‘ชัยธวัช’ ชี้!! งบ'67 เบี้ยหัวแตก ไร้ยุทธศาสตร์ ไม่มีเป้างานชัดเจน  สะท้อน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เป็นเพียงรัฐบาลเพื่อแบ่งปันอำนาจ 

(3 ม.ค.67) ในการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วันแรก ซึ่งพรรคก้าวไกลกำหนดธีมในการอภิปรายครั้งนี้ว่า ‘วิกฤตแบบใด? ทำไมจัดงบแบบนี้’ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้อภิปรายคนแรกจากพรรคก้าวไกล กล่าวถึงภาพรวมการจัดทำงบประมาณ 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาทของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ว่าเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ ไร้ยุทธศาสตร์ ไม่มีลำดับความสำคัญ เหมือนรัฐบาลทำงานอย่างไม่มีวาระเป้าหมายชัดเจน

ชัยธวัช ระบุว่า ย้อนไปวันที่ 11 กันยายน 2566 นายกฯ แถลงนโยบายต่อรัฐสภา บอกว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองภายในประเทศ สถานการณ์ของประเทศวันนี้มี 3 วิกฤตสำคัญ คือ (1) วิกฤตรัฐธรรมนูญ (2) วิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน (3) วิกฤตความขัดแย้งในสังคม นายกฯ บอกว่าเพื่อแก้ปัญหา สร้างความพร้อม และวางรากฐานอนาคตให้กับคนไทยทุกคน รัฐบาลมีกรอบนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศตามกรอบความเร่งด่วน 

กรอบระยะสั้น รัฐบาลอ้างว่ามีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกายให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง ประกอบกับการเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนอย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว กรอบระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลจะเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชน ผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้กับประชาชนทุกคน

ในวันนั้นพรรคก้าวไกลได้อภิปรายท้วงติงไว้ว่า นโยบายของรัฐบาลไม่เหมือนกับที่เคยหาเสียงเอาไว้ ไม่มีความชัดเจน ไม่มีรูปธรรมที่จับต้องได้ ซึ่งนายกฯ ก็บอกปัดเลี่ยงตอบว่าให้รอดูแผนรายกระทรวง จะมีความชัดเจนแน่นอน แต่เมื่อตามไปดูแผนรายกระทรวง กลับพบปัญหาเต็มไปหมด ไม่เป็นไปตามการอ้างของนายกฯ แม้แต่น้อย

เนื้อหาของแผนรายกระทรวง ไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ไม่สามารถวัดความสำเร็จของนโยบายได้จริง หรือไม่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายทางนโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้ หลายโครงการพบว่าเป็นโครงการเดิม ๆ ที่กระทรวงทำอยู่แล้วทุกปี เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ บ้างก็แอบยัดโครงการประจำของกระทรวงเข้ามา แล้วสวมรอยเป็นหนึ่งนโยบายที่รัฐบาลจะทำ สร้างความสะเปะสะปะกันระหว่างสิ่งที่รัฐบาลจะทำกับสิ่งที่เป็นงานประจำที่หน่วยงานทำอยู่แล้วทุกปี

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลไม่ได้โทษหน่วยงานราชการ เพราะการบริหารบ้านเมืองให้บรรลุเป้าหมายในเชิงยุทธศาสตร์เรือธงของรัฐบาล รัฐบาลเองที่ต้องเป็นผู้นำ เพื่อให้ข้าราชการเป็นผู้ตามในการสนองนโยบายอย่างมีทิศทาง

ทั้งนี้ ก่อนเสนอร่าง พ.ร.บ.งบฯ ในวันนี้ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ครม. ได้มีมติสั่งทบทวน พ.ร.บ. งบ 67 ใหม่ทั้งหมด พร้อมทั้งปรับปรุงแนวทางการจัดทำงบประมาณ และปรับปรุงยุทธศาสตร์ในการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งใช้เวลากว่า 3 เดือนในการปรับปรุง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ แต่สุดท้ายกลับพบว่าหน้าตาของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ กลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญใดๆ

ในวันแถลงนโยบาย นายกฯ บอกว่ารัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนซึ่งควรสะท้อนอยู่ในร่าง พ.ร.บ. งบประมาณนี้ แต่กลับต้องผิดหวัง เช่น การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน แต่ถ้าดูเนื้อใน จะพบว่าเป็นการจัดสรรงบประมาณที่ไม่ได้ตอบโจทย์จริงๆ แม้หัวข้อสวยหรู แต่ไส้ในตอบไม่ได้ว่าจะบรรลุเป้าหมายทางนโยบายอย่างไร ลักษณะเช่นนี้เกิดเต็มไปหมดในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้

เช่นเดียวกับนโยบายเร่งด่วนในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน งบประมาณเพื่อชดเชยหนี้ให้ กฟผ. จากนโยบายลดค่าไฟ ก็ไม่ได้ถูกตั้งเอาไว้ หรือนโยบายเร่งด่วนที่บอกว่าจะให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งน่าจะต้องทำประชามติถึง 1-2 ครั้งในปีนี้ รัฐบาลก็ไม่ได้ตั้งงบเอาไว้รอ กกต. ของบไป 2,000 ล้านบาท แต่ได้มาแค่ 1,000 ล้านบาท  

ส่วนนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งตอนแถลงนโยบายบอกว่าจะไม่กู้ จะบริหารจากงบปกติ แต่วันนี้ชัดเจนแล้วว่าไม่มีการตั้งงบใดๆ ไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบ 67 ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลต้องรอว่าจะสามารถเสนอ พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท เข้าสู่สภาฯ ได้หรือไม่

ถ้าดูภาพรวม ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3,480,000 ล้านบาท จะพบว่าเป็นงบเบี้ยหัวแตก สะเปะสะปะ ไม่มียุทธศาสตร์ เหมือนทำงานอย่างไม่มีวาระเป้าหมายชัดเจน 

หลายเรื่องหน้าปกอาจจะดูดี แต่พอเข้าไปดูไส้ใน พบว่าไม่ได้ยึดโยงกับเป้าหมายทางนโยบาย ส่วนใหญ่เป็นโครงการเดิมๆ แต่เอามาเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนปกใหม่แบบมั่วๆ โครงการเก่าๆ เดิมๆ จับมาโยงกับเป้าหมายใหม่ แถมนับรวมทุกรายจ่ายแล้วเคลมว่าเป็นงบสำหรับการลงทุนใหม่ ที่ชอบทำกันมากที่สุด คืองบตัดถนน กลายเป็นงบโครงการวิเศษที่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกยุทธศาสตร์แบบงงๆ

มีโครงการที่ถูกริเริ่มขึ้นใหม่ เพียง 200 โครงการ จากทั้งหมด 2000 โครงการ ซึ่งโครงการใหม่ส่วนใหญ่ก็ได้ริเริ่มมาบ้างแล้วก่อนที่จะมีรัฐบาลนี้ด้วยซ้ำ โดยเป็นโครงการที่หน่วยงานราชการเสนอขึ้นมา ไม่ใช่การผลักดันเพื่อขับเคลื่อนวาระใหม่ของรัฐบาล ดังนั้น เราพบว่าการผลักดันโครงการใหม่ที่สะท้อนวาระของรัฐบาลจริงๆ จึงมีน้อยมาก 

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่น เช่น คาดการณ์รายได้เกินจริง เกินไปมากถึงประมาณหนึ่งแสนล้านบาท ทำเช่นนั้นก็เพื่อที่จะเพิ่มแผนรายจ่ายให้ได้สูงขึ้นนั่นเอง แต่ขณะเดียวกัน รายการที่รัฐบาลต้องจ่ายจริงๆ กลับตั้งงบประมาณหรือคาดการณ์ไว้อย่างไม่เพียงพอ เช่น บำเหน็จบำนาญ เงินเดือนราชการ งบสวัสดิการต่างๆ ซึ่งวิธีการนี้ ถอดแบบความักง่ายมาจากรัฐบาลที่แล้วที่ทำแบบนี้เช่นกัน สุดท้ายจึงต้องตั้งงบประมาณรายจ่าย เพื่อชดเชยใช้หนี้เงินคงคลังในภายหลัง 

หลายนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ หายไปอย่างไร้ร่องในงบฯอปีนี้ นโยบายเพิ่มเงินเดือนราชการ 10% ค่าชดเชยภาษีรถไฟฟ้า (EV) ค่าไฟชดเชยหนี้ กฟผ. จากนโยบายลดค่าไฟ งบซอฟต์พาวเวอร์ที่โฆษณาไว้ว่าจะตั้งงบกว่า 5,000 ล้านบาท ก็ไม่เห็นในงบฉบับนี้ รายจ่ายที่ไม่ได้ตั้งงบไว้พวกนี้ รวมๆ แล้วไม่น่าจะน้อยกว่า 1 แสนล้านบาท สุดท้ายก็ต้องปัดไปเป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังในปีถัดไป สุดท้ายก็จะไปใช้เงินจากงบกลาง ทุกอย่างโยนไปใช้งบกลาง รัฐบาลที่แล้วก็ทำแบบนี้

ด้วยสภาพเช่นนี้ เราจึงมองไม่เห็นวาระเป้าหมายของรัฐบาลผ่านการจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณฉบับนี้

อย่างไรก็ตาม การจะบรรลุนโยบายเป้าหมายนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเยอะเสมอไป บางเรื่องเป็น non-budget policy ได้ 

“อย่างเช่น รัฐบาลแถลงนโยบายเร่งด่วนว่า จะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) แต่วันนี้ไม่แน่ใจแล้วว่า รัฐบาลกำลังจะทำให้สถานการณ์เรื่องระบบนิติธรรมนิติรัฐย่ำแย่ลงไปอีกหรือเปล่า เพราะสังคมกำลังถูกตอกย้ำให้ยอมรับกระบวนการยุติธรรมแบบสองมาตรฐาน ถูกตอกย้ำว่าเราต้องยอมรับอยู่ในระบบกฎหมายหรือเรือนจำที่มีไว้ใช้สำหรับประชาชนสามัญที่ไม่ได้มีอำนาจ บารมี หรือฐานะเงินทองเท่านั้น” ชัยธวัชกล่าว

ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวว่า ตลอด 3 วันนี้ เพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกลและพรรคฝ่ายค้านทั้งหมด จะอภิปรายแจกแจงชำแหละให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าทำไมร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฉบับนี้ถึงมีปัญหาอย่างที่กล่าวมา แต่ตนอยากทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ปัญหาของ พ.ร.บ.งบประมาณ ยังสะท้อนปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น 

กล่าวคือ ที่เรามองไม่เห็นวาระเป้าหมายของรัฐบาลผ่านการจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณฉบับนี้ สะท้อนให้เห็นว่า เอาเข้าจริงแล้ว รัฐบาลชุดนี้เป็นเพียงรัฐบาลรวมการเฉพาะกิจ ที่ไม่ได้มีวาระเป้าหมายทางนโยบายที่จะขับเคลื่อนร่วมกัน เป็นการรวมการเฉพาะกิจเพื่อแบ่งปันอำนาจกัน แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ชั่วคราว

เราจึงเห็นการจัดตั้ง ครม. แบบผิดฝาผิดตัวเต็มไปหมด เพราะไม่ได้แบ่งงานกันตามวาระเป้าหมาย แต่แบ่งกันตามโควตาทางการเมือง วางเจ้ากระทรวงไม่ถูกกับงาน พรรคแกนนำรัฐบาลไม่ได้วางคนบริหารกระทรวง กรม หรือหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเรือธงอย่างบูรณาการ 

เราจึงเห็นการแถลงนโยบายของรัฐบาล การกำหนดแผนงานรายกระทรวง ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณอย่างที่ได้กล่าวมา วันนี้จากที่เคยบอกว่า “คิดใหญ่ทำเป็น” บางวันก็กลายเป็น “คิดไปทำไป”, “คิดสั้นไม่คิดยาว” หรือไม่ก็ “คิดอย่างทำอย่าง” 

หากการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้จะมีวาระร่วมกันจริงๆ ตนเห็นว่าคงเป็นวาระเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตทางอำนาจของชนชั้นนำ เพราะสภาวะการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลชุดนี้ ได้แสดงออกอย่างโจ่งแจ้งว่านี่เป็นการรวมตัวกันเพื่อรักษาสภาวะเดิมของสังคมไทยเอาไว้ 

เป็นการรวมตัวกันเพื่อพยายามฝืนทวนความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เป็นการรวมตัวกันเพื่อปกป้องพลังทางสังคมแบบจารีต และต่อต้านพลังทางสังคมใหม่ๆ ที่ต้องการอนาคตที่ดีกว่านี้

ชัยธวัชทิ้งท้ายว่า ก่อนการรัฐประหาร 2549 สังคมไทยได้มีโอกาสเห็นความพยายามของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและดูจะเป็นความหวังแห่งการเปลี่ยนแปลง ผู้นำทางการเมืองในขณะนั้นเล็งเห็นว่า หากประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้ากว่านี้ได้ จำเป็นต้องปฏิรูประบบรัฐราชการ รวมถึงกระบวนการกำหนดนโยบายและระบบงบประมาณ ที่เดิมล้าสมัยและไม่มีประสิทธิภาพ

เราจึงได้เห็นความพยายามที่จะเปลี่ยนระบบงบประมาณ ที่เดิมงบประมาณส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของระบบราชการในกระทรวงต่างๆ มาเป็นระบบงบประมาณที่มุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล

ทว่าหลังการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา รัฐราชการและชนชั้นนำจารีตได้กลับมาควบคุมสังคมไทยอีกครั้ง เราไม่เห็นเจตจำนงและความพยายามของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในการปฏิรูปรัฐไทยอย่างจริงจังอีกเลย เพราะพลังทางการเมืองที่เคยเป็นพลังใหม่ เคยเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันกลับเข้าไปร่วมสมาคมเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจเก่าแล้ว

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่เรากำลังพิจารณาอยู่นี้ ก็สะท้อนสภาวะทางการเมืองที่เป็นจริงดังว่า เราในฐานะฝ่ายค้าน สุดท้ายอยากสื่อสารไปยังรัฐบาล ว่าเราไม่สามารถอยู่กันแบบเดิมๆ ได้อีกแล้ว รัฐบาลทราบดี หลังรัฐประหาร 2 ครั้ง รัฐราชการรวมศูนย์ของไทยกลับมาเติบโตขยายตัว รวมศูนย์มากขึ้น ดูเฉพาะงบรายจ่ายบุคลากรภาครัฐในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แทนที่รัฐจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เรากลับมีบุคลากรภาครัฐเพิ่มขึ้นถึง 500,000 คน มีภาระรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรภาครัฐ 40% ของงบรายจ่ายประจำปี 

ชัยธวัชกล่าวว่า เราไม่สามารถเดินไปสู่อนาคตที่ดีกว่านี้ หากไม่พยายามปฏิรูปรัฐไทยและระบบงบประมาณอย่างจริงจัง พวกเราในฐานะฝ่ายค้าน ไม่อยากเห็น พ.ร.บ.งบประมาณที่เหมือนเดิม ที่ไม่เปลี่ยนแปลงแบบนี้อีกในครั้งต่อไป แม้เป็นฝ่ายค้าน เราพร้อมสนับสนุนรัฐบาลในการปฏิรูประบบราชการและระบบงบประมาณ เพราะเรื่องนี้สำคัญต่อการสร้างอนาคตร่วมกันของพวกเรา

“3 วันต่อจากนี้ พวกเราฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนราษฎรอย่างสร้างสรรค์และซื่อตรงต่อผลประโยชน์ของประชาชน ขอให้ฝ่ายบริหารเปิดใจรับฟังข้อวิจารณ์และข้อเสนอแนะ โดยหวังว่าการพิจารณางบประมาณของสภา จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด แม้เราจะผิดหวังกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ฉบับนี้ อย่างถึงที่สุดก็ตาม” ชัยธวัช กล่าว