เอกอัครราชทูต (Ambassador) ศักดิ์ศรีของประเทศ ผู้แทนของพระราชา

โลกใบนี้มีประเทศต่าง ๆ อยู่เกือบ 200 ประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างกันในหลากหลายมิติไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ 

การที่จะทำให้พลโลกอยู่รวมกันอย่างมีสันติสุข โดยให้เกิดความขัดแย้งน้อยที่สุด และเพื่อป้องกันไม่ให้ขยายตัวจนกลายเป็นความรุนแรง จนกลายเป็นสงครามระหว่างกันนั้น ทุก ๆ ประเทศจึงต้องมีไมตรีจิตและมิตรภาพอันดีต่อกัน

แน่นอนว่า การสร้างและรักษาไมตรีจิต-มิตรภาพอันดีระหว่างประเทศ 2 ประเทศนั้น จะดำเนินไปได้ด้วยดีถ้าทั้งสองประเทศมีผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทน, ผู้รับเจรจาแทน หรือตัวเชื่อมระหว่างกัน ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของนักการทูตของประเทศนั้น ๆ โดยมี ‘เอกอัครราชทูต’ (Ambassador) เป็นหัวหน้าคณะ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนทางการทูตระดับสูงที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลของประเทศนั้น เพื่อเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประเทศตนในประเทศที่ตนประจำการอยู่ 

บทบาทหลักของ ’เอกอัครราชทูต’ คือการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศ อำนวยความสะดวกด้านการค้าและการพาณิชย์ และส่งเสริมโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการศึกษา ทั้งยังต้องทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในการสร้างสัมพันธไมตรีอย่างเป็นทางการระหว่างประเทศตนและประเทศที่ประจำการ, รายงานข้อมูลข่าวสารของประเทศที่ไปประจำการให้รัฐบาลทราบเพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายการทูตให้ถูกต้องเหมาะสมกับประเทศนั้น ๆ, ดำเนินนโยบายทางการทูต เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ, แนะนำโน้มน้าวให้ประเทศที่ไปประจำการดำเนินนโยบายที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ และแนะนำมาตรการรับมือกรณีมีเหตุจำเป็นให้แก่รัฐบาล ฯลฯ

สำหรับบ้านเรา ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรด้วยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นตำแหน่ง ‘เอกอัครราชทูต’ (หัวหน้าทูตของพระราชา) เป็นตำแหน่งที่ต้องให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ต้องเข้าเฝ้าเพื่อกราบถวายบังคมลาไปปฏิบัติหน้าที่ รับพระราชทานเจิม และรับพระราชทานพระราชสาส์นตราตั้ง เพื่อนำไปยื่นต่อประมุขของประเทศที่ตนเองไปประจำการ เรียกได้ว่านอกจากจะเป็นทั้งตัวแทนและภาพลักษณ์ของประเทศแล้ว ตำแหน่ง ‘เอกอัครราชทูต’ นั้นยังถือเป็นผู้แทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย 

เนื่องจากตำแหน่ง ‘เอกอัครราชทูต’ เป็นตำแหน่งสำคัญด้วยเพราะเป็นทั้งตัวแทนและภาพลักษณ์ของประเทศ จึงมีการพิจารณาคัดกรองบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้เป็นอย่างดี โดยทั่วไปแล้วผู้ที่จะได้ดำรงตำแหน่ง ‘เอกอัครราชทูต’ นั้นจะได้ถูกการคัดเลือกจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศที่มีทักษะทางการทูต ความรู้ภาษาต่างประเทศ และความเชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้วยเพราะแม้ว่าเกือบ 200 ประเทศบนโลกนี้ แต่ไทยเรามีสถานทูตเพียง 67 แห่ง นั่นหมายถึงว่า นักการทูตที่จะก้าวสู่ตำแหน่ง ‘เอกอัครราชทูต’ นั้นจะต้องมีทั้งความสามารถและประสบการณ์ในการทำงานอย่างยอดเยี่ยม มีวัตรปฏิบัติอันเป็นที่ยอมรับ นับถือ และชื่นชมของบรรดาผู้คนในสังคมโดยรวม 

นอกจากนี้แล้วตำแหน่งนี้มิใช่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเฉพาะประเทศนั้น ๆ แต่กระทรวงต่างประเทศยังต้องส่งข้อมูลประวัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนี้ไปให้ประเทศที่จะไปประจำการพิจารณาตรวจสอบด้วย 

นักการทูตไม่ว่าระดับ ‘เอกอัครราชทูต’ หรือคณะเจ้าหน้าที่ทางการทูต ฯลฯ ของไทยนั้น ถือเป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติด้วยวัตรปฏิบัติในต่างแดนนั้น สุภาพ อ่อนโยน สมกับเป็นตัวแทนของคนไทยทั้งประเทศ โดยปัจจุบันนอกจากกระทรวงการต่างประเทศที่ส่งคณะทูตไปประจำยังมิตรประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกแล้ว แทบทุกกระทรวงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติงานในประเทศที่มีความสำคัญต่อภารกิจของกระทรวงนั้น ๆ อีกด้วย

โดยสรุปแล้ว นักการทูตไทยนั้น ปฏิบัติตนตามแบบแผนพิธีการทางการทูต (Diplomatic protocol) ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม เป็นอย่างดี จึงได้รับการยอมรับและชื่นชมยินดีจากทุก ๆ ประเทศที่มีนักการทูตไทยไปประจำการ แตกต่างจากหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจตะวันตกที่มักจะให้นักการทูตของตนเข้าไปวุ่นวายแทรกแซงประเทศต่าง ๆ เพียงเพื่อผลประโยชน์และความต้องการของประเทศตน โดยไม่คำนึงถึง มารยาท ความถูกต้องเหมาะสม ตามแบบแผนพิธีการทางการทูต ทำให้ประชาชนของประเทศที่ไปประจำการเกิดความเกลียดชังจนกระทบไปถึงภาพลักษณ์ของประเทศของตนโดยรวมอีกด้วย


เรื่อง: กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES