวิถี ทำไม? ย้ายตำแหน่งสถานีข้ามฝั่งแยก เพื่อความสะดวกของผู้โดยสาร พร้อมเชื่อมต่อเข้า รพ.รามา โดยตรง!!

จากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวที่ การรถไฟฯ ได้เอาโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วง Missing Link บางซื่อ-หัวลำโพง-หัวหมาก เข้าที่ประชุมบอร์ด การรถไฟฯ เพื่อขออนุมัติ แต่ถูกสั่งให้กลับไปปรับแก้ตำแหน่งสถานีราชวิถี ให้เลื่อนมาทางใต้ของแยกราชวิถี เพื่อตรงกับโรงพยาบาลรามาฯ เพื่อความสะดวกของผู้โดยสารและผู้ป่วยที่เดินทางมาโรงพยาบาลฯ 

ตามลิงก์นี้ 
https://www.thansettakij.com/business/economy/597004

ซึ่งจริงๆ เรื่องการเลื่อนตำแหน่งสถานีราชวิถีนี้ ได้เคยมีการศึกษาและออกแบบ และนำเสนอแผนในการประชุมของกระทรวงคมนาคม ตั้งแต่กลางปี 2565 ซึ่งอาจจะเป็นกระบวนการ เพื่อให้บอร์ดรับทราบและตีกลับให้มาแก้ตามแผนที่ทำการศึกษาปรับตำแหน่งไป

>> รายละเอียดการย้ายตำแหน่ง สถานีราชวิถี

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ตำแหน่งสถานีราชวิถี เดิมตามการศึกษาสายสีแดง อยู่บริเวณ ด้านเหนือของแยก อุภัยเจษฎุทิศ ซึ่งจะติดกับกระทรวงพัฒนาสังคม 

แต่ในแผนการล่าสุด จะย้ายลงมาทางใต้ของแยก อุภัยเจษฎุทิศ ซึ่งจะเป็นบริเวณเดียวกับ ที่หยุดรถรพ.รามา ในปัจจุบัน

แต่ในตำแหน่งนี้มีข้อจำกัดที่ทับซ้อน กับสถานีรถไฟหลวงจิตรลดา และ ติดกับวังจิตรลดา ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมในด้านมุมมอง และความสูงของอาคารสถานี จึงทำให้ต้องมีการปรับปรุงรูปแบบสถานี และทางขึ้น-ลง ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนด

ซึ่งตามมติของ บอร์ดรถไฟ จะมีการเปลี่ยน เป็น สถานีโรงพยาบาลรามาธิบดี 

>> รูปแบบ สถานีโรงพยาบาลรามาธิบดี

จากแบบเดิม จะมีทางขึ้น-ลง 4 ด้าน แต่ตามข้อจำกัดของตำแหน่งใหม่ ทำการลดทางขึ้น-ลง ฝั่งถนนสวรรคโลก ติดกับวังจิตรลดา ออก ให้มาขึ้น-ลงฝั่ง ถนนกำแพงเพชร 5 เป็นหลัก 

พร้อมกับเชื่อมต่อกับอาคารศูนย์เชื่อมต่อใหม่ ของ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งจะติดกับสถานี และทำ Skywalk เชื่อมไปบนถนนราชวิถี ไปยัง Skywalk บนถนนพระราม 6 

พร้อมกับการแก้ไขรูปแบบสถานีให้มีผนังบังสายตา ฝั่งที่ติดวังจิตรลดา และสะพานเชื่อมโรงพยาบาลรามาธิบดี มีการทำผนังกั้น เพื่อเป็นไปตามข้อกำหนด ของสำนักพระราชวัง

ซึ่งจากการปรับแบบต่างๆ จะต้องมีการเพิ่มงบประมาณ อีก 400 ล้านบาท พร้อมกับมีการปรับแก้แบบให้สอดคล้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน ซึ่งจะเป็นคนที่ก่อสร้างทางวิ่งใต้ดินเนื่องจากใช้โครงสร้างร่วมกัน

หวังว่าการปรับแบบสถานีเสร็จจะไม่ติดขัดอะไรและเริ่มเดินหน้าโครงการได้เร็วๆ นี้ 'ซักที' ครับ!!!