'อ.พงศ์พาณุ' ชี้!! ความขัดแย้งระหว่างนโยบายการเงินกับการคลัง กำลังก่อ 'ปัญหา-เหนี่ยวรั้ง' ความก้าวหน้าของเศรษฐกิจไทย

(1 ก.พ. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้กล่าวว่า...

ต้นปี 2567 ความขัดแย้งระหว่างนโยบายการเงินกับนโยบายการคลังยังคงเป็นปัญหาเหนี่ยวรั้งความก้าวหน้าของเศรษฐกิจไทยอยู่ ในขณะที่นโยบายการคลังพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นจากวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่ แต่นโยบายการเงินกลับสวนทางและฉุดให้เศรษฐกิจไทยถอยหลังลงเหวอย่างไร้ความรับผิดชอบ ความขัดแย้งดังกล่าวบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติเลย กระทรวงการคลังรายงานคณะรัฐมนตรีเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 เติบโตเพียง 1.8% วันรุ่งขึ้นธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาบอกว่าประมาณการนี้ไม่ถูกต้อง จึงควรต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับองค์กรที่รับผิดชอบนโยบายการเงิน

เป็นที่ยอมรับในสากลว่านโยบายการเงินมีหน้าที่หลักในการรักษาเสถียรภาพของระดับราคา ผ่านกลไกอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกรอบ Inflation Targeting และธนาคารกลางสมควรมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ภายในกรอบเงินเฟ้อที่รัฐบาลเห็นชอบ 

ในกรณีของประเทศไทย กรอบเงินเฟ้อกำหนดไว้ที่ 1-3% เมื่อปี 2565 มีแรงกดดันเงินเฟ้อ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นดอกเบี้ยล่าช้าไม่ทันการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางอื่นทั่วโลก อาจด้วยเหตุผลทางการเมือง เป็นเหตุให้ภาวะเงินเฟ้อในไทยพุ่งทยานขึ้นสูงถึง 6.1% ซึ่งเป็นระดับที่เกือบจะสูงที่สุดในโลกและเกินกรอบเงินเฟ้อที่ตกลงกับรัฐบาลกว่าเท่าตัว 

พอมาปี 2566 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มถดถอยและอัตราเงินเฟ้อจะหลุดกรอบล่างไปแล้ว ทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) โดยมีเงินเฟ้อติดลบ 3 เดือนติดต่อกันในไตรมาสสุดท้าย ประเทศไทยจึงอาจเป็นประเทศที่มีความผันผวนทางการเงินสูงที่สุดประเทศหนึ่ง

น่าแปลกใจที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างลูกผู้ชาย แต่กลับแก้ตัวแบบข้างๆ คูๆ ว่า ไม่ใช่เรื่องของแบงก์ชาติ แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทย คงต้องทำใจแล้วว่าเรามีธนาคารกลางที่มีความสามารถในการโยนความผิดให้ผู้อื่น และเก่งในทุก ๆ เรื่อง ยกเว้นเรื่องนโยบายการเงิน ถ้าผู้ก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีชีวิตอยู่ก็คงจะเสียใจมิใช่น้อย