ได้เวลา 'รัฐบาล' ปรับกรอบเงินเฟ้อ เปิดทางลดดอกเบี้ย ช่วยถ่วงดุลนโยบายการเงินที่พลาดเป้าอย่างเหมาะสม

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในประเด็น 'การปรับกรอบเงินเฟ้อ เปิดทางลดดอกเบี้ย' โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ครม.เศรษฐกิจของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เป็นนิมิตหมายที่ดีและแสดงออกถึงความเป็นเอกภาพของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่นักลงทุนจับตามอง การที่เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เพียง 1.5% แม้ว่าทางเทคนิคจะยังไม่ถือว่าเป็นภาวะถดถอย แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนภัยว่าความไม่เป็นเอกภาพของนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน กำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างรุนแรง

หลายสำนักเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตได้เพียงประมาณ 2.5-3.0% แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งกำลังทยอยออกมา อาจทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ถึง 3.5% ตามที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งเป้าไว้ มาตรการช่วยให้ธุรกิจรายย่อย และ SME เข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงิน มีความจำเป็นเพราะสินเชื่อโดยรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีแนวโน้มหดตัวมาโดยตลอด แม้ว่าสภาพคล่องของธนาคารจะยังคงสูง แต่ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อเพราะนโยบายการเงินมีความตึงตัวเกินกว่าเหตุ 

ต้องขอชมเชยการเสนอให้ใช้มาตรการกึ่งการคลัง (Quasi-fiscal) ในการค้ำประกันสินเชื่อให้กับธุรกิจรายย่อยผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) แต่จะต้องทำอย่างกว้างขวางและรับความเสี่ยงด้านเครดิตแทนธนาคารพาณิชย์ ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นภาระทางการคลังและผู้เสียภาษีในที่สุด 

นอกจากนี้ เนื่องจากงบประมาณแผ่นดินปี 2567 ออกมาช้า เหลือเวลาอีกเพียง 2 ไตรมาสก็จะสิ้นปีงบประมาณแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจจะต้องเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณอย่างเร็วที่สุด โดยเฉพาะงบลงทุน ซึ่งมีการเบิกจ่ายติดลบใน 2 ไตรมาสแรก กระทรวงการคลังคงจะต้องตามจี้ทุกหน่วยงานให้เร่งเบิกจ่ายตามเป้าหมาย

น่าเสียดายที่มาตรการดิจิทัลวอลเล็ตไม่สามารถออกมาได้รวดเร็วตามกำหนดเวลา มิเช่นนั้นคงจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี แต่ขณะนี้ก็เริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับกำหนดเวลาและแหล่งเงิน ส่วนการท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพียงตัวเดียว ก็ยังมีช่องทางเติบโตแต่น่าจะมีอัตราที่ช้าลง

ภาระตกอยู่กับนโยบายการคลังค่อนข้างมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นภาระของผู้เสียภาษีอากร สังคมคงไม่ปล่อยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนั่งกระดิกเท้าเป็น Free Rider อยู่เฉย ๆ และไม่ใส่ใจที่จะใช้นโยบายการเงินเข้ามาร่วมทำงานกับรัฐบาล

หลังการประชุม ครม.เศรษฐกิจ มีการกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะปรับกรอบเงินเฟ้อ (Inflation Targets) ซึ่งจะช่วยปลดล็อกการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อคำนึงว่า ธปท.พลาดเป้าเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ระหว่าง 1-3% ติดต่อกัน 2 ปีและทำท่าว่าจะพลาดอีกในปีนี้ 

นี่จึงเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่รัฐบาลจะต้องทบทวนกรอบเงินเฟ้อเสียที ที่ผ่านมากระทรวงการคลังอาจจะใจดีหรืออาจจะตาม ธปท. ไม่ทัน แต่การพลาดเป้าเงินเฟ้อแบบหมดท่า น่าจะถือเป็นการผิดสัญญาประชาคม และธนาคารแห่งประเทศไทยสมควรต้องรับผิดชอบ การที่รัฐบาลทบทวนกรอบเงินเฟ้อจึงเป็นการถ่วงดุลนโยบายการเงินที่พลาดเป้าอย่างเหมาะสมและไม่ถือเป็นการแทรกแซงนโยบายการเงินแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ดีการทบทวนกรอบเงินเฟ้อดังกล่าว พึงต้องกระทำอย่างระมัดระวัง และแสดงหลักการและเหตุผลอย่างชัดเจนโปร่งใส เพื่อรักษาไว้ซึ่งความเชื่อมั่นในนโยบายการเงินและความสามารถในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในระยะยาว