'อ.พงษ์ภาณุ' เปิด 4 เหตุผล มาตรการแจกเงินดิจิทัลต้องรันต่อ อย่าพะวงเสียงวิจารณ์ ในจังหวะประเทศโตอืดมานาน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ...ถึงเวลาแล้วหรือยัง ใครได้ใครเสีย?' เมื่อวันที่ 29 ต.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ขณะนี้น่าจะเป็นเวลาเหมาะสมที่รัฐบาลจะใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (Fiscal Stimulus) และการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการรวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย แม้จะสามารถทำได้ แต่ก็ล้วนไร้เหตุผลที่น่าเชื่อถือและอาจมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองแอบแฝง

ทั้งที่ในความเป็นจริง ตัวชี้วัดสำคัญที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังหดตัว คือ สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ เพราะโดยปกติสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบจะเติบโตต่อปีประมาณ 1.5 เท่าของอัตราเติบโตของ GDP แต่หลายเดือนที่ผ่านมาสินเชื่อธนาคารพาณิชย์กลับติดลบแบบ YOY ซึ่งเป็นสัญญาณที่น่ากลัวมาก ซึ่งผมหวังว่านักวิชาการและธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะหัดดูตัวเลขเหล่านี้บ้าง ยังจะเป็นประโยชน์กว่าไปลอกตำราฝรั่งมา

ฉะนั้น หากมองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่าจะจำเป็นหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลทางเศรษฐกิจ การคลัง และรูปแบบของมาตรการเอง เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพมาเป็นเวลานาน นับจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 2540 ความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อเหลืองเสื้อแดง การปฏิวัติรัฐประหาร รวมทั้งวิกฤตโควิดก็ทำให้ไทยได้รับผลกระทบมากว่าประเทศอื่น แม้ว่าวิกฤตจะผ่านไปแล้วเศรษฐกิจไทยก็ไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนโควิดได้เหมือนประเทศอื่น แนวโน้มระยะข้างหน้าก็ไม่สู้จะดีนัก เมื่อพิจารณาเศรษฐกิจโลกที่กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะสงคราม และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง

สถานการณ์ช่องว่างทางการคลัง (Fiscal Space) ของไทยยังถือว่ามีอยู่ค่อนข้างมาก แม้ว่ารัฐบาลที่ผ่านมาจะสร้างหนี้สาธารณะไว้เป็นจำนวนมาก แต่ระดับหนี้สาธารณะที่ 62%ของ GDP ก็ถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีหนี้เกิน 100% ขึ้นไปทั้งนั้น ส่วนสภาพคล่องในตลาดการเงิน แม้ว่าจะตึงตัวขึ้นบ้างและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่ยังถือว่าตลาดยังเปิดสำหรับการกู้ยืมโดยภาครัฐ ทั้งนี้คำนึงจาก Yield Curve ที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ และเงินเฟ้อในประเทศที่เข้าใกล้ศูนย์เข้าไปทุกที

รูปแบบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็มีความสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ของมาตรการ Fiscal Stimulus ที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติ 4 T ได้แก่ Timely / Targeted / Temporary และ Transparent มาตรการเงินดิจิทัลของรัฐบาลมีคุณสมบัติครบทั้ง 4 ประการ กล่าว คือ...

1) ทันการสามารถอัดฉีดการใช้จ่ายเงินเข้าภาคเศรษฐกิจจริงได้ทันที ต่างจากข้อเสนอให้ใช้การลงทุนภาครัฐ ที่อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 ปีกว่าจะบังเกิดผล 

2) มีเป้าหมายชัดเจน เพราะมุ่งให้เกิดการใช้จ่ายบริโภคกระจายไปทั่วประเทศและกระตุ้นการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น 

3) ชั่วคราว ใช้แล้วจบ ไม่ฝังอยู่ในโครงสร้างทางการคลัง และไม่เป็นภาระการคลังในระยะ และที่สำคัญที่สุด 

4) โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพราะระบบดิจิทัลจะสามารถแสดงข้อมูลแบบ Online และ Real time เพื่อให้ประชาชนเจ้าของเงินภาษีสามารถติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลไปพร้อมๆ กับองค์กรตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ

อ.พงษ์ภาณุ ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า "ส่วนประเด็นที่ว่าทำไมแจกทุกคนเหมือนกันหมด อยากเรียนว่ามาตรการนี้ไม่ใช่เรื่องสังคมสงเคราะห์หรือสวัสดิการสังคม แต่เป็นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ คนไทยทุกคนไม่ว่ารวยหรือจนก็ได้รับผลกระทบจากโควิดหรือสงครามเหมือนกันหมด และคนไทยทุกคนก็ควรมีโอกาสใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนกัน รัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งทรัมป์และไบเดน ก็ได้จ่ายเช็คไปยังทุกครัวเรือนในจำนวนเท่ากันเพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นจากโควิดได้อย่างรวดเร็ว"