'ลิซ่า-ก้าวไกล' เหน็บงบประมาณ 67 เหมือนยุคลุงตู่ คิดอะไรไม่ออกก็เอาไปสร้างถนน อย่างกับส่งต่ออำนาจกันมา

(5 ม.ค. 67) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วาระแรก ต่อเนื่องเป็นวันสุดท้าย ที่มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม นางสาวภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณจังหวัด ในสัดส่วนของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับสังคม ว่า จากที่ได้อ่านเอกสารงบประมาณ ทำให้รู้ว่าไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรขึ้น หน้าตางบประมาณไทย ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง งบประมาณปี 2567 ปีนี้ ถ้าปิดชื่อนายกรัฐมนตรีที่มาแถลงงบประมาณ ตนนึกว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะงบประมาณปี 2567 ที่ท่านใช้เวลารื้อใหม่มากกว่า 3 เดือน สุดท้ายออกมาอย่างกับ Copy มาวาง เรียกได้ว่า ส่งต่ออำนาจกันอย่างไร้รอยต่อจริงๆ

วิกฤตอยู่ตรงที่ผู้บริหารประเทศ จัดทำงบประมาณแบบนี้ ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาเชิงพื้นที่ อย่าง กรุงเทพฯ รวยกว่าชนบท หัวเมืองใหญ่ได้รับการพัฒนามากกว่าหัวเมืองรอง จนทำให้ประชาชนเข้ามาหาอาชีพ หาโอกาสในเมืองใหญ่ ตนขอตั้งคำถามจัดงบแบบนี้ ว่ามันจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ได้อย่างไร

นอกจากเรื่องเศรษฐกิจ การศึกษาก็สำคัญ เพราะอย่างที่เรารู้กัน ว่า ถ้าการศึกษาดีก็จะได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยดีๆ ได้เรียนคณะดีๆ และจบมามีงานทำดีๆ แต่ถ้าถามว่า การศึกษาที่ดีๆ ของประเทศนี้ไปอยู่ที่ไหน ก็ต้องไปเรียนที่กรุงเทพฯ หรือถ้าใครไม่มีปัญญาไปเรียนที่กรุงเทพฯ ก็ต้องเข้าไปที่หัวเมืองใหญ่ ข้อมูลคะแนน o-net 4 วิชาที่ออกมาล่าสุดในปี 2565 เห็นได้ชัดว่าระหว่างจังหวัดที่ดีที่สุด คือ กรุงเทพฯ กับจังหวัดที่แย่ที่สุดตามพื้นที่ชายแดนอย่าง เช่น จังหวัดนราธิวาส หรือ แม่สอด คะแนน o-net เฉลี่ยของเด็ก ห่างกันถึง 20 คะแนน ซึ่ง 20 คะแนนนี้ มันคือโอกาสของคนคนหนึ่งที่เขาจะได้เข้าศึกษาในระดับที่สูงขึ้น งบประมาณปี 2567 ไม่มีการช่วยแก้ปัญหาช่องว่างทางการศึกษาแม้แต่น้อย

นางสาวภคมน กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งวิกฤตที่คนพูดถึงกันมาก คือ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ในกรุงเทพฯ หมอ 1 คน ดูแลคน 500 คน แต่ที่หนองบัวลำภู หมอ 1 คน ต้องดูคน 4,700 คน ตนฝากถามไปถึงนายกรัฐมนตรีว่าเคยไปโรงพยาบาลที่ต่างจังหวัดหรือไม่ พี่น้องประชาชนหาหมอ ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตี 4 เพื่อรอพบหมอ 10 นาที

“นี่คือวิกฤตที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ชนบทที่พวกเขาต้องเผชิญ ถามว่า สถานการณ์แบบนี้วิกฤต วิกฤตหรือยังคะ วิกฤตที่รัฐบาลอยากให้เป็นกับวิกฤตที่ดิฉันและประชาชนทั้งประเทศรู้สึกอาจจะคนละวิกฤต เพราะวิกฤตแบบที่ดิฉันและประชาชนทั้งประเทศมอง ต้องใช้ความใส่ใจจากผู้บริหาร ไม่ใช่วิกฤต ที่แก้ด้วยการกู้เงินมาแจกแบบที่รัฐบาลอยากให้เป็น” นางสาวภคมน กล่าว

นางสาวภคมน กล่าวต่อว่า ความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาพื้นที่คือวิกฤตใหญ่ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญและเผชิญมาโดยตลอด แต่งบประมาณที่รัฐบาลจัดมาเพื่อพัฒนาในพื้นที่ ไม่มีการจัดสรรงบประมาณ เพื่อกระจายอำนาจเลย แต่เป็นการจัดสรรงบประมาณเพื่อกระชับอำนาจ มองว่างบจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเต็มไปด้วยความซ้ำซ้อน ส่วนเกิน และไม่จำเป็น มีการจัดสรรงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด 23,000 ล้านบาท ที่กำหนดโดยกลไกราชการรวมศูนย์อำนาจแบบที่เป็นอยู่ จะสร้างการพัฒนาที่ก้าวหน้ากว่าสิ่งที่เคยๆ ทำมาได้อย่างไร การแบ่งเค้กงบประมาณ 23,000 ล้านบาทนี้ มีการกำหนดสูตรในการจัดสรรงบประมาณ แต่สูตรที่ท่านจัดสรรนั้นเพื่อให้จังหวัดที่ใหญ่และรวยได้งบประมาณก่อน ยิ่งจังหวัดไหนมีประชากรเยอะ จังหวัดนั้นยิ่งได้รับงบประมาณมาก จังหวัดไหนที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจมาก งบประมาณก็จะเทไปตรงนั้นมาก ส่วนจังหวัดไหนที่ไม่เจริญอยู่แล้ว งบประมาณที่ได้ก็จะจำกัดจำเขี่ย

ตนตั้งคำถามว่า ถ้าจัดงบประมาณแบบนี้ไปอีก 10 ปี 100 ปี เมืองใหญ่ จังหวัดที่เจริญ มันจะไม่ยิ่งเจริญขึ้นเจริญขึ้น ในขณะที่จังหวัดเล็ก จังหวัดห่างไกล จังหวัดที่ขาดแคลน ก็จะไม่ยิ่งขาดแคลนขึ้น ขาดแคลนขึ้น ยังงี้จะไปสุดตรงไหน

“เรียกได้ว่า รัฐบาลเศรษฐาไม่ได้นำเอาความเหลื่อมล้ำเข้ามาเป็นปัจจัยในการจัดสรรงบประมาณ จัดงบแบบนี้ ถ้าท่านเป็นประชาชนท่านอยากไปอยู่จังหวัดไหนคะ ก็ต้องอยากไปอยู่ในหัวเมืองใหญ่ที่ได้รับงบประมาณเยอะ จะอยู่ทำไมเมืองรอง จะอยู่ทำไมที่บ้านเกิดที่รอคอยการพัฒนา ในเมื่อรัฐบาลไม่เคยคิดจะจัดงบมาพัฒนา สรุปได้ว่างบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด มันก็เหมือนเค้กก้อนหนึ่ง ที่เรามีโควต้าจะจัดงบประมาณไปให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด เสมือนเจ้าเมือง ในวิธีคิดของการบริหารราชการแผ่นดินแบบโบราณ” นางสาวภคมน กล่าว

นางสาวภคมน ย้ำว่า งบของจังหวัด คนที่ตัดสินใจใช้ก็คือผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยมีความผูกพันกับจังหวัด อยู่เพียงแค่ปี 2 ปีก็ย้ายไปจังหวัดอื่น และอาจจะไม่มีวัน ได้ย้ายกลับมาที่จังหวัดนั้นอีก เขาจะมีความมุ่งมั่น ความฝันอะไร กับจังหวัดที่เขาเป็นผู้ว่า เขาจะมีความรับผิดชอบอะไรกับการใช้งบประมาณเมื่อเขาเซ็นลายเซ็นแล้วเขาก็จะจากไป

งบประมาณ 23,000 ล้านบาทนี้ มากกว่า 12,000 ล้านบาท หรือ 52% ท่านเอาไปสร้างถนน เงินส่วนใหญ่ของแผนบูรณาการจังหวัดและกลุ่มจังหวัดถูกใช้ไปในการสร้างถนน สะพาน สัญญาณไฟจราจร อีกประมาณ 20% บอกว่าสร้างแหล่งน้ำ แต่ตนเข้าไปดูมีแต่โครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ตัวที่เป็นแหล่งน้ำให้เกษตรกรจริงๆคิดว่ามีไม่ถึง 10% ของ 4 พันล้านบาทนี้ รัฐบาลคิดวิธีการพัฒนาจังหวัด แบบอื่นไม่ออกแล้วหรือ นอกจากการสร้างถนน การสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง

นางสาวภคมน กล่าวด้วยว่า ไม่ได้บอกว่า ถนนไม่สำคัญ แต่ต้องเอาไปทำอย่างอื่นด้วย จะให้มหาดไทยสร้าง จะให้คมนาคมสร้าง หรือจะให้ท้องถิ่นสร้าง หรือจะให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบทสร้าง เอามันสักหน่วยงาน ไม่ใช่ซ้ำซ้อนกันแบบนี้

นางสาวภคมน ระบุว่า งบจังหวัดและกลุ่มจังหวัด คือ หน่วยงานที่อัตราการเบิกจ่ายแย่ที่สุด มีเงินเหลือเบิกจ่ายมากถึง 25% แสดงให้เห็นว่างบประมาณในส่วนนี้ถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ จะเห็นว่าปีหน้า จะมีการชงของบก้อนนี้ เต็มวงเงิน 28,000 ล้านบาท แต่ประสิทธิภาพการเบิกจ่ายทำได้แค่นี้

นางสาวภคมน กล่าวทิ้งท้ายว่า มีแคนดิเดตนายกจากพรรคที่กำลังเป็นรัฐบาลอยู่ตอนนี้ หาเสียงเอาว่า ในปี 2570 เราจะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ จะมีการกระจายอำนาจ บริหารราชการแผ่นดินออกไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น การใช้จ่ายงบประมาณจากภาษีประชาชนจะถูกควบคุมด้วยระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขั้นสูง ให้เงินภาษีประชาชนย้อนกลับไปสร้างความเจริญและความสุขให้กับประชาชนทุกบาททุกสตางค์ รวมทั้งจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่มีความพร้อม ตนก็ไม่รู้ว่าคำกล่าวทั้งหมดนี้เชื่อถือได้หรือไม่ หรือเป็นเพียงเทคนิคการหาเสียง เพราะสิ่งที่เราได้รับจากรัฐบาลเศรษฐาตลอด 3 เดือน ไม่มีอะไรใกล้เคียงกับทิศทางนั้นเลย