‘รมว.ปุ้ย’ มอบรางวัลแด่ ‘เกษตรกรชาวไร่อ้อย-ผู้ประกอบโรงงาน’ สอดรับนโยบาย ‘สร้างอุตสาหกรรมดี อยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน’

(22 เม.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานมอบรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดงานมอบรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น เพื่อประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติเกษตรกรชาวไร่อ้อย ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลที่มีความเป็นเลิศในแต่ละด้านรางวัลที่กำหนด เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและก้าวสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไปพร้อมๆ กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ภายใต้นโยบาย ‘สร้างอุตสาหกรรมดี อยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน’

โดยในวันนี้ได้มีการมอบรางวัลให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยและผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล รวม 74 รางวัล ซึ่งต้องขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับความสำเร็จของทุกท่านที่ถือได้ว่าเป็นบุคคลและองค์กรต้นแบบและเชื่อมั่นว่างานในวันนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญและเป็นพลังในการสร้างสรรค์และพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกต่อไป

สำหรับรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 มีจำนวน 9 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย…

>> 1. รางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่น แบ่งเป็น 5 ประเภท รวม 47 รางวัล

1) รางวัลแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา
2) รางวัลการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพ
3) รางวัลการบริหารจัดการไร่อ้อยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
4) รางวัลชาวไร่อ้อยตัวอย่าง
5) รางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นของสถาบันชาวไร่อ้อย

>> 2. รางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่น แบ่งเป็น 4 ประเภท รวม 27 รางวัล

1) รางวัลโรงงานน้ำตาลยอดเยี่ยม เป็นรางวัลพิเศษมอบให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่น ลำดับที่ 1 ด้านการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเป็นระยะเวลา 3 ปี ติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2564 - 2566 ได้แก่ โรงงานรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม
2) รางวัลอ้อยรักษ์โลก
3) รางวัลการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต
4) รางวัลการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ฤดูการผลิตปี 2566/67 ที่ได้ปิดหีบอ้อยไปแล้ว มีตัวเลขอ้อยเข้าหีบตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 17 เมษายน 2567 เป็นระยะเวลา 130 วัน รวม 82.16 ล้านตัน แบ่งเป็น อ้อยสด 57.81 ล้านตัน คิดเป็น 70.36% และอ้อยไฟไหม้ 24.35 ล้านตัน คิดเป็น 29.64% ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (Yield) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 106.76 กิโลกรัมต่อตันอ้อย และมีค่าความหวานอ้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 12.35 C.C.S. ผลผลิตอ้อยรวมลดลงจากปีก่อน 11.73 ล้านตัน คิดเป็น 12.49% ทั้งนี้ ก่อนเปิดหีบสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) คาดการณ์แนวโน้มจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบอยู่ที่ 82.40 ล้านตัน ปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตตกต่ำจากปีก่อน ๆ เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง และราคาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอบคุณ 4 องค์กรชาวไร่อ้อยที่มีความตั้งใจและให้ความร่วมมือในการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ในฤดูการผลิตปี 2566/67 ยังคงมีปริมาณอ้อยไฟไหม้อยู่ในระดับที่สูง ในฤดูการผลิตปีต่อไป กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้วางแนวทางบริหารจัดการแก้ไขปัญหาลดการเผาอ้อยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาทิ เช่น…

1) การนำระบบ AI มาจำแนกอ้อยเผาและอ้อยสดก่อนเข้าหีบ
2) การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยกู้ เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรใช้ในไร่อ้อยและเก็บเกี่ยวอ้อยสด
3) จัดหาเครื่องสางใบอ้อย
4) มาตรการทางกฎหมาย
5) ปรับปรุงการคำนวณราคาอ้อยให้เป็นตามเกณฑ์คุณภาพการผลิตอ้อย
6) ส่งเสริมการรับซื้อใบอ้อยเพื่อเพิ่มรายได้และลดการเผาใบอ้อย
7) บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดการเผาอ้อยในพื้นที่ที่มีการเผาซ้ำซาก

“ข้อมูลจาก สอน. คาดว่าฤดูการผลิตปีต่อไป จะมีปริมาณอ้อยสดในทิศทางที่เพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยสูงขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยมากกว่า 240,000 ราย และโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวปิดท้าย