กลไกต่อลมหายใจ 'ลูกหนี้' ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องล้มละลาย พร้อมห้ามเจ้าหนี้บังคับชำระหนี้ ยึดทรัพย์สิน หรือ ขายทรัพย์สิน

สืบเนื่องจาก กรณี JKN หรือ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป ได้ยื่นขอล้มละลายต่อศาลล้มละลายกลางตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 แม้สินทรัพย์มากกว่ามูลหนี้ 12,161 ล้านบาท จากงบการเงินล่าสุดงวดไตรมาส 2/66 สิ้นสุด 30 มิ.ย. โดยมีหนี้สินเพียง 7,398 ล้านบาท ขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นมากถึง 4,756 ล้านบาท 

ต่อมา JKN ได้รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้บริษัทในฐานะลูกหนี้ ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทแล้ว

ทั้งนี้ สำหรับใครที่อาจจะยังงง ๆ กับเรื่องของการขอฟื้นฟูกิจการ ทาง THE STATES TIMES ได้สอบถามข้อมูลจากทนายผู้เชี่ยวชาญ และได้รับคำตอบมาดังนี้ ว่า...

การฟื้นฟูกิจการเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราวให้ได้มีโอกาสกลับมาดำเนินกิจการต่อไปได้โดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องล้มละลาย ซึ่งจะมีผลให้ศาลมีคำสั่ง 'พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด' 

โดยศาลจะมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อจัดสรร/ชำระให้กับบรรดาเจ้าหนี้ของลูกหนี้ทั้งหลาย กล่าวคือ ให้ลูกหนี้ยุติการดำเนินกิจการและทำการยึดทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งหมด เพื่อเตรียมแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายทั้งปวงต่อไป

ดังนั้น เมื่อศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้วลูกหนี้จะได้รับความคุ้มครองทันที เพื่อให้ลูกหนี้สามารถดำเนินการฟื้นฟูกิจการได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องหรือไม่ต้องกลัวว่าเจ้าหนี้จะยึดทรัพย์บังคับคดีเพื่อการชำระหนี้ เนื่องจากเมื่อศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้ว จะ...

(๑) ห้ามเจ้าหนี้ฟ้องร้องลูกหนี้เป็นคดีใดๆ หรือห้ามเจ้าหนี้ร้องขอให้ศาล หรือ นายทะเบียน สั่งให้เลิกความเป็นนิติบุคคลของลูกหนี้ (เมื่อถูกสั่งให้เลิกความเป็นนิติบุคคลก็เท่ากับนิติบุคคลนั้นถึงแก่ความตายดำเนินกิจการต่อไปไม่ได้) 
(๒) ห้ามเจ้าหนี้บังคับคดีกับลูกหนี้ (ที่เจ้าฟ้องร้องจนชนะคดีในที่สุดแล้วก็ห้ามเจ้าหนี้ บังคับชำระหนี้ ยึดทรัพย์สิน หรือ ขายทรัพย์สิน ของลูกหนี้) 
(๓) ห้ามเจ้าหนี้ที่มีประกันบังคับชำระหนี้จากหลักประกัน 
(๔) ห้ามตัดน้ำ ตัดไฟ โทรศัพท์ (บริการสาธารณูปโภค) ของลูกหนี้ 
(๕) ห้ามหน่วยงานของรัฐเพิกถอนใบอนุญาตใด ๆ ของลูกหนี้ 
(๖) แต่ก็ห้ามลูกหนี้จำหน่าย จ่าย โอน ก่อหนี้เพิ่มขึ้นมาอีก หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่เจ้าหนี้มีสิทธิในทรัพย์สินของลูกหนี้ (อย่าให้มีเจ้าหนี้ซึ่งจะมาเป็นตัวหารในทรัพย์สินของลูกหนี้เพิ่มขึ้นนั่นเอง)