ไขข้อข้องใจ เหตุใด ไอศกรีมร้านบุฟเฟต์ ถึงแข็ง-ตักยาก ชาวเน็ตถกกันสนั่น ร้านตั้งอุณหภูมิไว้ เย็นไปป่าว

(23 มี.ค.67) เป็นที่ทราบกันดีว่า สำหรับคนไทยที่ชอบรับประทานร้านปิ้งย่างแบบบุฟเฟ่ต์ เมื่อจบมื้อก็จะตบท้ายด้วยของหวานอย่าง 'ไอศกรีม' โดยลูกค้าต้องเป็นฝ่ายเดินไปตักจากถัง หรือตู้แช่มาทานเอง

แน่นอนว่า ไอศกรีมในร้านบุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง ก็ขึ้นชื่อเรื่องความตักยาก จนกล้ามขึ้น กลายเป็นปัญหาโลกแตกของใครหลายคน

เช่นเดียวกับหนุ่มรายนี้ ได้ออกมาโพสต์ภาพตอนตักไอศกรีม พร้อมตั้งคำถามผ่านเฟซบุ๊กว่า

“ทำไม ไอศกรีมในร้านบุฟเฟ่ต์ถึงต้องตักยากครับ เล่นเอาซะเส้นแขน ท่อนแขนตึงเลย
อันนี้ผมสงสัยจริงๆครับ ไม่ได้ตำหนิอะไรร้านนะครับ”

งานนี้เมื่อแชร์ออกไป กลายเป็นที่ถกสนั่น จนมีผู้รู้เรื่องนี้ เข้ามาตอบถึงทฤษฎี เรื่องไอศกรีมว่า “เพราะเจ้าของร้านไม่เข้าใจเรื่องของการควบคุมอุณหภูมิ ว่าอาหารหรือเครื่องดื่มนั้น ๆ ต้องควบคุมอุณหภูมิที่เท่าไหร่”

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีคนแย้งกลับเช่นกัน โดยมองถึงการที่ร้านกดอุณหภูมิให้ต่ำเกินกว่ามาตรฐานจริง เป็นการลดต้นทุน ทำให้คนตักไอศกรีมได้น้อยลง ยิ่งตักยาก ยิ่งเสียเนื้อไอศกรีมน้อย นับเป็นทริกอย่างหนึ่ง มิเช่นนั้นคงไม่เป็นกันทุกร้าน

ทว่าเรื่องนี้มีคนแย้งกลับว่า สาเหตุที่ต้องตั้งอุณหภูมิตู้ไอศกรีมให้เย็นกว่าปกติ ไม่ใช่ต้องการควบคุมต้นทุนทำให้คนตักน้อย

แต่เป็นเพราะร้านบุฟเฟต์มีคนตักถี่กว่าร้านที่ขายเอง จนมีการเปิดตู้บ่อย ๆ ซึ่งถ้าตั้งอุณหภูมิตามปกติ พอเจอคนเปิดตู้บ่อย ๆ ไอศกรีมจะละลายจนไม่เป็นก้อน

ดังนั้น จึงต้องตั้งอุณหภูมิให้ต่ำลงถึงจะทำให้ไอศกรีมไม่เละ จนกลายเป็นแข็งอย่างที่เห็น

ขณะเดียวกัน สำหรับคนที่มองว่า ร้านทำให้ไอศกรีมแข็งเพื่อลดต้นทุน อาจจะลืมมองอีกมุมว่า การที่ตั้งค่าให้ตู้ไอศกรีมเย็นกว่าปกติ ก็ต้องใช้ไฟมากขึ้นก็นับว่าเป็นต้นทุนเช่นกัน

นอกจากนี้ก็ยังมี คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างมากมาย ยกตัวอย่างเช่น

ผมเคยตั้งให้ตักง่ายๆแล้วครับ แต่พอลูกค้าเปิด-ปิดบ่อย ความเย็น เย็นไม่ทัน ไอศกรีมละลาย ไม่สามารถเซ็ตตัวได้

พอเซ็ตไว้อุณหภูมิ ปกติ แต่ถ้าลูกค้าไม่มาเปิดเลยนานๆ มันจะแข็งมากๆ ตักยากปวดมือครับ
ไม่ได้เป็นเทคนิคใดๆหรอกครับ

เคยเจอร้านนึง ขูดไว้ให้เป็นก้อนเลยค่ะ ไม่ต้องเสียเวลาและแรงขูดเอง