‘จิรวัฒน์’ เลคเชอร์!! โครงสร้างพื้นฐานประเทศไทย 67 ความคืบหน้า ‘เส้นทางรถไฟ-รถไฟฟ้า’ เดินหน้าน่าพอใจ
จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ คุณจิรวัฒน์ จังหวัด เจ้าของเพจ ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ เมื่อวันที่ 6 ม.ค.67 ถึงความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยในปี 2567 โดยช่วงหนึ่งของรายการ คุณจิรวัฒน์ ได้อัปเดตเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของระบบโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟไทย ไว้อย่างน่าสนใจว่า...
ตอนนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เปิดใช้ทางคู่สายใต้ ตั้งแต่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ในเส้นทางสายใต้ สามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2567 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชน รวมถึงสามารถขนส่งสินค้าเชื่อมโยงทุกภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย
ทั้งนี้การรถไฟฯ ได้ตรวจสอบความพร้อมของโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วนในเส้นทางสายใต้ ‘ช่วงนครปฐม-หัวหิน’ และ ‘ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์’ รวมถึง ‘ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร’ โดยพบความก้าวหน้าใกล้จะแล้วเสร็จทั้งหมด พร้อมกำหนดเปิดใช้ทางคู่ในช่วงแรก ระหว่างสถานีบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จังหวัดชุมพร รวมระยะทาง 348 กิโลเมตรในช่วงเมษายนนี้ เพื่อช่วยลดเวลาในการเดินทาง เพิ่มความเร็วและความปลอดภัยในการเดินขบวนรถ ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารใช้เวลาในการเดินทางน้อยลง และถึงจุดหมายปลายทางเร็วขึ้น ประมาณ 1.30 ชั่วโมง โดยไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถ เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเดินรถ ทำให้การรถไฟฯ สามารถรองรับขบวนรถได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า
“ตรงนี้ จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางเสมอระดับรถไฟ-รถยนต์ ที่สำคัญรถไฟทางคู่ยังช่วยกระจายโอกาสทางสังคมการเติบโตทางเศรษฐกิจสู่ภูมิภาคต่างๆ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย เป็นการพลิกโฉมการคมนาคมขนส่งระบบรางของประเทศ ให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของภูมิภาคอาเซียน” คุณจิรวัฒน์ กล่าว
ส่วนรถไฟสายใหม่ ‘เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ’ คุณจิรวัฒน์ กล่าวว่า ตอนนี้ได้มีการออกแบบสถานี เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ล้านนาอย่างโดดเด่นสวยงาม สอดคล้องบริบทท้องถิ่น และแหล่งท่องเที่ยว ขณะเดียวกันเส้นทางนี้ ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางรถไฟยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมโยงภูมิภาค และประเทศเพื่อนบ้าน ในการขนส่งสินค้า ฉะนั้นการพัฒนาโครงสร้างอาคารสถานีดังกล่าว จึงเป็นจุดเริ่มต้นอันดีต่อการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ ในแง่ของการสร้างความประทับใจแรกเห็น (First Impression) แก่ผู้ใช้บริการได้อย่างมาก
คุณจิรวัฒน์ ขยายความต่ออีกว่า นอกจากนี้ในส่วนของสถานีเชียงของ ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า ที่จะเชื่อมโยงระหว่างประเทศ เชื่อม ‘ไทย-ลาว-พม่า-จีน’ โดยการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารต่อเนื่องระหว่างประเทศจะเชื่อมโยงผ่านสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 4 รวมถึงยังเป็นสถานีรถไฟโดยสาร และ โรงซ่อมบำรุง ไว้ในที่เดียวกันด้วย ซึ่งถือเป็นจุดประสงค์หลักของโครงการรถไฟสายใหม่ ‘เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ’ สายนี้
ส่วนความคืบหน้าของรถไฟความเร็วสูง ‘สายกรุงเทพ-โคราช’ คุณจิรวัฒน์ เผยถึงความคืบหน้าว่าอยู่ที่ประมาณ 28% โดยอาจจะมีบางส่วนช้าอยู่ในเรื่องของพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน แต่ที่สระบุรี และปากช่องก็เริ่มมีขุดเจาะวางเสาเข็มกันบ้างแล้ว ส่วนการก่อสร้างที่พระนครศรีอยุธยา ยังคงต้องรอข้อสรุปกันอยู่
สำหรับ ‘เส้นทางมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี’ นั้น ในปี 2567 น่าจะได้เริ่มใช้จาก ‘นครปฐม’ ไป ‘กาญจนบุรี’ ก่อน ส่วนเส้นทาง ‘กรุงเทพ-โคราช-บางปะอิน-นครราชสีมา’ นั้น หากมองในส่วน ‘โคราช-ปากช่อง’ ได้เปิดใช้งานมาก่อน และตอนนี้จะเปิดให้บริการแบบ 100% ฟรี เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี
ในส่วนของรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ คุณจิรวัฒน์ กล่าวว่า สายสีม่วงใต้ ‘เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ’ ซึ่งทำเป็นอุโมงค์เสียส่วนใหญ่ และประมาณ 60% วิ่งเข้าเกาะรัตนโกสินทร์ (จะมีการลอดแม่น้ำเจ้าพระยาตรงวงเวียนใหญ่ สะพานพุทธ) มีระยะดำเนินการมาประมาณ 2 ปี พบความคืบหน้าอยู่ที่ประมาณ 22% ซึ่งถือว่าคืบหน้าพอสมควร คาดว่าปี 2570-2571 น่าจะแล้วเสร็จ ส่วนอีกเส้นหนึ่ง คือ สายสีชมพู เปิดบริการ 100% วิ่งผ่าน ‘แจ้งวัฒนะ-มีนบุรี’
ทิ้งท้ายกับ แผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ M-MAP2 ก็ได้มีการวิเคราะห์ลงรายละเอียดไปถึงบ้านเรือนของประชาชนกับที่ทำงาน ว่าจะมีการเดินทางอย่างไร โดยมีการมองภาพกว้างที่ไม่ใช่จำกัดแค่ในกรุงเทพฯ แต่จะครอบคลุมไปถึงปริมณฑลด้วย เพื่อพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อย่างเต็มศักยภาพต่อไป