‘แพทย์’ ชำแหละอาการ ‘แย้ม ธี่หยด’ ป่วย ‘โรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน’ ชี้!! หากเทคโนโลยีการแพทย์ยุคนั้นทันสมัย อาจจะช่วยได้ทัน
(2 พ.ย.66) ‘ธี่หยด’ ภาพยนตร์สยองขวัญที่สร้างมาจากเรื่องเล่าในเว็บไซต์ Pantip.com เมื่อปี พ.ศ. 2558 โดยคุณกิตติศักดิ์ กิตติวิรยานนท์ กลายเป็นกระทู้เรื่องผีที่ถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์ มียอดแชร์มากกว่า 130,000 ครั้ง นอกจากนั้นยังถูกนำไปตีพิมพ์เป็นหนังสือ และเจ้าของเรื่องยังได้นำไปเล่าในรายการเล่าเรื่องผีชื่อดัง จนกระทั่งได้ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบภาพยนตร์
ภาพยนตร์ ‘ธี่หยด’ กำกับโดยทวีวัฒน์ วันทา ซึ่งเคยฝากผลงานไว้ในหนังไทยเรื่องทองสุก 13 จากการเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ 5 วัน 25 - 29 ต.ค. 66 สามารถทำรายได้ 180 ล้านบาท จุดเด่นของเรื่องนอกจากเสียงหลอนประหลาดว่า ‘ธี่หยด’ ที่จะดังขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ยังมีอาการสุดประหลาดที่เกิดขึ้นกับ ‘แย้ม’ อีกหนึ่งตัวละครหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้
ซึ่งอาการแปลกประหลาดของ ‘แย้ม’ สามารถเกิดขึ้นได้จริง และมีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ โดยผู้ใช้ TikTok บัญชี @km.pearl หรือ ‘หมอไข่มุก’ พญ.ณัฐมณฑ์ บุญทาเลิศ ได้อธิบายอาการของโรคซึ่งตรงกับอาการของ ‘แย้ม’ ตัวละครสุดหลอน ในภาพยนตร์ธี่หยดว่า เป็นอาการของโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน หรือ Anti-NMDAR
โดยผู้ป่วยโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน หรือ Anti-NMDAR จะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว มีไข้ต่ำๆ ในช่วงแรก และต่อมามีอาการทางสมอง นอนไม่หลับ หนักขึ้นจนไปถึงการไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ไม่สามารถควบคุมความคิดการพูดหรือการขยับตัวได้
มีอาการหลงผิด สับสน หูแว่ว ประสาทหลอน นิสัยใจคอมีความก้าวร้าวมากขึ้น มีการเคลื่อนไหวใบหน้าที่ผิดปกติ เช่นการแสยะยิ้ม การเหลือกตา เคี้ยวปากตัวเอง
สาเหตุของการเกิดโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน หรือ Anti-NMDAR ซึ่งมีอาการตรงกับตัวละครน้าแย้มในภาพยนตร์เรื่อง ‘ธี่หยด’ นี้ มาจากก้อนในรังไข่ของคนไข้ หรือเนื้องอกอัณฑะ ที่ทำให้ร่างกายผลิตภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ หรืออาจเกิดขึ้นเองจากการติดเชื้อไวรัสในร่างกาย
และจากเนื้อเรื่องในภาพยนตร์ ‘ธี่หยด’ ที่ระบุถึงผลการชันสูตรศพน้าแย้มว่า พบอวัยวะภายในฉีกขาดนั้น ในทางการแพทย์สามารถเกิดขึ้นได้จากการแตกของก้อนในช่องท้อง
ซึ่งก้อนในช่องท้องนี้ เรียกว่า ‘เนื้องอกเทอราโตมา’ หรือ Mature teratoma มีลักษณะเป็นถุงน้ำซึ่งมีการงอกของเส้นขน เส้นผม และฟันขึ้นภายในถุงน้ำได้ จึงอาจเป็นที่มาของความเชื่อว่าผู้ป่วย หรือผู้เสียชีวิตถูกคุณไสย หรือโดนทำของใส่
โรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน หรือ Anti-NMDAR นี้ มักพบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย หรืออยู่ในช่วงอายุ 18 ปี และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยพบสัดส่วนผู้ป่วยโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน หรือ Anti-NMDAR เป็นเพศหญิงอยู่ที่ 80% และเพศชาย 20%
ซึ่ง หมอไข่มุก ได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าหากวิวัฒนาการด้านการแพทย์ในยุคนั้นมีความทันสมัย สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ ‘แย้ม’ อาจได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและไม่เสียชีวิต