เปิด ‘8 ลำดับ’ ลูกเรือ JAL​ ช่วยอพยพผู้โดยสารให้รอดทั้งลำ ก่อนเครื่องบินจะจมอยู่ในเปลวเพลิง หลังเกิดเหตุชนกันบนรันเวย์

(5 ม.ค.67) เกียวโดนิวส์ ​รายงาน​ การตัดสินใจอย่างรวดเร็วของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินและความร่วมมือของผู้โดยสาร​ คือปัจจัยสำคัญการอพยพผู้คน 379 คน​ รอดตายจากเครื่องบินเจแปนแอร์ไลน์ที่กำลังลุกไหม้ที่สนามบินฮาเนดะในกรุงโตเกียว เป็นปฏิบัติ​การที่สื่อต่างประเทศเทียบราวปาฏิหาริย์

พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินทั้ง 9 คนเอาชนะอุปสรรคในระหว่างการนำคนออกจากเครื่องบินอย่างฉุกเฉิน​ หลังจากการชนกันบนรันเวย์

อุปสรรคคือ​ ทางออกสามารถใช้งานได้เพียง 3 ใน 8 ทาง ลูกเรือจึงต้องอพยพออกจากลำตัวเครื่องบินสูง 67 เมตรอย่างรวดเร็ว และเนื่องจากระบบการสื่อสารขัดข้อง​ พนักงานต้อนรับจึงสื่อสารข้อมูลกับห้องนักบินได้เพียงจำกัด ตามที่เจ้าหน้าที่ของสายการบินระบุ

“ฉันรู้สึกตกใจเหมือนมีคนเหยียบเบรก จากนั้นฉันก็เห็นเปลวไฟพลุ่งขึ้นนอกหน้าต่าง” ผู้โดยสารรายหนึ่งอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องโดยสารไม่นานหลังจากที่เที่ยวบิน 516 ลงจอดและชนเครื่องบินอีกลำหนึ่งบนรันเวย์เมื่อเวลาประมาณ 5.47 น. บ่ายวันอังคาร

ลำดับแรก พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเรียกร้องให้ผู้โดยสารที่ตื่นตกใจอยู่ในความสงบ ตามขั้นตอนป้องกันความตื่นตระหนกในกรณีฉุกเฉิน

ลำดับที่สอง หลังจากยืนยันรายงานของลูกเรือว่าเครื่องยนต์ด้านซ้ายเกิดไฟไหม้ หัวหน้าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินแจ้งห้องนักบินเพื่ออนุมัติ​คำสั่งให้ดำเนินการอพยพฉุกเฉิน

ลำดับที่สาม พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินประเมินวิธีหลบหนีอย่างรวดเร็ว​ ขณะที่ควันเข้าไปในห้องโดยสารและเด็กๆ เริ่มร้องไห้เพื่อให้ทางออกเปิด พนักงานขอให้ผู้โดยสารหมอบหรือก้มลงให้ชิดพื้นเพื่อหลีกเลี่ยงการสูดควันที่ลอยทั่ว

ลำดับที่สี่​ เมื่อสำรวจพบว่าทางออกทั้งสองที่ด้านหน้าเครื่องบินสามารถใช้งานได้ ลูกเรือก็เริ่มนำผู้โดยสารไปข้างหน้าเพื่ออพยพโดยใช้สไลด์ฉุกเฉิน

ลำดับที่ห้า​ ที่ด้านหลังของเครื่องบิน พนักงานสำรวจด้านนอกพบว่ามีเปลวไฟลุกทางด้านขวา​ เหลือเพียงด้านซ้าย​ทางออกเดียวเท่านั้นที่สามารถใช้งานได้ และยังพอมีพื้นที่เพียงพอบนพื้นสำหรับวางสไลด์ลง

แต่ระบบสื่อสารกับกัปตันบนเครื่องบินไม่ทำงาน ขณะนั้นควันเข้ามาในห้องโดยสารเพิ่มมากขึ้น พนักงานจึงตัดสินใจเปิดทางออกฉุกเฉินด้านหลังซ้ายและปล่อยสไลด์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากห้องนักบิน

ลำดับที่หก​ ทุกเสี้ยววินาทีคือชีวิต นักศึกษาวิทยาลัยจากโตเกียวได้ยินพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเตือนผู้โดยสารคนอื่นๆ อย่าพยายามหยิบสัมภาระออกจากช่องเก็บเหนือศีรษะ พวกเขาปฏิบัติตามและมุ่งหน้าไปยังทางออกอย่างรวดเร็วโดยมีเพียงของใช้ส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ เช่น สมาร์ทโฟน

ลำดับที่เจ็ด ผู้ที่มาถึงพื้นก่อนอย่างปลอดภัยจะช่วยผู้โดยสารคนอื่นๆ ที่อยู่ด้านล่างของสไลเดอร์

ลำดับสุดท้าย กัปตันตรวจดูทุกแถวจากด้านหน้า เพื่อให้แน่ใจว่าผู้โดยสารคนสุดท้ายได้ออกไปแล้ว จึงลงจากทางออกฉุกเฉินด้านหลังเมื่อเวลา 18.05 น. ไม่กี่นาทีก่อนที่เครื่องบินจะจมอยู่ในเปลวเพลิงทั้งลำ

ชิเกรุ ทาคาโนะ อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของสำนักงานการบินพลเรือน กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การหลบหนีเป็นไปอย่างราบรื่นเกิดขึ้นได้ทั้งจากการตอบสนองของลูกเรือและ “ผู้โดยสารที่ให้ความร่วมมือแม้ในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้”