‘ดร.เอ้’ ฟาด!! ‘กทม.’ เหตุปัดความรับผิดชอบ กรณีชายตกท่อดับ ชี้!! โยนกันไปมา ไร้เจ้าภาพ แนะ!! ควรมี กม.เพื่อความปลอดภัย

(4 พ.ค.67) ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม.ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อถึงเหตุการณ์ชายตกท่อ ลาดพร้าว 49 เมื่อวานนี้ (3 พ.ค.67) ถึงการ ‘ปัดความรับผิดชอบของกทม.’ เพราะเป็นเจ้าของพื้นที่ และชี้หน่วยงานโยนไปมา หาเจ้าภาพไม่เจอ บอกถึงเวลาแล้ว ไทยต้องเป็นสังคมปลอดภัย พร้อมชวนประชาชนลงชื่อ เสนอกฎหมาย ‘จัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ’

ส่วนตัวรับไม่ได้ กรณีชายอายุ 59 ปี พลัดตกท่อย่านลาดพร้าว 49 เพราะ ยังมีคนเสียชีวิตจากการตกท่ออีก แต่สิ่งที่ทุกคนเห็น แต่ละหน่วยงานโยนกันไปมา ทั้ง กทม. กฟน. บีทีเอส สายสีเหลือง สุดท้ายแล้วคนตาย ‘หาเจ้าภาพไม่เจอ’ และเกิดเหตุซ้ำซาก จึงเป็นที่มาถึงเวลาของประเทศไทยต้องเป็นสังคมปลอดภัย ตนได้รณรงค์ให้ประชาชนมาลงชื่อให้เกิน 10,000 คนขึ้นไป เพื่อเสนอกฎหมายจัดตั้ง ‘องค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ’ อย่างน้อยจะหาคนกลางหรือเจ้าภาพได้เมื่อเกิดเหตุขึ้น สามารถร้องเรียนที่คณะกรรมการ หรือองค์กรนี้ได้ทันที ซึ่งอาจขึ้นตรงกับผู้นำประเทศ และองค์กรอิสระนี้สามารถติดตามความเสี่ยง พร้อมเผยแพร่ข้อมูล ประชาสัมพันธ์ และทำให้หน่วยงานหลักที่เป็นเจ้าของ เข้าไปแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด หรือเกิดการสูญเสียถึงแก่ชีวิตหรือสูญเสียทรัพย์สิน ก็ยังมีการถอดบทเรียน ไม่ใช่ ‘วัวหายล้อมคอก’ คนตายไปสุดท้ายไม่ได้ทำอะไร และตายฟรี ดังนั้น ขอเชิญชวนประชาชนมาลงชื่อได้ที่ suchatvee.com ให้เกิน 10,000 ชื่อ ซึ่งเรากำลังร่างกฎหมายเสนอสภา เพื่อให้เหมือนกับในต่างประเทศ เพราะมีหน่วยงานกลาง ดูแลความเสี่ยง ถอดบทเรียนหาผู้รับผิดชอบ เอาผิด จะได้เข็ด รวมทั้งเยียวยาผู้สูญเสียที่เป็นธรรม

ขณะเดียวกัน กรณีหากเกิดเหตุ ผู้รับเหมาต้องรับผิดชอบหรือไม่นั้น ดร.เอ้ กล่าวว่า เป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพราะผู้รับเหมาต้องทำงานและได้เงินเร็วที่สุด แต่หลายครั้งการทำแบบนี้ ก็ได้มาซึ่งความสูญเสีย มาตรฐานที่ไร้คุณภาพ เช่น เจ้าของงานจ้างผู้รับเหมามาสร้างบ้าน ก็ต้องจ้างคนคุมงานมาดูแลด้วย ดังนั้น จากกรณีนี้ เจ้าของพื้นที่ คือ กทม. จะโยนไปที่ กฟน. ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะพื้นที่เกาะกลางถนน ฟุตบาท เป็นของ กทม. ใครจะทำอะไรต้องมาขอ กทม. และระหว่างทำ กทม. มีหน้าที่ในการดูแล ส่วนการส่งมอบ กทม. ก็ต้องมีส่วนร่วมในฐานะเจ้าของบ้าน จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ แต่ในอดีตหน่วยงานโยนกันไปมา และ จบที่การ ‘กล่าวแสดงความเสียใจ’ ปัดออกจากตัวหมด

จากนั้น พอไปถึงหน่วยงานซึ่งดูเหมือนจะเป็นเจ้าของ หน่วยงานนั้นก็โยนให้ผู้รับเหมา และผู้รับเหมาโยนไปที่บริษัทประกันชีวิต ทั้งนี้ เมื่อถึงบริษัทประกันชีวิต ก็จะสู้ด้วยข้อกฎหมาย ที่อาจระบุว่า คนเดินแล้วเกิดอุบัติเหตุ อาจจะประมาท มีสภาพร่างกายอาจไม่สมบูรณ์ กว่าจะจ่ายเงินเยียวยาก็ใช้เวลานาน หรือหลายกรณีไม่ได้เงิน เพราะครอบครัวไม่รู้จะเอาอะไรไปต่อสู้ จึงย้อนกลับมาว่า ประเทศไทยไม่มีองค์กรกลางที่จะช่วยหาข้อมูล หลักฐานส่งฟ้อง เพื่อให้ประกันดูแลเยียวยาผู้เสียหายอย่างเป็นธรรม และนี่คือสาเหตุของการเกิดเหตุซ้ำซาก เพราะคนเกี่ยงกัน คนผิดไม่เคยได้รับผิด คนสูญเสียไม่ได้รับการเยียวยา หรือได้รับการเยียวยาช้าเกินไป เพราะฉะนั้น ผู้นำรัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยนำอุทาหรณ์เหล่านี้มาเป็นบทเรียนในการสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้น เพราะนี่คือ ‘สิทธิพื้นฐาน’ ของประชาชนที่ควรจะได้รับ


ที่มา : 
https://siamrath.co.th/n/533734