‘ดร.เอ้’ มอง ‘สิงคโปร์’ ใต้การนำของนายกฯ เจนสี่ ‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’ ‘สร้างคน-ชาติ-สังคม’ ใต้ข้อจำกัด เชื่อ!! ไทยก็ทำได้ อยู่ที่ ‘ผู้นำ’

(16 พ.ค. 67) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ‘ดร.เอ้’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 'เอ้ สุชัชวีร์' ในหัวข้อ 'ผู้นำไทย ควรเรียนรู้จากสิงคโปร์' ระบุว่า...

การสร้างคน สร้างชาติ สร้างสังคม ภายใต้ข้อจำกัด อย่างมหัศจรรย์ #เราทำได้

'ลอว์เรนซ์ หว่อง' ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเจนสี่ ของสิงคโปร์ ประกาศต่อยอด 'คัมภีร์สร้างชาติ' จากผู้นำ 3 รุ่นที่ผ่านมา โดยเฉพาะจาก 'รัฐบุรุษลี กวนยู'

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ทุกรุ่น เน้นการ 'สร้างคน' สำคัญที่สุดเสมอ โดย 'ลอว์เรนซ์ หว่อง' จะทำอะไรต่อจากนี้ น่าเรียนรู้ยิ่ง...

1. 'แสวงหาคนเก่ง' จากทั่วโลก
ลีกวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ ได้นักเศรษฐศาสตร์ชาวเนเธอร์แลนด์ ช่วยวางรากฐานทางเศรษฐกิจ ได้นักการทหารอิสราเอล ช่วงวางรากฐานกองทัพ ขณะเริ่มสร้างประเทศสิงคโปร์

'คนเก่ง' มาจากชาติไหนไม่สำคัญ ขอให้มาอยู่ มาช่วยพัฒนาสิงคโปร์ ชาติก็เจริญ

อีกทั้ง จำนวนประชากรสิงคโปร์ เติบโตไม่ทัน 

ลอว์เรนซ์ หว่อง จึงมุ่งให้ทุนการศึกษาเด็กมัธยมต้น จากชาติอาเซียน โดยเฉพาะ 'เด็กไทยชั้นยอด' ให้ไปเรียนมัธยมปลาย มหาวิทยาลัย จบออกมาทำงานในสิงคโปร์ และให้สิทธิ์เป็นพลเมือง พร้อมพ่อแม่ 

แม้ประเทศไทย อาจน่าอยู่ แต่คุณภาพการศึกษา สิ่งแวดล้อม และโอกาสได้งานที่ท้าทาย อาจไม่โดนใจคนรุ่นใหม่ เท่ากับสิงคโปร์ เราจึงสูญเสียยอดเด็กไทยไปอยู่สิงคโปร์เพิ่มขึ้นทุกปี

2. 'เน้นปัจจัยสี่' สำคัญที่สุด
อาหาร เครื่องนุ่งห่ม บ้าน และยารักษาโรค คือ ปัจจัยสี่ คือ พื้นฐานของชีวิต แต่ความท้าทาย คือ แม้พลเมืองจะมีรายได้สูง แต่อาหารและค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวัน รัฐบาลสิงคโปร์จะลดค่าครองชีพได้อย่างไร 

คนรุ่นใหม่ก็ไม่มีกำลังซื้อบ้าน เพราะที่ดินมีจำกัด ทำให้บ้านราคาสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก 

ลอว์เรนซ์ หว่อง เกิดในบ้านการเคหะ ที่ริเริ่มโดย ลี กวนยู เมื่อ 50 ปีก่อน ผมเคยไปเยี่ยมเมื่อครั้งเป็นประธานการเคหะแห่งชาติ หลายปีก่อน บ้านการเคหะสิงคโปร์แม้ห้องขนาดเล็ก แต่น่าอยู่ สิ่งแวดล้อมดี แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ และบ้านการเคหะสิงคโปร์ก็ไม่ได้ราคาถูกในวันนี้

ลอว์เรนซ์ หว่อง สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ มีบ้านของตนเอง ไม่เป็นหนี้เยอะ โดยให้แต้มต่อ คนเพิ่งเริ่มต้นทำงาน ได้ผ่อนบ้านในราคาพิเศษ ที่รัฐช่วยอุดหนุน

ด้านสาธารณสุข สิงคโปร์ประกาศเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีการแพทย์ และยารักษาโรค พึ่งพาตนเองและส่งออกได้ เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพ และลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้ามหาศาล

เมื่อคนรุ่นใหม่มีบ้านของตนเอง ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ไม่ก่อหนี้เกินตัว ย่อมมีพลังในการทำงาน สร้างเศรษฐกิจเข้มแข็ง

3. 'สิ่งแวดล้อมดี คุณภาพชีวิตดี' คือ ลมหายใจของเมือง
สิงคโปร์ มีโรงงาน มีท่าเรือ มีโรงเผาขยะ แต่แทบไม่มี PM 2.5 จากภายในประเทศ และพื้นที่สีเขียว 66 ตารางเมตรต่อคน มากกว่ากทม. 10 เท่า! 

ลอว์เรนซ์ หว่อง ประกาศว่า คุณภาพชีวิตของคนสิงคโปร์ ตื่นนอนสดชื่น เดินมาขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า ไม่เกิน 5 นาที กลับบ้านตรงเวลา รถไม่ติด 'น้ำไม่ท่วม' มีเวลากับลูกและครอบครัว ความปลอดภัยต้อง 100% 

เพราะถึงแม้มีเงิน แต่หากสิ่งแวดล้อมไม่ดี คุณภาพชีวิตก็ไม่ดี สิ่งแวดล้อมดีจึงทำให้สิงคโปร์เป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าทำงาน

4. 'สร้างสังคมนวัตกรรม' คือ ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ
ลอว์เรนซ์ หว่อง จะต่อยอดนโยบาย ตามอดีตนายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ในการเปลี่ยนเศรษฐกิจของสิงคโปร์ จากเมืองท่าสู่บริการการเงิน จากบริการการเงินสู่การส่งออกเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมุ่งสร้างคนจำนวนมาก ด้าน AI คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีการแพทย์ และพลังงานทดแทน อย่างจริงจัง

เพราะเศรษฐกิจในอนาคต จะรุ่งเรืองได้ ต้องมาจาก 'เศรษฐกิจนวัตกรรม' ที่อาศัยพลังสมองชั้นยอดของพลเมือง สิงคโปร์จึงต้องเน้นเรื่องการสร้างคน

แม่ของ ลอว์เรนซ์ หว่อง เป็นครูประถม ผู้ทุ่มเทกับการเรียนของลูก จนลูกได้เรียนปริญญาตรีและปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐ ก่อนกลับมาทำงานการเมือง เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา เป็นนายกรัฐมนตรี

จึงมั่นใจการขับเคลื่อน เรื่องการศึกษา ในยุคนายกฯ ลอว์เรนซ์ หว่อง น่าจะก้าวกระโดดเช่นกัน

เมื่อเรียนรู้จากสิงคโปร์แล้ว นายกรัฐมนตรีประเทศไทย ควรเร่งทำ 4 เรื่องนี้เช่นกัน ต้องไม่ทำงาน 'ฉาบฉวย' แม้แต่เรื่องเฉพาะหน้า ยังแก้ปัญหาไม่เบ็ดเสร็จ

'การศึกษาไทย' ยังวังเวง แทบไม่มีการพัฒนา เพราะนายกฯ ไม่ใส่ใจ 'โรงงานสารเคมี' ถูกปล่อยไว้ ไฟไหม้ซ้ำซาก ทำลายสิ่งแวดล้อม 'บ่อนเสรี' มีเมื่อไม่พร้อม จะกำลังจะมาทำลายอนาคตลูกหลาน 'ยาเสพติด' เต็มเมือง เปิดร้านขายกัญชาได้ที่หน้าโรงเรียน 

อนาคตไทย อยู่ที่ 'ผู้นำ' จะทำเพื่อชาติ หรือ ทำเพื่อตนเองและพวกพ้อง

ด้วยความห่วงใย และรักชาติยิ่ง