‘จตุพร’ ชี้!! การเมืองปี 66 เป็นปีแห่งการตลบตะแลง ตระบัดสัตย์ไร้ยางอาย จับตา!! ทิศทางการเมือง 3 เดือนแรก ปี 67 ส่อชิงเหลี่ยม-เฉือนคมรุนแรง

‘จตุพร’ ฟาดนักการเมืองส่งท้ายปี 66 ยังส่อนิสัยโกหก กะล่อน ตระบัดสัตย์สิ้นยางอาย คาดสัญญาณเปลี่ยนเริ่มเห็นร่องรอยใน 3 เดือนแรกปี 67 ปนเปด้วยปัญหาทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ขย่มอารมณ์สงสัยดีลฟ้าใส เอื้ออภิสิทธิ์ชน จับตาก่อน สว.พ้นอำนาจ ส่อหักโค่น ชิงเหลี่ยมกันรุนแรง

(29 ธ.ค. 66) นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ส่งท้ายปี 2566 ว่า เป็นปีที่นักการเมืองแสดงความหน้ามึน ด้านชาออกมา มีทั้งโกหก ตลบตะแลง ตระบัดสัตย์แต่อ้างประชาชนอย่างสิ้นยางอาย ดังนั้น ในปี 2567 ปัจจัยเปลี่ยนการเมืองจะส่งสัญญาณตั้งแต่ใน 3 เดือนแรก โดยเริ่มจากร่องรอยของศาล รธน.นัดตัดสิน 3 คดีสำคัญใน ม.ค. 2567

นายจตุพร กล่าวว่า การเมืองปี 2566 เป็นปีแห่งการโกหก ตลบตะแลง ตระบัดสัตย์ ไม่มีความตรงไปตรงมา ส่วนในปี 2567 จะเป็นปีเริ่มต้นทำความจริงให้ปรากฏอันเป็นผลจากการโกหกแต่ละเรื่อง เมื่อการเมืองมีอะไรซ้อนทับมากกว่าที่จะแลเห็นได้เป็นปกติ ดังนั้น ปี 2567 จะเน้นการวิเคราะห์พวกตลบตะแลงทางการเมือง

อีกทั้งชำแหละการจัดตั้งรัฐบาลในปี 2566 ว่า การวิเคราะห์พวกกล่อนทางการเมืองนั้น ย่อมยากจะหาความจริงได้ถูกต้องทั้งหมด เหตุนี้ จึงต้องพยายามคลี่คลายหาผลของการดีลทุกอย่างที่เกิดขึ้นในปี 2566 ให้พบ ซึ่งทำความสมดุลให้เกิดขึ้นกับความรู้สึกของสังคมด้วย

“การดีล (ทักษิณ ชินวัตร กลับบ้านและตั้งรัฐบาลเพื่อไทย) ที่ได้ประโยชน์กันนั้น แต่ประชาชนเสียความรู้สึก ในซีกของผู้มีอำนาจรัฐบาลอาจจะสมประโยชน์ ถ้าประชาชนเสียความรู้สึกแล้วไปกระทบจิตใจในระยะยาวและขยายกว้างขึ้น แม้วันนี้ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่อะไรถ้าประชาชนเห็นว่ามากไป ประวัติศาสตร์สอนถึงการลุกฮืออย่างรวดเร็วของประชาชนมามากแล้ว”

นายจตุพร กล่าวว่า กรณีคดีของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกฟ้อง สะท้อนถึงผลแนวโน้มจะกลับบ้านด้วยเช่นกัน แต่ยิ่งลักษณ์ ยังมีคดีที่มีคำพิพากษาโทษเด็ดขาด 5 ปีอยู่ สิ่งสำคัญในการจัดลำดับกลับไทย ที่ทักษิณ นำร่องมาแล้ว โดยไม่ต้องติดคุกสักวัน หากยิ่งลักษณ์ ทำตามก็จะเป็นเรื่องใหญ่ในอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน

อีกทั้งยังกล่าวว่า หากยิ่งลักษณ์ รอให้ทักษิณ ออกจาก รพ.ตำรวจ ชั้น 14 เพื่อกลับบ้าน แล้วจึงกลับมา ยิ่งจะทำให้ทั้งทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ต้องติดกับความไม่พอใจของประชาชน อย่างไรก็ตาม ในทางการเมืองเหตุการณ์เช่นนี้ จะมีการดีลกันเป็นตอนๆ ตามแต่ละเรื่องที่แต่ละฝ่ายต้องการ ดังนั้น สถานการณ์ปี 2567 จึงต้องติดตามใกล้ชิด

นอกจากนี้ ในปี 2567 คดีเกี่ยวกับนักการเมืองจะมีอยู่มากมาย ที่น่าสนใจ คือ ศาล รธน.นัดอ่านคำวินิจฉัยใน ม.ค. ถึง 3 กรณีใหญ่ๆ ที่นักการเมืองพัวพันอยู่ ทั้งคดีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กรณีหุ้นไอทีวี และการชี้ขาดคดีพรรคก้าวไกลล้มล้างการปกครอง กรณีหาเสียงแก้ ม.112

รวมถึง การสิ้นสุดอำนาจของ สว.ในกรณีโหวตเลือกนายกฯ ตั้งแต่กลาง พ.ค. 2567 ดังนั้น ถ้านายเศรษฐา ทวีสิน อยู่รอดจนถึง สว.ปัจจุบันหมดอำนาจไป จึงต้องมาคำนวณปัจจัยดีลทางสถานการณ์ทางการเมืองใหม่อีกครั้ง

“เราจึงคาดกันว่า ถ้าเห็นร่องรอยในการเปลี่ยนแปลงแล้ว ต้องลงมือก่อนจะเกิดการยุบสภา อีกอย่างการยุบก้าวไกลยิ่งทำให้พรรคนี้เติบโตสูงขึ้น รวมทั้งผลการดีล 22 ส.ค. 2566 นั้นจะสิ้นสุดลงเมื่อใด เพราะผลการดีลจะบ่งชี้ถึงการไม่รอ สว.ให้หมดวาระ แต่จะลงมือการเปลี่ยนแปลงกันก่อน เนื่องจากต้องการเสียง สว.มาควบคุมสถานการณ์ต่างๆ เอาไว้ในมืออีก”

นายจตุพร กล่าวว่า ถ้าต้องการเปลี่ยนนายกฯ แล้ว ย่อมเกิดขึ้นก่อนเวลา 2 เดือนที่ สว.จะครบวาระคือในเดือน มี.ค.กับ เม.ย. ดังนั้น ถ้าเปลี่ยนตัวนายกฯ แล้ว นายเศรษฐา จัดเป็นนายกฯ ที่ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินเลย ซึ่งจะเป็นความแปลกประหลาดมาก

อย่างไรก็ตาม งบประมาณ 2567 กว่าจะเข้าสภาและผ่านออกมาจะเหลือเวลาใช้ประมาณ 5 เดือนนับตั้งแต่ พ.ค. 2567 จึงเป็นความผิดปกติเช่นเดียวกับที่มาของรัฐบาลและตำแหน่งนายกฯ ที่ สว.โหวตให้นายเศรษฐา ชนิดที่ไม่มีใครคาดคิดกันเลย ดังนั้น สิ่งนี้จะอยู่ในกระบวนการดีลฟ้าใส ตกลงกันไว้หรือไม่

“ในปี 2567 ตั้งแต่ ม.ค. ต้องติดตามการตัดสินคดีนักการเมืองในศาล รธน.และการเคลื่อนไหวต่างๆ รวมทั้งการแก้ รธน. และการนิรโทษกรรม จะว่ากันอย่างไร ยิ่งที่มา สว. 100 จะมีการแต่งตั้ง 23 คน ซึ่งเอาเปรียบประชาชนที่เลือกตั้งมา ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหามากมาย”

นายจตุพร กล่าวว่า กรณีนักโทษรักษาตัวอยู่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ และกล้องวงจรปิดทุกตัวของ รพ.ตำรวจพร้อมใจกันเสีย สิ่งนี้จะสะสมอารมณ์สงสัยของประชาชนมากขึ้น ดังนั้น คาดว่าภายใน 3 เดือนของปี 2567 ตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค.จะได้เห็นทิศทางการเมืองกันมากมาย โดยมีปัจจัยแปรสำคัญคือ นายกฯ ยังจะชื่อ ‘นายเศรษฐา’ หรือไม่ ขณะที่ยิ่งลักษณ์จะกลับเข้ามาอย่างไร ทั้งหมดนี้ จะเป็นเหตุการณ์ประเดประดังในปีหน้าทั้งสิ้น

นายจตุพร กล่าวว่า การแก้ รธน.ยกเว้นหมวด 1 กับ 2 ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยากมาก และใครคิดทำก็จะเกิดปัญหาตั้งแต่ต้น ส่วนสาระที่เป็นแก่นสารในการแก้ไขนั้น อำนาจจะเป็นของประชาชนจริงหรือไม่ ด้วยการกำหนดที่มาของ สสร.ไปร่าง รธน. ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแท้จริงของประชาชน อีกทั้งยังป้องกันการยึดอำนาจไม่ได้ ดังนั้น กระบวนการนำไปสู่การแก้ รธน. ย่อมเป็นการสูญเสียงบประมาณนับหมื่นล้านบาท

อีกทั้งเชื่อว่า รัฐบาลใช้เทคนิคการร่าง รธน.เพื่อเอื้อให้อายุรัฐบาลครบวาระ โดยมุ่งแก้ รธน.ไม่เสร็จก็เลือกตั้งใหม่ไม่ได้ หากเขียน รธน.เสร็จแล้วเพิ่มเนื้อหาดึงเวลาการเลือกตั้งอีกด้วย จึงขยับอายุรัฐบาลอยู่ได้นานขึ้น

นายจตุพร กล่าวถึงการสลับหน้าที่รองนายกฯ คุมงานว่า การให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค จากพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) มาคุมงานยุติธรรม แทนนายสมศักดิ์ เทพสุทิน จาก เพื่อไทย โยกไปดูแลงานสาธารณสุขนั้น แสดงถึงต้องการแยกปัญหาของทักษิณ ชั้น 14 ไปให้พรรค รทสช.อธิบายแทนเพื่อไทย จะได้ผลดีและน่าเชื่อถือมากกว่า

“ส่วนเพื่อไทยก็ลอยตัวในปัญหาทักษิณยังอยู่ รพ.ตำรวจต่อไปได้ พร้อมกับคนมาใหม่คือ ยิ่งลักษณ์ เมื่อได้นักกฎหมายมาอธิบายประชาชนย่อมทำให้ผ่อนคลายอารมณ์ลงได้ ดังนั้น การเปลี่ยนหน้าที่รองนายกฯ จึงเป็นการบริหารอารมณ์ประชาชนไม่ให้ลุกลามขยายวงกว้างออกไป”