11 พฤษภาคม พ.ศ. 2354 ถือกำเนิด ‘อิน-จัน’ แฝดสยามคู่แรกของไทย ที่สามารถดำรงชีพเหมือนคนธรรมดาได้ตลอดชีวิต

รู้หรือไม่ ทุกวันที่ 11 พฤษภาคม เป็นวันเกิดของ ‘อิน-จัน’ แฝดสยามคู่แรกของไทยที่มีหน้าอกติดกันและใช้ตับร่วมกันใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป โดย ‘อิน-จัน’ เป็นชื่อของฝาแฝดสยามที่มีชื่อเสียงทั่วโลก โดยคำว่า ‘แฝดสยาม’ เนื่องจากเกิดที่ประเทศไทย โดยในสมัยนั้นยังใช้ว่าประเทศสยาม ซึ่งเป็นฝาแฝดที่มีหน้าอกติดกันและใช้ตับร่วมกัน เป็นฝาแฝดคู่แรกของโลกที่สามารถดำรงชีพเหมือนคนธรรมดาได้ตลอดชีวิต

ทั้งนี้ อิน-จัน เกิดวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2354 ซึ่งอยู่ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โดยเกิดในครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีน ที่จังหวัดสมุทรสงคราม บิดาเป็นชาวจีนอพยพมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มารดาเป็นคนไทย ซึ่งฝาแฝดอิน-จัน สามารถเติบโตและใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ แตกต่างไปจากแฝดติดกันคู่อื่น ๆ ที่มักเสียชีวิตหลังคลอดได้ไม่นาน ซึ่งตามกฎหมายในเวลานั้น ทั้งคู่ต้องถูกประหารชีวิตเนื่องจากความเชื่อที่ว่าเป็นตัวกาลกิณี แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่ได้มีเหตุการณ์ใด ๆ ตามความเชื่อ โทษนั้นจึงได้รับการยกเลิก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2367 ความพิเศษของ อิน-จัน ทราบไปถึงพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นางนาก และ อิน-จัน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และได้มีพระบรมราชานุญาตให้ อิน-จัน ได้เดินทางร่วมไปกับคณะทูตเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศเวียดนาม

จากนั้น ในปี พ.ศ. 2367 นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ พ่อค้าชาวอังกฤษ หรือที่คนไทยสมัยนั้นเรียกว่า ‘นายหันแตร’ ได้นั่งเรือผ่านแม่น้ำแม่กลอง และได้พบแฝดคู่นี้กำลังว่ายน้ำเล่นอยู่ ด้วยความประหลาดและน่าสนใจ นายฮันเตอร์จึงคิดที่จะนำฝาแฝดคู่นี้ไปแสดงโชว์ตัวที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงเข้าทำความสนิทสนมกับครอบครัวของฝาแฝดอยู่นานนับปี จนพ่อแม่ของทั้งคู่ไว้วางใจ จนกระทั่งในที่สุดนายอาเบล คอฟฟิน กัปตันเรือสินค้าซึ่งขณะนั้นได้เข้ามาทำการค้าในประเทศไทยก็ได้นำตัว อิน-จัน เดินทางจากประเทศไทยไปยังเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในขณะนั้น อิน-จัน มีอายุได้ 18 ปี