‘อ.เดชา’ แนะ!! ควรเพิ่ม ‘คุณภาพ’ เด็กเกิดใหม่-ผู้สูงอายุ มุ่งปั้นให้เป็นกำลังของชาติ เพื่อชดเชยยอดเกิดที่ลดลง
(27 ธ.ค.66) นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ เจ้าของสูตรน้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) โพสต์เนื้อหาและรูปบนเฟซบุ๊กว่า คงรู้จัก ‘คิม จองอึน’ ผู้นำเกาหลีเหนือกันดีนะครับ เพราะเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ เรื่องขยันยิงขีปนาวุธ (จรวด) ทดสอบ โดยไม่เกรงกลัวใคร แต่มีภาพด้านล่างที่เขาร้องไห้ คงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ทำให้เขาสะเทือนใจมาก
ปรากฏว่า เป็นการขอความเห็นใจ จากแม่บ้านชาวเกาหลีเหนือ ให้ช่วยเพิ่มประชากร แสดงว่า ประชากรประเทศเกาหลีเหนือกำลังลดลง เหมือนอีกหลายประเทศ และ ‘คิม จองอึน’ เป็นห่วงเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ จนถึงกับหลั่งน้ำตาในที่สาธารณะ
แม้จะเป็นการแสดงความอ่อนไหว ไม่สมกับภาพลักษณ์อันแข็งกร้าว ที่มีมาโดยตลอด แสดงว่า การลดลงของประชากรเกาหลีเหนือ เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย สำหรับเขาจริงๆ
หันมาดูสถานการณ์ ประชากรในประเทศไทย ในช่วงปีที่ผ่านมาบ้าง ประชากรไทย เริ่มลดลงมาหลายปีแล้ว และลดลงมากขึ้นอย่างน่าวิตก เช่นในปี 2566 นี้ ควรจะมีเด็กไทยเกิดใหม่ 7 แสนคน แต่เกิดจริง เพียง 5 แสนคนเท่านั้น
นายกรัฐมนตรีไทย ก็ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ แต่ดูจะไม่เห็นเป็นเรื่องร้ายแรงเท่าไหร่นัก สู้เรื่องแจกเงินดิจิทัล คนละ 1 หมื่นบาท หรือเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้
ผมเชื่อว่าแนวโน้มการลดลงของประชากรไทยนั้น มีแต่เพิ่มขึ้น แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว และจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นก็หยุดไม่ได้เช่นเดียวกัน
สิ่งที่น่าทำเป็นนโยบายก็คือ เพิ่มคุณภาพของเด็กเกิดใหม่ เพื่อชดเชยกับปริมาณที่ลดลงและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ให้ลดการเป็นภาระ มาเป็นกำลังของชาติให้มากขึ้นน่าจะเป็นไปได้มากกว่าการพยายามเพิ่มจำนวนเด็กเกิดใหม่ และลดจำนวนผู้สูงอายุ
เด็กที่เกิดน้อยลงนั้น ทำให้เพิ่มคุณภาพของเด็กได้ โดยใช้งบประมาณเท่าเดิม ส่วนการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ให้ทำงานเป็นกำลังของชาติได้มากขึ้น ก็ทำได้จริง เพราะผมเอง ปัจจุบันอายุ ใกล้ 76 ปีแล้ว ยังทำงานเป็นปกติ และมีคุณภาพดีกว่าแต่ก่อนหากผมทำได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีใครช่วย ถ้ารัฐบาลจะช่วยผู้สูงอายุ ก็คงไม่ยากอะไร
ผมยินดีให้คำปรึกษา จากประสบการณ์ตรง โดยไม่คิดมูลค่าใดๆ เพราะผมทำอยู่แล้ว อย่าเลียนแบบ ‘คิม จองอึน’ ให้เสียน้ำตา โดยไม่ได้ประโยชน์เลย แทนที่จะฝืนความจริง โดยพยายามเพิ่มจำนวนเด็กเกิดใหม่ (ซึ่งไม่มีทางสำเร็จ) หันมาเพิ่มคุณภาพของเด็กเกิดใหม่ และผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทุกวัน จะเป็นประโยชน์มากกว่า