'นักวิจัยจีน' พัฒนาเส้นใย 'เปล่งแสง-ผลิตกระแสไฟ' โดยไม่ต้องชาร์จ พร้อมศึกษาเพิ่มเติม 'เก็บรวบรวมพลังงานจากอวกาศ'

เมื่อวานนี้ (8 เม.ย. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารไซแอนซ์ (Science) เมื่อไม่นานนี้ ระบุว่าทีมวิจัยของจีนพัฒนาเส้นใยอัจฉริยะชนิดใหม่ที่สามารถปล่อยแสงและผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องเสียบปลั๊ก ซึ่งคาดว่าเส้นใยนี้จะเปลี่ยนวิธีการตอบสนองระหว่างสิ่งแวดล้อมและผู้คน และมีความสำคัญต่อการประยุกต์ใช้สิ่งทออัจฉริยะ

เส้นใยดังกล่าวได้ผสานฟังก์ชันต่าง ๆ อาทิ การกักเก็บพลังงานไร้สาย การรับและส่งผ่านข้อมูล และสามารถถูกนำไปทำเป็นสิ่งทอที่บรรลุฟังก์ชันการโต้ตอบระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ อาทิ จอแสดงผลเรืองแสง และระบบควบคุมแบบสัมผัสโดยไม่ต้องใช้ชิปและแบตเตอรี่

อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันและมีบทบาทสำคัญในการติดตามสุขภาพ การแพทย์ทางไกล ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ ตลอดจนสาขาอื่น ๆ

สิ่งทออิเล็กทรอนิกส์ที่ทำจากเส้นใยอัจฉริยะทั่วไปสามารถระบายอากาศได้ดีกว่าและอ่อนนุ่มมากกว่า เมื่อเทียบกับส่วนประกอบเซมิคอนดักเตอร์แข็งทื่อแบบดั้งเดิม ทว่าการพัฒนาเส้นใยอัจฉริยะในปัจจุบันต้องอาศัยการผสมผสานหลายโมดูลที่ซับซ้อน ซึ่งอาจไปเพิ่มปริมาณ น้ำหนัก และความแข็งไม่ยืดหยุ่นของสิ่งทอ

ทีมวิจัยจากคณะวัสดุศาสตร์และวัสดุวิศวกรรมของมหาวิทยาลัยตงหัว ค้นพบโดยบังเอิญว่าเส้นใยสามารถกระจายแสงภายใต้คลื่นสัญญาณวิทยุระหว่างการทดลอง จึงนำข้อมูลนี้ไปต่อยอดและพัฒนาเส้นใยอัจฉริยะรูปแบบใหม่ที่ใช้พลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นแรงขับเคลื่อนไร้สาย

ด้าน หยางเว่ยเฟิง สมาชิกทีมวิจัย ระบุว่า เส้นใยชนิดใหม่นี้มีความโดดเด่นจากวัตถุดิบที่ต้นทุนคุ้มค่า และเทคโนโลยีการประมวลผลที่สมบูรณ์ โดยสามารถบรรลุการแสดงผลของเส้นใย การส่งคำสั่งแบบไร้สาย และฟังก์ชันอื่น ๆ โดยไม่ต้องใช้งานชิปหรือแบตเตอรี่

ด้าน โหวเฉิงอี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยตงหัว ระบุว่า เสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยชนิดใหม่นี้จะสามารถโต้ตอบและเปล่งแสงได้ ทั้งยังสามารถควบคุมผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์จากระยะไกลแบบไร้สาย ผ่านการสร้างสัญญาณเฉพาะเจาะจงจากท่าทางที่แตกต่างกันของผู้ใช้

ทีมวิจัยจะดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่ทำให้เส้นใยชนิดใหม่สามารถเก็บรวบรวมพลังงานจากอวกาศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อพัฒนาฟังก์ชันต่าง ๆ ที่หลากหลาย อาทิ การแสดงผล การเปลี่ยนรูปร่าง และการประมวลผล


ที่มา : Xinhua / XinhuaThai