‘ม็อบหนุนปาเลสไตน์’ ผุดขึ้นตามมหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐฯ ‘เจ้าหน้าที่’ ปราบดุ!! ใช้สารเคมี-ช็อตไฟฟ้า สลายการชุมนุม

เมื่อวานนี้ (25 เม.ย. 67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการแข็งกร้าวกับผู้ชุมนุมประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ที่ปักหลักชุมนุมกันตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หลังการชุมนุมลักษณะนี้แผ่ลามไปตามสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ ทั่วอเมริกามากขึ้น

รายงานข่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่ปราบจลาจลใช้สารระคายเคืองและอุปกรณ์ช็อตไฟฟ้าเข้าควบคุมการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในขณะที่บรรดาผู้บริหารของสถาบันการศึกษาที่ทรงเกียรติที่สุดของประเทศบางแห่งกำลังดิ้นรนขัดขวางการปักหลักชุมนุมยึดสถานที่ของผู้ประท้วง

การปักหลักชุมนุมและประท้วงอันครึกโครม ผุดขึ้นมาตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วสหรัฐฯ ด้วยที่พวกนักเคลื่อนไหวเรียกร้องข้อตกลงหยุดยิงในสงครามระหว่างอิสราเอลกับนักรบฮามาส เช่นเดียวกับเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยทั้งหลายตัดความสัมพันธ์กับอิสราเอลและบริษัทต่าง ๆ ที่พวกเขาบอกว่าโกยกำไรจากความขัดแย้งดังกล่าว

"สำหรับ 201 วัน ที่โลกเฝ้าดูอย่างเงียบ ๆ ปล่อยให้อิสราเอลฆาตกรรมชาวปาเลสไตน์ไปกว่า 30,000 คน" ข้อความหนึ่งที่โพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์โดยแกนนำการประท้วงจุดใหม่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในลอสแอนเจลิส 

"วันนี้ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเข้าร่วมกับนักศึกษาทั่วประเทศ เรียกร้องมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของเราตัดขาดกับบริษัทต่าง ๆ ที่แสวงหาผลกำไรจากการรุกราน การแบ่งแยก และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์"

มีผู้ประท้วงมากกว่า 200 คน ถูกจับกุมในวันพุธ (24 เม.ย.) และวันพฤหัสบดี (25 เม.ย.) ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในลอสแอนเจลิส บอสตัน และในเมืองออสติน รัฐเทกซัส บริเวณที่มีผู้คนกว่า 2,000 ราย มารวมตัวกันอีกครั้งในวันพฤหัสบดี (25 เม.ย.)

ที่มหาวิทยาลัยเอโมรี ในแอตแลนตา ปรากฏภาพถ่ายกำลังใช้เครื่องช็อตไฟฟ้าระหว่างเข้าจัดการกับพวกผู้ประท้วงที่อยู่บริเวณลานหญ้า ขณะที่เว็บไซต์ข่าวของทางมหาวิทยาลัย เผยว่า พวกเจ้าหน้าที่สวมหน้ากากป้องกันแก๊สและใช้สายรัดข้อมือควบคุมตัวผู้ชุมนุม

กรมตำรวจแอตแลนตา อ้างว่าทางมหาวิทยาลัยร้องขอให้ช่วยคุ้มกันมหาวิทยาลัย "พวกเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเจอกับการใช้ความรุนแรง เราทราบมาว่าเจ้าหน้าที่กรมตำรวจแอตแลนตาใช้สารระคายเคืองระหว่างเหตุการณ์นี้ แต่กรมตำรวจแอตแลนตาไม่ได้ใช้กระสุนยาง"

สถานการณ์ที่ลุกลามบานปลายของการประท้วง เริ่มต้นขึ้นที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก หลังจากผ่านพ้นเส้นตายที่พวกนักศึกษาได้รับคำสั่งให้รื้อถอนค่ายชั่วคราวที่พวกเขาใช้ปักหลักชุมนุมและกลายมาเป็นศูนย์กลางของความเคลื่อนไหว

การประท้วงที่ลุกลามกลายมาเป็นความท้าทายใหญ่หลวงสำหรับบรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่พยายามรักษาสมดุลในพันธสัญญาของมหาวิทยาลัย ในเรื่องของสิทธิเสรีภาพการแสดงออกกับเสียงโวยวายต่าง ๆ เกี่ยวกับการล้ำเส้นของพวกผู้ประท้วง

พวกผู้ประท้วงสนับสนุนอิสราเอลและอื่น ๆ แสดงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในมหาวิทยาลัย โดยชี้ถึงเหตุการณ์ต่อต้านยิวต่าง ๆ และกล่าวหาว่ามหาวิทยาลัยทั้งหลายกำลังสนับสนุนการข่มขู่คุกคามและประทุษวาจา (hate speech)

อย่างไรก็ตาม นักศึกษาผู้ประท้วงบอกว่าพวกเขาต้องการแสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์ในกาซา ดินแดนที่มีผู้ถูกสังหารไปแล้วแตะระดับ 34,305 คน โดยผู้ชุมนุมบางส่วน ในนั้นรวมถึงนักศึกษายิวเองจำนวนหนึ่ง ปฏิเสธคำกล่าวหาต่อต้านยิว และวิพากษ์วิจารณ์พวกเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติกับพวกเขาสวนทางกับฝ่ายสนับสนุนอิสราเอล

อิสราเอล พันธมิตรของสหรัฐฯ เปิดสงครามในกาซา แก้แค้นกรณีที่พวกนักรบฮามาสบุกจู่โจมเล่นงานอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สังหารผู้คนไปราว 1,170 ราย และจับตัวประกันไปประมาณ 250 คน คาดหมายว่าเวลานี้ยังเหลือตัวประกันอยู่ในกาซาอีก 129 คน แต่ในนั้น 34 คน สันนิษฐานว่าเสียชีวิตแล้ว

ที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย ในลอสแอนเจลิส ซึ่งมีผู้ประท้วงถูกจับกุมฐานบุกรุก 93 รายในวันพุธ (24 เม.ย.) พวกเจ้าหน้าที่เปิดเผยว่าได้ยกเลิกกิจกรรมพิธีสำเร็จการศึกษาในวันที่ 10 พฤษภาคม

ส่วนที่มหาวิทยาลัยเอเมอร์สัน ในบอสตัน สื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่าได้มีการยกเลิกการเรียนการสอนในวันพฤหัสบดี (25 เม.ย.) หลังจากตำรวจปะทะกับผู้ประท้วงเมื่อคืนที่ผ่านมา รวมถึงเข้ารื้อถอนค่ายของผู้ชุมนุมฝักใฝ่ปาเลสไตน์และจับกุมผู้ประท้วงไปราว 108 คน

ในวอชิงตัน พวกนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ และมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน จัดตั้งแคมป์ปักหลักชุมนุมเพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตันในวันพฤหัสบดี (25 เม.ย.) โดยที่บรรดานักศึกษาของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ยังมีแผนประท้วงไม่เข้าเรียนอีกด้วย

การประท้วงและการปักหลักชุมนุมยังผุดขึ้นที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และมหาวิทยาลัยเยล แม้พบเห็นนักศึกษาหลายสิบคนถูกจับกุมไปเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ เช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยบราวน์ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน และที่อื่น ๆ

เมื่อวันอาทิตย์ (21 เม.ย.) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ประณามความเคลื่อนไหวต่อต้านยิวอย่างโจ่งแจ้ง โดยบอกสิ่งแบบนี้ไม่ควรมีที่ว่างตามมหาวิทยาลัยทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวบอกเช่นกันว่าท่านประธานาธิบดีสนับสนุนเสรีภาพการแสดงออก ณ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของสหรัฐฯ


ที่มา: เอเอฟพี
https://mgronline.com/around/detail/9670000036086