'ดร.วินัย' อึ้ง!! คนปาเลสไตน์ลี้ภัย สุขใจ กทม.ยามโพล้เพล้ สะท้อน!! ชะตากรรมชีวิตที่แสนสาหัสยิ่งกว่าโรฮีนจา

(10 ต.ค.66) ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผอ.ศวฮ.) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก 'Dr.Winai Dahlan' ในหัวข้อ 'คนปาเลสไตน์' ความว่า...

ผมมีประสบการณ์ชีวิตที่อยากเขียนถึงคนปาเลสไตน์สักหน่อย ชนอาหรับที่กำลังมีปัญหาวิกฤติอยู่ในเวลานี้นั่นแหละ 

>> เรื่องแรกเกิดขึ้นหลายปีมาแล้ว ผมได้รับเชิญจากเกษตรกรไร่มะกอกชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสแบงค์ พวกเขารู้ว่าผมและทีมงานไปจัดหลักสูตรให้นักเรียนไทยในประเทศจอร์แดนตามคำเชิญของสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน จึงอยากเชิญผมและทีมงานไปช่วยจัดระบบการมาตรฐานฮาลาลการเกษตรให้กับไร่มะกอกของพวกเขาหน่อย 

การอบรมจัดที่โรงแรมในกรุงอัมมานของจอร์แดน ไม่ได้เข้าไปจัดในเขตเวสแบงค์ของปาเลสไตน์ 

เมื่อผมบินจากกรุงเทพฯไปถึงกรุงอัมมาน ปรากฏว่าเกษตรกรปาเลสไตน์เหล่านั้นผ่านชายแดนจากเวสแบงค์ออกมาที่จอร์แดนไม่ได้ เนื่องจากทหารอิสราเอลไม่อนุมัติ ผมไม่เข้าใจว่าเหตุใดคนปาเลสไตน์ จึงผ่านเขตแดนประเทศของตนเองที่สหประชาชาติรับรองแล้วไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีส่วนใดที่ต้องผ่านดินแดนของอิสราเอลเลยแม้แต่น้อย 

มารู้ภายหลังว่าเขตเวสแบงค์ แม้อธิปไตยเป็นของปาเลสไตน์ ทว่าแผ่นดินมีแต่ทหารอิสราเอล ขณะที่คนปาเลสไตน์แทบไม่มีสิทธิ์อะไรในแผ่นดินของตนเองเลย ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อผ่านแดนออกมาแล้วยังต้องรีบกลับเข้าไป อยู่ข้างนอกนานไม่ได้ สุดท้ายเราอบรมได้วันเดียว โดยต้องยกเลิกการอบรมส่วนที่เหลือเนื่องจากความไม่สะดวกในการผ่านแดนอย่างที่บอก 

>> เรื่องที่สอง สำนักงานของผมมีคนปาเลสไตน์ชื่อ 'ฟูอ๊าด' ที่ลี้ภัยจากประเทศซีเรียมาทำงานอยู่ด้วยระยะหนึ่งขณะรอประเทศที่สามรับตัวไป ฟูอ๊าดจัดเป็นผู้ลี้ภัยสองชั้น (Double refugee) แม้อาศัยในซีเรีย โดยครอบครัวใหญ่ของเขาลี้ภัยมาจากปาเลสไตน์ช่วงสงครามหกวันเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว

ฟูอ๊าดเองเกิดและเติบโตในซีเรียโดยมีสถานะผู้ลี้ภัยตามครอบครัวใหญ่ แต่เมื่อซีเรียเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น เขาพร้อมภรรยาและลูกเล็กหนีสงครามมาพักอยู่เมืองไทยในสถานะผู้ลี้ภัย เขาจึงกลายเป็นผู้ลี้ภัยสองชั้นอย่างที่บอก 

ฟูอ๊าดเช่าบ้านอยู่ใกล้บ้านผมที่อ่อนนุช ช่วงเช้าผมไปรับฟูอ๊าดมาทำงาน ช่วงเย็นบางวันก็รับเขาจากที่ทำงานกลับไปส่งที่บ้านเช่า โดยขึ้นทางด่วนจากด่านหัวลำโพง ฟูอ๊าดบอกผมว่าเขามีความสุขกับยามโพล้เพล้ในกรุงเทพฯ อย่างมาก ผมแปลกใจจึงถามกลับไปว่าในซีเรียไม่มียามโพล้เพล้ที่ดวงอาทิตย์ใกล้ตกอย่างนี้หรือไง เขาตอบว่าในสถานะผู้ลี้ภัย ตามกฎหมายของซีเรียเขาต้องรีบกลับเข้าบ้านก่อนดวงอาทิตย์ตก ทั้งชีวิตจึงไม่เคยเห็นท้องฟ้ายามโพล้เพล้ให้ได้มองไกล ๆ อย่างในกรุงเทพฯ บนทางด่วน ฟังแล้วสะเทือนใจบอกไม่ถูก 

คนปาเลสไตน์ไม่ว่าจะอยู่ในดินแดนของตนเอง หรือลี้ภัยในประเทศอื่น ต้องกล้ำกลืนความลำบากหนักหนาสาหัสเหลือทน ผมเคยได้ฟังเรื่องราวความเจ็บปวดของคนโรฮิงยาจากเมียนมามาแล้ว มาฟังปัญหาของคนปาเลสไตน์กลับพบว่ายิ่งรวดร้าวกว่า ผู้คนที่เคยมีประเทศของตนเองแล้ววันหนึ่งกลับสูญเสียไปเพียงเพราะโลกขาดความเป็นธรรมให้กับพวกเขา ผมพูดได้คำเดียวว่ามันสุดอัดอั้นในหัวใจ อยากให้คนภายนอกได้เห็นใจและสงสารพวกเขาบ้าง ก็เท่านั้น