‘เศรษฐา-สุริยะ’ เยือนสหรัฐฯ ลุยโรดโชว์ ‘แลนด์บริดจ์’ ดึงนักธุรกิจต่างชาติร่วมทุน ดันเส้นทางขนส่งแห่งใหม่ระดับภูมิภาค
เมื่อวานนี้ (11 พ.ย.66) นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 12 พ.ย. ซึ่งก็คือวันนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 (2023 APEC Economic Leaders’ Meeting) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 12-19 พฤศจิกายน 2566 ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
การเข้าร่วมการประชุมฯ ของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เป็นโอกาสเพื่อนำเสนอนโยบาย สร้างความเชื่อมั่น รวมถึงสานต่อผลลัพธ์ของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 โดยยังจะเป็นโอกาสให้ได้พบหารือเพื่อสร้างความร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจเอเปค และภาคเอกชนเอเปค โดยประเด็นที่ไทยผลักดัน อาทิ
1.การค้าการลงทุน ย้ำความมุ่งมั่นต่อระบบการค้าพหุภาคีที่มีองค์การการค้าโลกเป็นแกนกลาง
2.ความเชื่อมโยง ผ่านการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นศูนย์กลางขนส่งในภูมิภาค เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียผ่านโครงการ Landbridge
3. ความยั่งยืน ผลักดันการสานต่อเป้าหมายกรุงเทพฯ
4.เศรษฐกิจดิจิทัล
5.ความครอบคลุมและความเท่าเทียม
ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายเศรษฐาและผม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะเดินทางไปจัดงาน Thailand Landbridge Roadshow ในวันที่ 13 พฤศจิกายน ณ โรงแรม Ritz Carlton เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐ
นายสุริยะกล่าวอีกว่า ในฐานะเจ้าภาพจัดงานจะร่วมกันให้ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของโครงการ อาทิ โอกาสทางธุรกิจ รูปแบบการลงทุน ศักยภาพทำเลที่ตั้งของพื้นที่โครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ โดยมีนักลงทุนภาคธุรกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงาน ทั้งสายการเดินเรือ ผู้บริหารท่าเรือ กลุ่มโลจิสติกส์ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มผู้ลงทุนด้านอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนักลงทุนต่างให้ความสนใจประเด็นโอกาสในการลงทุนของโครงการ
นายสุริยะกล่าวว่า ในอนาคตโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือแลนด์บริดจ์ จะเป็นช่องทางการค้าแห่งใหม่เพื่อใช้เป็นเส้นทางขนถ่ายสินค้าหลักระดับภูมิภาคและจะเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชีย และช่วยลดระยะเวลาการขนส่งทางทะเลและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง อีกทั้งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางการค้า ประกอบด้วย เขตการค้า เมืองท่าและเขตอุตสาหกรรม และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง