สตม.รวบนักลงทุนชาวจีนตามหมายจับเลี่ยงภาษีมูลค่าเกือบ 20 ล้านบาท

ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม., พล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์  รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ ผบก.ตม.3, พ.ต.อ.คธาธร คำเที่ยง รอง ผบก.ตม.3, พ.ต.อ.อรรถพล มีเสียง รอง ผบก.กต.10 ปฏิบัติราชการ บก.ตม.3, พ.ต.อ.เพลิน กลิ่นพยอม รอง ผบก.ตม.3, พ.ต.อ.จิรพงศ์ รุจิรดำรงชัย ผกก.สส.บก.ตม.3, พ.ต.อ.ปกฉัตร ชัยสุกวัฒน์ ผกก.ตม.จว.สมุทรสาคร, พ.ต.อ.นภัสพงษ์ โฆษิตสุริยมณี ผกก.ตม.จว.ชลบุรี พ.ต.ท.รัฐไกร ประยูรศร รอง ผกก.สส.บก.ตม.3 และ พ.ต.ท.วิรชา สนั่นศิลป์ รอง ผกก.สส.บก.ตม.3 ร่วมแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหารายสำคัญ ดังนี้
สตม.รวบนักลงทุนชาวจีนตามหมายจับเลี่ยงภาษีมูลค่าเกือบ 20 ล้านบาท

ตม.จว.ชลบุรี ร่วมกับ กก.2 บก.ปอศ. จับกุม Mr.Wang (นามสมมุติ) อายุ 53 ปี  สัญชาติจีน ตามหมายจับศาลจังหวัดพัทยาที่ 60/2567 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันเคลื่อนย้ายของออกไปจากเขตปลอดอากรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร” นำตัวส่งพนักงานสอบสวน บก.ปอศ. ดำเนินคดีตามกฎหมาย สถานที่จับกุม ภายในบริษัทแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จว.ชลบุรี   

พฤติการณ์แห่งคดี Mr.Wang ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่ ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จว.ชลบุรี ได้ร่วมกันกับพวกนำสินค้าเบ็ดเตล็ด อาทิเช่น กระเป๋า ผ้าพันคอ ชุดผ้าปูที่นอน กรอบโทรศัพท์ เก้าอี้ กล่องพลาสติก โคมไฟ ไม้เซลฟี่ ข้าวโพด (ป๊อบคอร์น) ฯลฯ เข้ามาในราชอาณาจักร ตามใบขนสินค้าขาเข้า จำนวน 31 ฉบับ โดยสำแดงการใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อนำเข้าไปในเขตปลอดอากร ตามมาตรา 151 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 จำนวน 31 ฉบับ เป็นใบขนสินค้าสั่งการตรวจ "ให้เปิดตรวจ" เพื่อนำไปทำการตรวจปล่อยที่เขตปลอดอากรเอ็มที ฟรีโซน โดยวิธีการมัดลวด และพนักงานศุลกากร ที่กำกับดูแลเขตปลอดอากรได้บันทึกการตรวจรับของดังกล่าวเข้าไปเก็บในเขตปลอดอากรแล้ว แต่ในระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2562 พนักงานศุลกากรได้เข้าทำการตรวจสอบหลังการตรวจปล่อย ณ เขตปลอดอากร เอ็มที ฟรีโซน 

ในบริษัทดังกล่าว พบข้อเท็จจริงว่าสินค้าเบ็ดเตล็ดที่บริษัทฯ ได้นำเข้ามาตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 31 ฉบับนั้น ไม่ได้มีการเก็บรักษาไว้หรือคงเหลืออยู่ในเขตปลอดอากร เอ็มที ฟรีโซน และจากการตรวจสอบข้อมูลการนำเข้าและส่งออกของบริษัทฯ จากระบบ CUSTOMS INFORMATION SYSTEM (CIS) ไม่พบว่าบริษัทฯ ได้มีการจัดทำใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายชำระภาษีอากร (ประเภท P) เพื่อนำของออกจากเขตปลอดอากรเพื่อใช้หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร และไม่มีการจัดทำใบขนสินค้าขาออก เพื่อส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร อีกทั้งไม่พบหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรหรือหลักฐานการชำระภาษีอากรสำหรับของดังกล่าวเพื่อนำของออกจากเขตปลอดอากรในกรณีอื่นใด 

โดยได้ประเมินราคาและค่าภาษีอากร สินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้า จำนวน 31 ฉบับ ดังกล่าวมีราคารวมทั้งสิ้น 15,337,963.62 บาท อากรขาเข้ารวม 2,701,946.79 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มรวม 1,262,793.72 บาท ซึ่งพนักงานศุลกากรได้แจ้งให้บริษัทฯ จัดส่งเอกสารเพิ่มเติมเพื่อชี้แจงในประเด็นดังกล่าวแล้ว แต่บริษัทฯ ก็ไม่สามารถนำเอกสารหลักฐานมาแสดงต่อพนักงานศุลกากรเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงได้ และได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของบริษัทฯ เป็นความผิดฐานเคลื่อนย้ายของออกไปจากเขตปลอดอากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร ตามมาตรา 242 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 เมื่อบริษัทฯ ได้รับทราบผลการตรวจสอบแล้ว มิได้แจ้งความประสงค์จะขอทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร แต่บริษัทฯ เพิกเฉย ไม่มาติดต่อขอทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร กรมศุลกากรจึงร้องทุกข์ดำเนินคดีกับบริษัทฯ และ Mr.Wang รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทั้งในฐานะนิติบุคคลและฐานะส่วนตัว 

หลังจากที่ศาลจังหวัดพัทยาได้ออกหมายจับแล้ว จากการสืบสวนของ ตม.จว.ชลบุรี ทราบว่า Mr.Wang ได้เดินทางไปที่บริษัทแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จว.ชลบุรี จึงได้ร่วมกับ กก.2 บก.ปอศ. ไปตรวจสอบ ผลการตรวจสอบพบ Mr.Wang จึงได้แสดงหมายจับและทำการจับกุม