หวนสู่แผ่นดินเกิด ‘ทักษิณ ชินวัตร’ กลับไทยในรอบ 17 ปี

เป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษที่สื่อไทยหลายสำนัก กล่าวขานชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ หรือ ‘โทนี่ วู้ดซัม’ พร้อมด้วยคำขยายว่า ‘ผู้ลี้ภัยทางการเมือง’ และบ่อยครั้งที่มีชื่อนี้ปรากฏในหน้าสื่อ มักจะมาพร้อมกับคำวิพากษ์วิจารณ์ถึง ‘พฤติกรรม’ ในอดีต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย ที่ส่อไปในทางไม่ดี และเป็นภัยต่อประเทศไทย

เหตุของผลลัพธ์ที่กินเวลากว่า 17 ปีนี้ เกิดจาก ‘พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน’ ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ขณะทำภารกิจให้ประเทศไทยในการเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

สาเหตุของการทำรัฐประหารในครั้งนี้มีหลายประการด้วยกัน ดังนี้

1.ทักษิณ (พรรคไทยรักไทย) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบวาระ 4 ปี (เลือกตั้ง 6 มกราคม พ.ศ. 2544) โดยไม่มีเหตุขัดข้องทางการเมือง (ลาออก ยุบสภา หรือถูกรัฐประหาร) และครบวาระเมื่อ 5 มกราคม 2548

2.ในการเลือกตั้ง 2548 พรรคไทยรักไทย ได้เก้าอี้ สส. รวม 377 ที่นั่ง ทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้

3.เนื่องจากเป็นรัฐบาลพรรคเดียว และมีปัญหาในการบริหารประเทศอยู่บ่อยครั้ง แต่ฝ่ายค้านไม่สามารถถอดถอน นายกฯ และ ครม. ชุดนี้ได้ เพราะเสียงโหวตไม่เพียงพอ

4.ด้วยความมั่นอกมั่นใจในฝีมือและฐานเสียงที่หนุนหลัง ทำให้การดำเนินงานหลายอย่างสุ่มเสี่ยง เข้าข่ายผิดกฎหมาย และขัดต่อความรู้สึกของสังคม

5.การขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น 49.595% ให้กับกองทุนเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ (ปี 2549) ซึ่งขัดต่อสถานะนายกรัฐมนตรีหลายประการ รวมถึงไม่มีการเสียภาษี จนทำให้คนไทยบางกลุ่มไม่พอใจ

ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้ เมื่อผสมรวมกันแล้วก็เกิดเป็นมวลความเกลียดชังขึ้นในสังคม มีการออกมาเรียกร้องให้จ่ายภาษีตามกฎหมาย ลามไปจนถึงการตั้งกลุ่ม ‘พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ หรือม็อบเสื้อเหลือง เพื่อออกมาขับไล่ ต่อต้าน ‘ทักษิณ ชินวัตร’

เรื่องราวต่าง ๆ บานปลายจนถึงขั้นมีการทำรัฐประหาร และหลังจากนั้น นายทักษิณก็เดินทางกลับมาประเทศไทย (28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551) และได้สร้างภาพจำจารึกไว้ให้คนไทยด้วยการ ‘ก้มกราบแผ่นดิน’ แต่หลังจากนั้นเพียง 5 เดือนก็ขออนุญาตศาลฯ เดินทางออกนอกประเทศ และไม่กลับมายังประเทศไทยอีกเลย 

นายทักษิณใช้ชีวิตอยู่ในหลายประเทศ และเคยออกมาประกาศว่าจะกลับบ้านกว่า 20 ครั้ง ทว่าก็ไม่เคยมีครั้งไหนเกิดขึ้นจริง 

แต่เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566 นายทักษิณ ได้ปรากฏตัวครั้งแรกในรอบ 17 ปี ที่สนามบินดอนเมือง และสร้างภาพประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยการเข้าถวายบังคมที่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 ก่อนจะออกมาโบกมือทักทายคนเสื้อแดงที่มารอต้อนรับ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปยังศาลฎีกา และเข้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ตามกระบวนการทางกฎหมาย

การกลับมาในครั้งนี้ เหมือนจะมี ‘นัยสำคัญ’ บางอย่างที่ไม่มีใครล่วงรู้ นอกเสียจากคนใกล้ชิดเท่านั้น เพราะ ‘บังเอิญ’ ตรงกับวันที่ ‘นายเศรษฐา ทวีสิน’ ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของไทยพอดิบพอดี จนหลายคนเชื่อว่ามี ‘ดีลลับ’ เกิดขึ้นแน่นอน

จะอย่างไรก็ตาม จนถึง ณ ตอนนี้ ‘การเมืองไทย’ และ ‘คนไทย’ ก็ยังก้าวไม่พ้นชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ