‘รมว.ปุ้ย’ ลุย ‘ระนอง’ รวบปัญหา ศก.ภาคใต้ฝั่งอันดามัน เตรียมนำเสนอ ‘ข้อเรียกร้อง-ทางแก้’ เข้าครม.สัญจร พรุ่งนี้

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ ลงพื้นที่จังหวัดระนอง ประชุม กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมนำเสนอประเด็นและวาระการพัฒนากลุ่มจังหวัดต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ พร้อมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชมและรับฟังปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่

(22 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กรอ.) ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดกระบี่, ตรัง, พังงา, ภูเก็ต, ระนอง และสตูล ร่วมกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อเตรียมนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการประชุมสอบถามความต้องการขอรับการสนับสนุน ปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งข้อเสนอแนะของผู้ประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่ เพื่อนำเสนอประเด็นและวาระการพัฒนากลุ่มจังหวัดฯ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ ห้องประชุมรัตนรังสรรค์ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดระนอง ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง

โดยในการประชุมมีการนำเสนอประเด็นและความต้องการขอรับการสนับสนุนในหลายประเด็น สรุปได้ดังนี้…

>> การนำเสนอประเด็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ด้วยการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น โครงการพัฒนาและยกระดับ Andaman Wellness and Spa ที่มุ่งเน้นพัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากร เพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ Wellness and Spa  โดยการบูรณาการร่วมกับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยให้จังหวัดระนอง เป็นเจ้าภาพหลัก

>> การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เนื่องจากค่าไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งในการแก้ไขควรจัดให้มีการฝึกอบรมเรื่องการลดใช้พลังงาน การสนับสนุนพลังงานทดแทน ปรับปรุงเครื่องจักรที่ทำให้ประหยัดพลังงาน

>> การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาล รวมถึงยกระดับมาตรฐานฮาลาลของไทย เพื่อตอบสนองความต้องการขยายตัวของตลาดโลก โดยการจัดตั้งองค์กรกลางหรือมาตรฐานที่เกี่ยวกับฮาลาล ที่นานาชาติยอมรับ เพื่อให้สามารถจำหน่ายในประเทศต่างๆ ได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศมุสลิม

>> การเพิ่มมูลค่าสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล และแปรรูปเกษตรอื่นๆ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลตามแนวทาง BCG Model ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้กลุ่มอันดามัน โดยต้องเป็นการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม
การขาดแคลนฝีมือแรงงาน โดยได้ขอรับการสนับสนุนให้มีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้อง ตามความต้องการของสถานประกอบการ  

>> การสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัด ที่ได้ขอให้มีการสนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับในการเข้าถึงสินเชื่อ

นอกจากนี้ มีการนำเสนอประเด็นอื่นๆ อาทิ พื้นที่ที่เหมาะสมในการประกอบกิจการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการประมง แต่ไม่สามารถขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานได้ ซึ่งเรื่องนี้ มีการเสนอให้แก้ไขผังเมืองให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพื่อส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกากอุตสาหกรรม ได้สร้างภาระเพิ่มต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการโรงงาน ซึ่งได้มีการเสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกากอุตสาหกรรมด้วย

“ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เกิดจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ดิฉัน รับทราบถึงกรณีที่เกิดขึ้นและจะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้ เพื่อเสนอประเด็นและวาระ การพัฒนากลุ่มจังหวัดต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (23 ม.ค.67) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

จากนั้นช่วงบ่าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดระนอง เพื่อเยี่ยมชมสถานประกอบการ 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท สยามชัยอาหารสากล จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ซูริมิ ซอฟท์เซลล์ สินค้าปู สินค้ากุ้ง และบริษัท มินเนอรัล รีซอร์สเซส ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (เหมืองดินขาว MRD)

โดยบริษัท สยามชัยอาหารสากล จำกัด ได้รับมาตรฐาน BRC, ISO 9000 ปี 2015, GMP, HACCP, HALAL เป็นต้น รวมทั้งได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับ 2 และยังเข้าร่วมโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการติดตั้งระบบ Sensor เพื่อควบคุมค่ามาตรฐานต่างๆ ในสถานที่เก็บ เพื่อให้สามารถแสดงค่าของปัจจัยได้ตลอดเวลา ผ่านระบบ loT on Cloud เพื่อให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย และเพิ่มประสิทธิภาพสถานประกอบกิจการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้เข้าร่วมโครงการพลิกธุรกิจ SMEs ไทย สู่การผลิตสมัยใหม่ 4.0 ปี 2565 ด้วย ในการเยี่ยมชม บริษัทฯ ได้ชี้แจงถึงปัญหา อุปสรรคที่พบทั้งค่าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และไม่สามารถคุมราคาขายกับผู้บริโภคได้ ซึ่งในปี 2567 กระทรวงฯ ได้เตรียมที่จะส่งเสริมเรื่องการลดใช้พลังงานในโรงงาน อบรมการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ เครื่องจักร รวมทั้งการจัดการ Logistic เพื่อทำ Cost Cutting เป็นต้น

ส่วนบริษัท มินเนอรัล รีซอร์สเซส ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (เหมืองดินขาว MRD) ซึ่งเป็นบริษัทฯ ผลิตแร่ดินขาวได้ปริมาณและคุณภาพที่ดี สามารถผลิตป้อนอุตสาหกรรมต่างๆ ส่งแร่ดินขาวให้กลุ่มอุตสาหกรรมภายในประเทศ ประมาณร้อยละ 80 และส่งออกต่างประเทศ ร้อยละ 20 ได้รับมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ มอก. 9001-2559 และระบบการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัย มอก. 45001-2561 เข้าร่วมโครงการ CSR-DRIM ตั้งแต่ปี 2555 และเข้าร่วมเครือข่าย CSR-DRIM ตั้งแต่ปี 2557 และได้รับมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวประจำปี 2566 และ การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 2 ตั้งแต่ปี 2554 และระดับ 3 ตั้งแต่ปี 2560 ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของบริษัทฯ มีการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ 

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงมีอุปสรรคและปัญหาบางประการที่ต้องได้รับการแก้ไขและสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น ปัญหาการแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่ราคาถูก ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัญหาต้นทุนพลังงานสูง ปัญหาความซับซ้อนและใช้เวลานานในการขออนุญาตและประทานบัตร และปัญหาระยะเวลาในการขออนุญาตนำแร่ออกนอกเขตไหล่ทวีป ทั้งนี้ ในปี 2567 กระทรวงฯ จะเข้าไปส่งเสริมการสร้างมาตรการปกป้องผู้ผลิตในประเทศ การพัฒนาฝีมือแรงงาน และการให้ความรู้ภาษาอังกฤษ สนับสนุน/ส่งเสริมการใช้เครื่องจักร ทดแทนแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศ ผลักดันให้มีเจ้าหน้าที่ด้านเหมืองแร่ประจำที่จังหวัดระนอง การจ่ายค่าภาคหลวงออนไลน์ที่จังหวัดระนอง เป็นต้น

“บริษัทฯ ทั้งสองแห่งมีการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยได้รับมาตรฐานสากลและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม บริษัททั้งสองแห่งยังคงมีอุปสรรคและปัญหาบางประการที่ต้องได้รับการแก้ไขและสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น ปัญหาการแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่ราคาถูก ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัญหาต้นทุนพลังงานสูง ปัญหาความซับซ้อนและใช้เวลานานในการขออนุญาตและประทานบัตร และปัญหาระยะเวลาในการขออนุญาตนำแร่ออกนอกเขตไหล่ทวีป กระทรวงฯได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนบริษัททั้งสองแห่ง โดยในปี 2567 จะให้การส่งเสริมเรื่องการลดใช้พลังงานในโรงงาน อบรมการใช้เทคโนโลยี และอุปกรณ์ เครื่องจักร รวมทั้งการจัดการ Logistic เพื่อทำ Cost Cutting หรือการสร้างมาตรการปกป้องผู้ผลิตในประเทศ พัฒนาฝีมือแรงงาน และการให้ความรู้ภาษาอังกฤษ สนับสนุน/ส่งเสริมการใช้เครื่องจักร ทดแทนแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศ ผลักดันให้มีเจ้าหน้าที่ด้านเหมืองแร่ประจำที่จังหวัดระนอง การจ่ายค่าภาคหลวงออนไลน์ที่จังหวัดระนอง เป็นต้น เชื่อว่าแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมให้บริษัททั้งสองแห่ง สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ และสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

ขณะที่ในช่วงเย็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ท่าเรือชุมพร (แหลมริ่ว) และท่าเรือระนองแห่งใหม่ (อ่าวอ่าง) เพื่อเยี่ยมชมพื้นที่พัฒนาโครงสร้างด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ภายใต้ชื่อ ‘โครงการแลนด์บริดจ์’ เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ และภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน (BIMSTEC) เพื่อเป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง ยกระดับคุณภาพมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่นานาชาติ