สายการบิน ‘MyAirline’ ประกาศหยุดบินกะทันหัน มีผลตั้งแต่วันนี้ หลังประสบปัญหาด้านการเงินอ่วม

(12 ต.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสายการบินมายแอร์ไลน์ (MyAirline : Z9) ประกาศหยุดให้บริการทำการบินทุกเส้นทาง อ้างเหตุผลประสบปัญหาด้านการเงิน สายการบินได้เผยแพร่แถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊ก ‘MyAirline’ โดยระบุว่า มายแอร์ไลน์ประกาศระงับการปฏิบัติการ

มายแอร์ไลน์รู้สึกเสียใจที่จะแจ้งให้ทราบถึงการระงับการปฏิบัติการบินชั่วคราว (Suspension) ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการประกาศอีกครั้ง การตัดสินใจที่ยากลำบากนี้ เกิดจากแรงกดดันด้านการเงินอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้ต้องยกเลิกการให้บริการระหว่างการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นและการเพิ่มทุนของสายการบิน

แถลงการณ์จากคณะกรรมการบริหารสายการบิน ระบุว่า สายการบินเสียใจอย่างที่สุด และขออภัยต่อการตัดสินใจในครั้งนี้ เราเข้าใจถึงผลกระทบต่อผู้โดยสารผู้ภักดี พนักงานที่ทุ่มเทและพันธมิตรของสายการบิน เราได้ทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อเสาะหาความร่วมมือต่าง ๆ และแนวทางการระดมทุนเพื่อเลี่ยงการหยุดทำการบินนี้ เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่ข้อจำกัดด้านเวลาบีบบังคับให้เราต้องเลือกหยุดปฏิบัติการบิน

ทั้งนี้ เราเข้าใจถึงความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น และเรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนคุณผ่านสถานการณ์นี้ โปรดติดต่อเราที่ [email protected] และทีมสนับสนุนของเราจะพร้อมให้ความช่วยเหลือ

ในระหว่างนี้ เราขอแนะนำให้ผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบ อย่ามุ่งหน้าไปสนามบิน และหาทางเลือกอื่นในการเดินทางไปยังจุดหมายของตน

คณะกรรมการ ผู้ถือหุ้น และพนักงาน MyAirline จะทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อกลับมาดำเนินการโดยเร็วที่สุด แต่ในตอนนี้เรายังไม่สามารถกำหนดเวลาใด ๆ ได้

เราขออภัยอย่างจริงใจอีกครั้งสำหรับความไม่สะดวกและปัญหาใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากการหยุดปฏิบัติการบินนี้และจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่ออัพเดตข้อมูลเมื่อมีความพร้อม”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2566 ประชาชาติธุรกิจเคยได้สัมภาษณ์นายเรเนอร์ เทียว เคง ฮอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของสายการบิน MyAirline (มายแอร์ไลน์) โดยครั้งนั้น ผู้บริหารรายนี้ให้ข้อมูลว่า สายการบินเกิดขึ้นในยุคโควิด-19 โดยสายการบินใช้โอกาสช่วงโควิด ‘ล็อกต้นทุน’ ในระยะยาว ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งรายอื่น

โดยสายการบินได้เริ่มทำการบินแรกเมื่อ 1 ธันวาคม 2565 และเริ่มทำการบินเส้นทางสู่ประเทศไทยเที่ยวบินแรกในวันที่ 28 มิถุนายน 2566 จากนั้นสายการบินได้ให้บริการเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองสู่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

ในครั้งนั้นผู้บริหารมายแอร์ไลน์เคยให้สัมภาษณ์ว่า ตนมีแผนขยายเส้นทางบินสู่จุดบินอื่น ๆ ในไทย เช่น ภูเก็ต กระบี่ และเชียงใหม่ ภายในสิ้นปี 2566 นี้ จากนั้นเตรียมพิจารณาเพิ่มเที่ยวบินสู่อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน และอินเดีย ส่วนในอนาคต 3-5 ปี อาจพิจารณาเปิดทำการบินเส้นทางอินเดียเพิ่มเตม เกาหลีใต้และออสเตรเลีย และที่สำคัญคือ เตรียมขยายฝูงบินเป็น 80 ลำ ในปี 2570 (ค.ศ. 2027)

เมื่อสอบถามว่า สายการบินในเอเชียต่างสั่งซื้อเครื่องบินจำนวนมหาศาล ไม่คิดว่าแนวทางดังกล่าวจะนำไปสู่ปัญหาอุปทานส่วนเกิน (Oversupply) ในภาคการบินหรือไม่ ผู้บริหารรายนี้ตอบว่า ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าซัพพลายเครื่องบินยังไม่มากจนเกินไป ภูมิภาคอาเซียนมีประชากรกว่า 600 ล้านคน หากรวมประเทศรอบ ๆ อาเซียน ประชากรย่อมมีมากกว่านั้น ภูมิภาคอาเซียนจึงยังมีโอกาสและมีศักยภาพในการขยายตัว

“เราไม่ได้มองแค่ตลาด 2-3 ประเทศ แต่เรามองไกลมากกว่านั้น ดังนั้น แผนการสั่งซื้อเครื่องบินดังกล่าว จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร”

สำหรับเรเนอร์ เทียว ‘เรเนอร์ เทียว’ เริ่มต้นจากการทำงานกับสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส (Malaysia Airlines) ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยแผนกสำรองที่นั่งและออกบัตรโดยสาร จากนั้นได้ร่วมงานกับบริษัท Abacus Distribution Systems (Malaysia) Sdn Bhd ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ และเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยแผนกการรับรองเอเย่นต์ที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ในระหว่างปี 2536-2547

ต่อมาในระหว่างปี 2547-2562 ‘เรเนอร์’ ได้เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าแผนกฝ่ายขายและการจัดจำหน่ายที่บริษัท AirAsia Group Berhad ก่อนที่จะร่วมงานกับสายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ ในตำแหน่งที่ปรึกษาเชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม 2562