'ผอ.แอมเนสตี้' ชวนก๊วนยืนไว้อาลัย ‘บุ้ง’ 1 นาที ลั่น!! พวกคอมเมนต์เย้ย 'รุนแรง-ลดทอน' ศักดิ์ศรีมนุษย์
(16 พ.ค.67) ที่ โรงแรมสยาม@สยาม เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวรายงาน ‘BEING OURSELVES IS TOO DANGEROUS: อันตรายเกินกว่าจะเป็นตัวเอง’ สะท้อนสถานการณ์การถูกคุกคามของผู้หญิงและกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ต่างตกเป็นเป้าหมายของการสอดส่องด้วยเครื่องมือต่าง ๆ
เวลา 9.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศของงานเต็มไปด้วย นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม และนักขับเคลื่อนประเด็นทางเพศเดินทาง เดินทางมาร่วมงานและเข้าร่วมการเสวนาผ่านระบบการประชุมออนไลน์อย่างคึกคัก อาทิ ไอรีน ข่าน ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก, เช็ชฐา ดาส นักวิจัยและที่ปรึกษาด้านเพศวิถีศึกษาความยุติธรรมทางเพศ ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น, เอลิน่า คาสติโย นักวิจัยและที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีกับมนุษยชน และชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
พร้อมด้วย ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นาดา ไชยจิตต์ อาจารย์สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, อังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และสมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจสหประชาชาติ และ สิรภพ อัตโตหิ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น
เวลา 9.15 น. เปิดคลิปวิดีโอ ‘อันตรายเกินกว่าเป็นตัวเอง’ สะท้อนสถานการณ์การคุกคามและละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่อนักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศบนสื่อออนไลน์ ผ่านการสปายแวร์เจาะข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียที่มุ่งโจมตีความเป็นส่วนตัวระดับสูง เพื่อบีบให้ยุติบทบาทการเคลื่อนไหว
ต่อมา 9.25 น. นางปิยนุช โครตสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ ประเทศไทย กล่าวเปิดงานว่า จากเหตุการณ์ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ ‘บุ้ง’ ที่อดอาหารประท้วงกว่า 110 วัน ที่ถูกจำคุกตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2667 โดยทางการปฏิเสธที่จะให้การประกันตัวต่อบุ้งรวมทั้งนักกิจกรรมอื่น
“ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมของไทย แสดงให้เห็นถึงการที่คน ๆหนึ่ง ออกมาเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานและการแสดงออก ในความเห็นของเขาไม่ว่าจะความเห็นอะไรก็ตาม สุดท้ายต้องลงเอยด้วยความตาย แทนที่จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงดิฉันขอเชิญทุกท่านที่ร่วมงานวันนี้ร่วมแสดงความเสียใจและรำลึกถึง บุ้ง เนติพร ด้วยการยืนสงบนิ่ง 1 นาที” นางปิยนุชเผย
จากนั้น ได้เชิญผู้เข้าร่วมงานแสดงความไว้อาลัยต่อ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง นักกิจกรรมทางการเมืองที่ประท้วงด้วยการอาหารจนเสียชีวิต ด้วยการยืนไว้อาลัยเป็นเวลา 1 นาที
ต่อมา นางปิยนุชกล่าวต่อไปว่า วันที่มีการรายงานข่าวการเสียชีวิตของบุ้ง กลับมีการแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์หลายรูปแบบ ซึ่งเป็นลักษณะของการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แม้มีการแสดงความเสียใจจากคนกลุ่มหนึ่ง แต่คนอีกกลุ่มพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเย้ยหยัน อันนี้ก็ถือว่าเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโลกดิจิทัลด้วย
“อยากจะให้การเสียชีวิตของเธอเป็นสัญญาณเตือนถึงทางการไทยและพวกเราทุกคน ในการเคารพสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออก แล้วก็สิทธิการได้รับการประกันตัว การรักษาความยุติธรรม และการตระหนักเรื่องสิทธิเสรีภาพที่กำลังเกิดขึ้น” นางปิยนุชระบุ
นางปิยนุชกล่าวว่า วันนี้เราเปิดรายงาน “อันตรายเกินกว่าที่จะเป็นตัวเอง บนโลกออนไลน์และเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มุ่งปิดปากนักกิจกรรมผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจัดขึ้นโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ ‘Protect the protest’ ซึ่งเป็นแคมเปญในระดับสากล ที่เรารณรงค์กันมาในระดับสากล
“เราต้องการที่จะนำเสนอเรื่องราว เพื่อปกป้องเรื่องสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และส่งเสริมความเคลื่อนไหวท่ามกลางที่ถูกบีบตัว โดยเฉพาะในภาคของประชาสังคม ตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะแสดงตัวเป็นผู้นำในการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ
แต่ความจริงที่ปรากฏในรายงานพบว่า นักกิจกรรมหญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศถูกคุกคามต่าง ๆ นานา ทั้งความรุนแรงผ่านภาษา หรือประเด็นทางเพศ ซึ่งไม่ว่าคุณจะเป็นใครเป็นคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ ผู้หญิง คุณเป็นตัวของตัวเองไม่ได้เลย มันเป็นความล้มเหลวของการปกป้องและคุ้มครองจากภาครัฐต่อคนกลุ่มนี้” นางปิยนุชกล่าว
นางปิยนุชกล่าวต่อว่า เราหวังว่ารายงานนี้จะช่วยให้ทุกคนเห็นถึงเนื้อหา ข้อเสนอแนะถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักกิจกรรมผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศถูกสอดส่องโดยไม่ชอบ ถูกสอดส่องโดยด้วยสปายแวร์ หรือคุกคามบนโลกออนไลน์ เหมือนกันเดินบนกับดักระเบิด ที่เดินไปทางไหนก็โดนทั้งนั้น เราอยากจะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของรัฐ ควรจะเป็นผู้กระทำหรือผู้ปกป้องพวกเขากันแน่
“เราอยากให้เรื่องราวของนักปกป้องสิทธิเหล่านี้เป็นที่รับรู้ของสังคม และรัฐก็ได้ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครอง และส่งเสริมพวกเขา ให้เขาได้ใช้สิทธิกันอย่างเต็มที่ และเราอยากสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมว่า เกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้น อยากให้เคารพการแสดงออกและการประท้วง ให้พื้นที่ของพวกเขาโดยที่ไม่ทำให้รู้สึกหวาดกลัว
สุดท้ายที่สำคัญ คือ เราต้องการที่จะยืนหยัดเคียงข้าง ปกป้องสิทธิ เคียงข้างผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อที่จะได้สื่อสารเรื่องราวของตัวเอง ด้วยความเป็นตัวเองอย่างแท้จริง ไม่ต้องหวาดกลัวการโจมตี หรือ โดนทำร้ายอีกต่อไป” นางปิยนุชทิ้งท้าย