‘เพจท่องเที่ยวดัง’ เผย ‘คนสูงวัยชาวสวิส’ ไม่นิยมมีบ้าน แต่นิยมเก็บเงิน เพราะการวางแผนชีวิตหลังเกษียณที่ดี ช่วยให้ยามแก่อยู่ได้อย่างสุขสบาย

ในปัจจุบัน ประเทศไทยของเราได้ก้าวเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบ โดยในปี 2566 ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า ไทยมีประชากรผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 13 ล้านคน ของประชากรไทยทั้งประเทศ 66,057,967 คน

ดังนั้น การเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ จึงถือเป็นอีก 1 สิ่งสำคัญที่เราสามารถเริ่มได้เนิ่นๆ การวางแผนชีวิต วางแผนการเงิน วางแผนครอบครัว ปรับแนวคิดการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข รวมถึงวางแผนการดูแลสุขภาพ หลังเกษียณจากการทํางาน

วันนี้ทางเพจจึงอยากขอยกตัวอย่างการวางแผนชีวิตยามเกษียณ จากคลิปวิดีโอที่ทางเพจ ‘แขพาเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์ Khaekhaitravel Switzerland’ ได้ทำการโพสต์เมื่อช่วงปีก่อน ว่าด้วยเรื่องของ ‘คนแก่ที่สวิตเซอร์แลนด์ไม่มีบ้าน เขาอยู่กันยังไง รายได้มาจากไหน?’ โดยเนื้อหาในคลิปดังกว่าระบุว่า…

“ถ้าคนสวิตเซอร์แลนด์ส่วนมาก ไม่มีบ้าน ต้องเช่าอพาร์ตเมนต์ แล้วพอแก่ตัวมา ถ้าเขาไม่มีเงิน เขาจะทํายังไง? เอารายได้มาจากไหน? เพราะค่าครองชีพที่สวิตเซอร์แลนด์สูงมาก…

นี่เป็นคําถามที่คนสงสัยกันเยอะมาก ด้วยความที่ประเทศไทยบ้านเรา ต่อให้ไม่มีเงิน แต่ส่วนมากเราก็จะมีบ้านให้กลับไปอยู่ ตามจังหวัดก็ยังพออยู่ได้ แต่ที่สวิตเซอร์แลนด์ค่อนข้างแตกต่าง เพราะถึงแม้คนสูงวัยที่สวิตเซอร์แลนด์จะไม่มีบ้าน แต่เขามีเงิน เพราะคนสวิสจะได้เงินเกษียณจากการทํางานที่โดนหักจากรายได้ ซึ่งพอเกษียณเขาก็จะได้รับเงินประมาณเดือนละ 2,000 ฟรังก์สวิสขึ้นไป หากตีเป็นเงินไทยก็ประมาณ 75,000 บาท”

โดยคุณแข เจ้าของเพจได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “หากใครอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์แล้วมีรายได้แค่ 2,000 ฟรังก์สวิส อาจจะอยู่ลําบาก แต่ก็ได้ยินว่า ถ้าใครไม่มีบ้าน ไม่มีเงิน รัฐบาลสวิสก็จะช่วยเหลือ เดือนละ 800 ฟรังก์สวิส หรือประมาณ 30,000 บาท ซึ่งถ้ามีเงินเพียงเท่านี้แล้วใช้ชีวิตอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ก็จะต้องประหยัดมาก เพราะต่อให้แก่ตัวไปแล้วแต่รายจ่ายก็ยังมีเหมือนเดิม ซึ่งคนส่วนหนึ่งที่ไม่มีเงินก็จะเลือกย้ายไปอยู่ประเทศที่ค่าครองชีพถูกกว่า อย่างที่ไทยของเรานั้นก็ถือเป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่น่าอยู่หลังเกษียณ ซึ่งคนสวิสก็ย้ายมาอยู่ที่ไทยเยอะเช่นกัน บางคนก็หาแฟนเป็นคนไทยไปเลย เพราะจะได้มีคนคอยดูแล

ส่วนย่านที่คนสวิสชอบย้ายมาอยู่ก็จะมีแถวหัวหิน แถวทะเล เพราะคนสวิสชอบอยู่กับธรรมชาติ และเงินเกษียณ 75,00 บาทต่อเดือนนั้นก็อยู่ที่บ้านเราได้สบายมาก นี่จึงถือเป็นข้อดีของการไม่มีบ้าน ไม่มีภาระของที่สวิตเซอร์แลนด์ พอเกษียณปุ๊บก็มาใช้ชีวิตใช้เงินในประเทศที่ค่าครองชีพถูกกว่า

แต่ต้องบอกว่าส่วนมากคนสวิสจะไม่ได้มีเงินกันเพียงแค่นี้ เพราะตอนที่ทํางาน เงินเกษียณของคนสวิสจะถูกหักไว้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกหักให้กับรัฐบาลเพื่อเป็นกองทุนยามเกษียณ รัฐบาลเป็นคนดูแลและเอาเงินไปลงทุน ไปบริหารในจุดที่ไม่เสี่ยงมาก และเงินส่วนที่ 2 คือ เงินที่นายจ้างจะจ่ายสมทบให้ ใครเงินเดือนเยอะก็ถูกหักเยอะ แก่ตัวมาก็ได้เงินคืนเยอะตามไปด้วย อารมณ์ก็คล้ายๆ กับ ‘กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ’ (Provident Fund) ของบ้านเรา แต่ได้เยอะกว่านั่นเอง”

ข้อดีของการอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ คือ เขาได้เงินเดือนเยอะ เขาก็เลยหักเงินเดือนได้เยอะ ทําให้มีเงินเก็บตอนเกษียณเยอะตามไปด้วย แต่บางคนก็อาจไม่ได้มองว่าเป็นข้อดี เพราะหักเยอะแต่กว่าจะได้ใช้ก็ตอนแก่

จริงๆ คนสวิสบางส่วนจะมีเก็บเงินยามเกษียณอีกกองนึง ซึ่งส่วนนี้ทางรัฐฯ ไม่ได้บังคับ ใครจะเก็บก็เก็บ ซึ่งถ้าใครเลือกเก็บเงินในส่วนนี้ ก็จะสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย คล้ายกับการทําประกัน Retirement Mutual Fund หรือ ‘RMF’ ที่เบิกได้ตอนเกษียณ

“ด้วยโครงสร้างรายได้และรายจ่ายต่างๆ จึงกลายเป็นสาเหตุที่คนสวิตเซอร์แลนด์ส่วนมากต้องรู้จักวางแผนทางการเงิน เพราะถ้าไม่ทํางานก็อยู่ไม่ได้ เพราะที่สวิตเซอร์แลนด์นั้นไม่มีสวัสดิการฟรีเหมือนประเทศอื่นๆ ค่าประกันสุขภาพก็ต้องจ่ายตั้งแต่เกิดยันเสียชีวิต เพราะฉะนั้น คนที่นี่ต้องทํางานจ่ายภาษี ไม่เช่นนั้นตอนแก่จะลําบากมาก ต้องย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอื่น แต่ส่วนมากคนสูงวัยที่สวิตเซอร์แลนด์มีเงินกัน ตามร้านอาหาร ตามสถานที่ท่องเที่ยวก็มีกลุ่มคนสูงวัยนี่แหละ ที่เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่มาใช้บริการ เพราะเขามีทั้งเงินและเวลา แถมสุขภาพก็ยังแข็งแรงกันด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกังวลเรื่องคนสวิสไม่มีบ้านอยู่กัน เพราะเขามีทางเลือกชีวิตเยอะมาก

เรามาห่วงตัวเราเองดีกว่า ว่าจะอยู่อย่างไร ถ้าไม่วางแผนเกษียณแบบคนสวิส เพราะปัจจุบันเงินเฟ้อขนาดนี้ อีก 30 ปี ไม่อยากจะคิดว่าเราต้องใช้เงินเยอะแค่ไหนในตอนเกษียณ ดังนั้น แม้บ้านเราจะไม่มีโครงสร้างการเกษียณจากรัฐบาลแบบคนสวิส แต่เราสามารถเลือกเก็บเงินแบบที่คนสวิสทำได้ รัฐบาลไม่บังคับ แต่เราบังคับตัวเองได้”