คดีอุกอาจ!! ใช้ 'อาคม' ลอบปลงพระชนม์เชื้อพระวงศ์ แต่มนตราสาปแช่ง มิเป็นผล จึงได้บทลงโทษแค่หลาบจำ

ความเชื่อเรื่องผี สาง เครื่องรางของขลัง โชคชะตา โดยเฉพาะ 'คาถาอาคม' เป็นของคู่บ้านเมืองเรามาอย่างช้านานแล้ว 

อย่างเวทมนตร์คาถาที่ถูกนำมาใช้ในด้านดี เช่น การใช้ในการป้องกันตัว การใช้คาถาอาคมประกอบการปรุงยารักษาโรค การใช้อาคมประกอบการไล่ภูตผีปีศาจโดยใช้หวายเสก (อันนี้มีบันทึกไว้ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ในสมัยอยุธยาด้วย) การอาราธนาสิ่งศักดิสิทธิ์เพื่อปลุกขวัญกำลังใจอย่างการตัดไม้ข่มนามก่อนออกรบซึ่งปรากฏในการณ์ต่าง ๆ 

นอกจากนี้ ก็ยังมีสำหรับใช้เพื่อปากท้องของประชาชนทางด้านการเกษตร อย่างการขอฝน โดยตามบันทึกคำให้การของชาวกรุงเก่าที่ระบุว่า เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาคือ ในช่วงนั้นเกิดภาวะฝนแล้ง ชาวบ้านทำนาไม่ได้ผล เชื่อกันว่าเทวดาเบื้องบนเป็นเหตุให้เกิดฝนแล้ง พระองค์จึงรับสั่งให้พระเถระชั้นผู้ใหญ่ 2 รูป เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมเพื่อแก้ไข ซึ่งในบันทึกก็ระบุว่ามีฝนตกลงมาจริง 

เมื่อมีด้านดี ก็ต้องมีด้านไม่ดี อย่างที่เราเรียกกันว่า 'มนต์ดำ' ซึ่งนำมาใช้ในด้านร้ายเช่น การสาปแช่ง การฝังรูปฝังรอย การทำเสน่ห์ยาแฝด การใช้ยาสั่งเพื่อให้เกิดผลตามต้องการไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง หรือหนักที่สุดก็คือการใช้ยาสั่งเพื่อ 'ฆ่า' 

ด้วยเหตุนี้ประเทศของเราถึงมี 'กรมแพทยา' ซึ่งมี 'ผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาคม' เพื่อรักษาโรคที่เกิดจากอาคมหรือมนต์ดำ ทั้งยังเป็นตุลาการสำหรับไต่สวนคดีที่เกี่ยวข้องกับคุณไสยต่าง ๆ โดย 'ศาลหรือตุลาการกรมแพทยา' ซึ่งมีการอ้างกันว่ามีกรมนี้มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรม แต่จะมีมาตั้งแต่สมัยนั้นหรือไม่ แต่จากข้อมูลในพระธรรมนูญที่รวบรวมการประทับฟ้องต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายตราสามดวง ที่ตราขึ้นในรัชสมัยของพระเอกาทศรถเมื่อ พ.ศ.2165 มีการระบุถึงการฟ้องร้องกันด้วยเรื่องไสยศาสตร์โดยมีกฎหมายสำหรับรองรับเมื่อมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นด้วย

'กรมแพทยา' นี้ถูกลดบทบาทและอำนาจลงตั้งแต่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 มาจนถึงในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดการปฏิรูปหลายอย่างในแผ่นดิน ซึ่งกรมแพทยาก็ถูกยุบลงเพราะถูกมองว่าล้าหลัง ไม่ทันสมัย 

แต่ในช่วงก่อนการปฏิรูปก็มีคดีที่น่าสนใจในเรื่องการใช้ 'มนต์ดำ' ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ใหญ่โตระดับการลอบปลงพระชนม์พระราชวงศ์ชั้นสูงเลยทีเดียว แต่สุดท้ายคดีนี้ก็กลายเป็นคดีด้านคาถาอาคมที่ไม่เกิดผลและน่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ 'กรมแพทยา' ถูกยุบไปในที่สุด

เรื่องของเรื่องเป็นแบบนี้ครับ ในปี พ.ศ. 2419 มีคนคิดจะใช้อาคมทำร้าย 'สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์' ผู้สำเร็จราชการในพระราชสำนัก โดยเจ้าอาคมมีชื่อว่า 'เกษ'

ส่วนนาย 'เกษ' จะก่อเหตุด้วยการขุ่นเคืองใดไม่มีปรากฏในบันทึก เพราะเป็นเพียงขั้นพยายามแต่ยังไม่ถึงขั้นลงมือก็โดนจับไปขังคุกเสียก่อน แต่ทว่าแม้อยู่ในคุกเขาก็ไม่ได้มีความสำนึกยังคงเดินหน้าปั้นหุ่นรูปสมเด็จฯ เสกเป่า สาปแช่ง ด้วยมนต์ดำทั้งหลายเพื่อหวังจะฆ่าพระองค์ให้ได้ด้วยอาคมร้าย ทั้งยังได้รับเสียงเชียร์จากคนโทษร่วมคุกอื่น ๆ อีกด้วย 

ซึ่งคดีนี้ถูกนำความขึ้นกราบบังคมทูลในหลวงรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ทรงวิตกห่วงใยในความปลอดภัยของสมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาถึง 'พระยามหามนตรี' (อ่ำ อมรานนท์) ความว่า...

"ถึง พระยามหามนตรี ด้วยอ้ายเกษที่ไปจำไว้ ณ คุกนั้น กลับทำเล่ห์กลเวทมนตร์ปั้นรูปสมเด็จฯ เสกเป่าต่างๆ นั้น ได้สั่งให้พระพิเรนทร์ให้ไปชำระเอาความได้ในเวลาพรุ่งนี้ แต่อ้ายคนนี้เห็นจะต้องตายเสียหรืออย่างไรให้สูญเสียทีเดียว ถ้ายังอยู่ก็จะเป็นข้อพยาบาทสมเด็จฯ ต่อไปไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แต่บัดนี้ความวิตกนัก ด้วยเกิดความขึ้นดังนี้ ไม่รู้ว่าพ่อแม่พวกพ้องมันจะคิดร้ายอย่างไรกับสมเด็จฯ ถ้ามีเหตุการณ์สมเด็จฯ เป็นอย่างไรลงแลข้าก็เหมือนแขนขาดตาบอดเป็นสิ้นตัว..... 

"ให้พระยามหามนตรี คิดอ่านรักษาสมเด็จฯ ในเวลานี้อย่าให้มีอันตรายได้ แล้วให้ไปพร้อมด้วยพระพิเรนทรเทพชำระเอาต้นเหตุุความคิดให้สิ้นเชิง ให้ได้เร็วในพรุ่งนี้มะรืนนี้จะได้ให้พระยามหามนตรีมาเฝ้าท่าน วางการไว้ในเวลาค่ำวันนี้ให้เรียบร้อย ถ้ามีเหตุภายนอก พระยามหามนตรีจะต้องเป็นโทษ"....

นอกจากนี้พระพุทธเจ้าหลวงยังทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึง สมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ความว่า...

"ทูลฯ ท่านให้ทราบ ด้วยอ้ายคนนี้มันยังคิดการทำร้ายอยู่เสมอเห็นจะเอาไว้ไม่ได้ต้องตายเสีย ได้สั่งให้พระยามหามนตรีกับพระพิเรนทร์ไปชำระความเอาความจริงให้ได้ในพรุ่งนี้ แต่หม่อมฉันมีความวิตกที่พระองค์ท่านมากนัก ด้วยมันคิดร้ายด้วยเวทมนต์ไม่สำเร็จจะเล่นตรง ๆ ได้สั่งพระยามหามนตรีให้มาคิดระแวดระวัง แต่การภายในสำคัญมากนักขอให้ท่านรักษาพระองค์ให้จงมาก..."

ในเหตุการณ์นี้ แม้ว่าทั้งล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 และสมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ จะทรงมีพระราชอำนาจประหารชีวิตคนได้และทรงเห็นว่านาย 'เกษ' สมควรตาย แต่ในที่สุดก็ทรงวินิจฉัยคดีนี้ว่า...

"ซึ่งอ้ายเกษคบคิดกับอ้ายขุนคนโทษด้วยกัน ปั้นรูปสมเด็จฯ กระหม่อมฉัน ให้อ้ายทรัพย์ อ้ายขำ เอาไปฝังป่าช้าทำเวทมนตร์ต่าง ๆ ดังนี้ อ้ายเกษ อ้ายขุน อ้ายทรัพย์ อ้ายขำ ทาสผู้รู้เห็นมีความผิดให้เฆี่ยนอ้ายเกษ อ้ายขุนคนละ 60 ที แล้วจำคุกให้หมั้น อย่าให้เที่ยวไปมาได้ แลให้เฆี่ยนอ้ายทรัพย์ อ้ายขำ คนละ 30 ที เอาตัวจำคุกไว้ปีหนึ่งจึงพ้นโทษ"

โดยรวมก็ถือว่าเป็นโทษที่ไม่หนักทั้ง ๆ ที่เป็นการอาฆาตมาดร้ายเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง แต่สุดท้ายจอมขมังเวทย์และทีมงานก็รอด อาจเพราะทำมนตราสาปแช่ง อย่างไรก็ไม่เป็นผลจริง

(อ้างอิงข้อมูลจาก 'หนังสือมิติลี้ลับในพงศาวดาร' โดย โรม บุนนาค) 


เรื่อง : สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager