‘ศาลอาญากรุงเทพใต้’ สั่งจำคุก ‘มานี-จินนี่’ ไม่รอลงอาญา หลังปราศรัยดูหมิ่นศาล ‘หยาบ-แรง’ แบบไม่มีมูลความจริง

(19 ก.ย.66) พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ ๒ ยื่นฟ้อง นางสาวเงินตา คำแสน หรือ มานี และจิรัชยา สกุลทอง หรือ จินนี่ เป็นจำเลย ในความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม, หมิ่นประมาท, พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงในคดีหมายเลขดำที่ อ๑๔๕๑/๒๕๖๕ หมายเลขคดีแดงที่ อ๑๖๖๕/๒๕๖๖ ว่า เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกล่าววาจาดูหมิ่นผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีว่า... 

“อันนี้ความคิดหนูเองนะ บางทีเนี่ย อ่า ที่ทำงานได้พวกเหี้ยเนี่ย ไอ้พวกพิพากที พิพากเหี้ยอะไรเนี่ย อ่า บางวันมันก็จะมีคนที่คุณธรรม มีจิตใจที่ดี คุณธรรม แล้วก็มองเห็นอนาคตของเด็ก แล้วก็เห็นอกเห็นใจเด็ก มันมีนะฮะ มันก็จะไม่มีการไต่สวนไง ไม่มีการยื่น ยื่นไปมันก็ คนนั้นยังไม่ได้มาทำงานไงพี่จินนี่ แต่วันไหนที่ยื่นก็จะโดนแต่ไอ้ตัวเหี้ยๆ ที่มานั่งรับคำสั่ง”

และ “คือ คนพวกนี้ พวกคนเหี้ยๆ ที่มานั่งรอรับคำสั่งเนี่ย โดยจิตใต้สำนึกเค้าด้วยนะคะ เค้าเป็นคนที่ชอบเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว ก็คือลิดรอน...” และ “สารเลวอยู่แล้ว” และ “สารเลวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่รู้ว่าเรียนมาหาพ่อหาแม่หาพระแสงง้าวอะไรนะ” และ “พ่อกับแม่ขายควายส่งควายเรียน อันนี้ได้ยินคนเฒ่าคนแก่พูด มาวันเนี้ย หนูถึงเข้าใจไงเนี่ยแหละไอ้พวกควายมันนั่งอยู่ข้างบนนี่แหล่ะ แล้วก็มีเหี้ยอยู่ข้างบนสั่งการนะฮะ” 

และ “ลูกเต้ามึงอ่ะไปโรงเรียน กูกลัวมันจะเอาปี๊บคลุมหัว ที่มีพ่อจังไรอัปรีย์ อย่างพวกมึง ทำงานยังไม่มีอิสระในการทำงาน ความคิดยังไม่มีอิสระเป็นของตัวเอง ถ้ามึงจะมาทำงานแบบเนี้ยมึงไปขายน้ำเต้าหู้เถอะ อีสัตว์ มึงอย่ามาเป็นผู้พิพากษาไอ้หน้าเหี้ย ตัดสินแบบนี้กูก็ทำได้ ไม่ต้องเรียนหรอกกฎหมายประเทศไทยอ่ะ กูไม่พอใจกูก็ขัง กูไม่พอใจใครก็อยากให้ให้ตายกูก็สั่งให้แม่งตายได้”

อันเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีดังกล่าว ว่าเป็นบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดีเป็นคนไม่ดี ไม่มีความเป็นกลาง และเป็นการใส่ความผู้เสียหายต่อบุคคลที่สามทำให้บุคคลทั่วไป เข้าใจว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้พิพากษาไม่มีความเป็นกลางในการพิจารณาคดี 

ทั้งนี้ การดูหมิ่นและหมิ่นประมาทผู้เสียหายดังกล่าว ผู้ต้องหาทั้งสองได้ร่วมกันกระทำด้วยการกล่าววาจาโดยใช้ไมโครโฟนผ่านเครื่องขยายเสียงซึ่งใช้กำลังไฟฟ้า อันเป็นการโฆษณาโดยการกระจายเสียง โดยเครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า ต่อบุคคลที่สามซึ่งเป็นประชาชนที่สัญจรไปมาผ่านที่บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ วันนี้ (๑๙ กันยายน ๒๕๖๖) ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาว่า “จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๘, ๓๒๘ พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๔ วรรคหนึ่ง, ๙ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๘ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ 

จำเลยทั้งสอง รู้สำนึกในการกระทำความผิดของตนโดยให้การรับสารภาพและแถลงขอโทษต่อผู้เสียหายตามคำแถลงประกอบคำรับสารภาพ ตลอดจนได้ลงประกาศข้อความขอโทษผู้เสียหายผ่านบัญชีผู้ใช้โปรแกรมเฟซบุ๊กของจำเลยทั้งสอง เห็นสมควรลงโทษจำเลยทั้งสองสถานเบา จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๑ ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ให้คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๖ เดือน 

พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจ จำเลยทั้งสองของพนักงานคุมประพฤติแล้ว เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองจะไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และจำเลยทั้งสองจะเขียนข้อความขอโทษผู้เสียหายและลงประกาศข้อความขอโทษดังกล่าวในบัญชีผู้ใช้โปรแกรมเฟซบุ๊กของจำเลยทั้งสองในทำนองว่า จำเลยทั้งสองสำนึกในการกระทำที่ได้ร่วมกันดูหมิ่นศาลและผู้เสียหายว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอันเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของจำเลยทั้งสอง 

หากจำเลยทั้งสองได้ใช้ความระมัดระวัง และศึกษาข้อมูลมากกว่าในขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสองคงไม่กระทำความผิด จำเลยทั้งสองทราบดีแล้วว่าศาลยุติธรรมได้อำนวยความยุติธรรมในการพิจารณาคดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีการเมืองซึ่งจำเลยทั้งสองเข้าใจผิดไปว่าศาลไม่ให้ประกันตัวนักโทษ การเมืองและได้กล่าวถ้อยคำไม่สุภาพอันเป็นการดูหมิ่นและหมิ่นประมาทผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้พิพากษาไปนั้น จำเลยทั้งสองกระทำไปด้วยความรู้น้อยและไม่ได้ใช้สติไตร่ตรองอย่างถ่องแท้

จำเลยทั้งสองรู้สึกสำนึกผิดและกราบขอโทษต่อผู้พิพากษาและผู้บริหารศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยจำเลยทั้งสองให้คำมั่นว่าจะไม่กระทำความผิดอีก แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองที่กล่าวถ้อยคำกล่าวหาผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้พิพากษาที่ปฏิบัติหน้าที่ไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายด้วยถ้อยคำหยาบคาย กล่าวหาว่าเป็นผู้พิพากษาที่มีความประพฤติไม่ดี ไม่มีความเป็นกลางในการพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ไม่ได้ใช้ดุลพินิจโดยชอบของตนเอง แต่ต้องรอฟังคำสั่งจากบุคคลอื่นและมีคำสั่งไปตามที่บุคคลอื่นสั่งมา อันเป็นการกล่าวหาว่าผู้เสียหายพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไปภายใต้อิทธิพลครอบงำของบุคคลอื่น มีผลกระทบต่อชื่อเสียงเกียรติคุณของทั้งผู้เสียหายและองค์กรศาลยุติธรรม 

ซึ่งจำเลยทั้งสองรับว่า กล่าวถ้อยคำดูหมิ่นศาลไปโดยไม่มีมูลความจริง ทั้งจำเลยทั้งสองยังกล่าวถ้อยคำดังกล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงอยู่ที่บริเวณหน้าที่ทำการศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของผู้เสียหายในลักษณะเป็นการข่มขู่ ต้องการให้ผู้เสียหายและผู้พิพากษาซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในศาลเสียขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเรื่องร้ายแรงและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อองค์กรศาลยุติธรรม จึงไม่เห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสอง

โดยสรุปสำหรับกรณี ‘ศาลอาญากรุงเทพใต้’ ฟ้องและสั่งจำคุก จำเลยทั้ง 2 นั้น สืบเนื่องมาจากทั้ง 2 ได้ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมกิจกรรมและปราศรัยเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของ ‘บุ้ง-ใบปอ’ ที่หน้าศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2565 โดยมีถ้อยคำกล่าวหาผู้พิพากษาที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ด้วยถ้อยคำหยาบคาย และกล่าวหาว่าผู้พิพากษามีความประพฤติไม่ดี ไม่มีความเป็นกลางในการพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ไม่ใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคดีด้วยตนเอง ต้องรอคำสั่งของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าศาลอยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำของบุคคลอื่น การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องร้ายแรง-ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นขององค์กรศาลยุติธรรม