กองทัพอากาศ ได้นำเสนอผลการปฏิบัติงานที่สำคัญ
กองทัพอากาศ ได้นำเสนอผลการปฏิบัติงานที่สำคัญให้ที่ประชุมฯ ได้รับทราบ ได้แก่ ด้านการพิทักษ์เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยได้นำส่งสิ่งของพระราชทานไปช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนชาวตุรกีที่ประสบเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา กรณีพายุไซโคลน MOCHA การจัดกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน การแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันในวันสำคัญต่าง ๆ การจัดหน่วยทหารรักษาพระองค์ถวายพระเกียรติ/ถวายความปลอดภัยในหมายที่สำคัญ ด้านการป้องกันประเทศ โดยการบินลาดตระเวนรบทางอากาศตามแนวชายแดนด้านทิศตะวันตก ทั้งกลางวัน/กลางคืนเพื่อป้องปราบการบินล้ำแดน ให้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการ และในห้วงเวลาปฏิบัติการของฝ่ายตรงข้าม ให้เกิดการรับรู้ของประชาชนโดยทั่วกัน ด้านการรักษาความมั่นคงของรัฐ โดยการรักษาความปลอดภัยและการรองรับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ครั้งที่ ๒๙ การนำขีดความสามารถกำลังทางอากาศเข้าบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด ด้านการพัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคงและการช่วยเหลือประชาชน อาทิ การบรรเทาสาธารณภัย สนับสนุนอากาศยานปฏิบัติภารกิจฝนหลวง ปฏิบัติการควบคุมไฟป่า
การลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ การสนับสนุนกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติการนภารักไทย ร่วมกับ กองบัญชาการกองทัพไทย ในภารกิจการอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในสาธารณรัฐซูดาน การบรรจุเข้าประจำการระบบอากาศยานไร้คนขับพิสัยกลางแบบ DominatorXP (Maned - Unmaned Teaming)
ซึ่งเป็นอากาศยานไร้คนขับแบบ Medium Altitude Long Endurance หรือ MALE แบบแรกของประเทศไทย การจัดทำแผนงานสำหรับพัฒนาพื้นที่สนามบินเชียงราย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางรองรับการปฏิบัติการช่วยเหลือ
ด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภารกิจช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกองทัพอากาศและองค์การต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการ
ให้ความช่วยเหลือประชาชน
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สรุปผลการปฏิบัติงานที่สำคัญให้ที่ประชุมฯ ได้รับทราบ ได้แก่ การจัดกิจกรรมจิตอาสาภัยพิบัติ การป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดและอำนวยความยุติธรรมทางอาญา การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วน โดยได้กำหนดนโยบายและมาตรการสำคัญ ๒ ด้าน ได้แก่ มาตรการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยการยกระดับความสำคัญในการป้องกันยาเสพติด แสวงหาความร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดทำโครงการชุมนุมยั่งยืน ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๖๔ จนถึงปัจจุบัน และมาตรการปราบปรามยาเสพติด ได้แก่ การปราบปรามยาเสพติด 213,104 คดี โดยจากการปฏิบัติงานด้านยาเสพติดได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ เพื่อให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยได้วางระบบการรับแจ้งความออนไลน์ จำนวน ๓๐๕,๙๕๒ คดี มูลค่าความเสียหาย๔๑,๓๓๖ ล้านบาท สามารถอายัดเงิน ๗๔๗ ล้านบาท ซึ่งพบว่าสถิติประเภทคดีสูงสุด ๕ ลำดับ ได้แก่ หลอกซื้อขายสินค้าหรือบริการ ร้อยละ ๓๘.๔๐ หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน ร้อยละ ๑๓.๓๙ หลอกให้กู้เงิน ร้อยละ ๑๓.๑๕ หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ร้อยละ ๘.๑๕ และข่มขู่ทางโทรศัพท์/Call Center ร้อยละ ๗.๔๗ การผลักดัน พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.๒๕๖๖ ซึ่งบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๖ โดยพบว่าภายหลังกฎหมายบังคับใช้สถิติคดีอาชญากรรมออนไลน์ลดลง สามารถจับกุมบัญชีรับเงิน หรือบัญชีม้า ๒๕๒ ราย ซิมการ์ด ๘๔ ราย และใช้กลไกคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการป้องกัน ปราบปราม และจัดการคดี จัดทำโครงการประชาสัมพันธ์สร้างภูมิคุ้มกัน สร้างภาคีเครือข่ายป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำหรับการบังคับใช้กฎหมายจราจร มีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการจราจร เช่น การกำหนดเรื่องที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก การกำหนดการโดยสารท้ายรถกระบะให้มีความปลอดภัย การเพิ่มโทษของผู้ที่กระทำผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับ การกำหนดโทษของการรวมกลุ่มมั่วสุมเพื่อแข่งรถในทางตั้งแต่ ๕ คันขึ้นไป การยกระดับสถานีตำรวจและการให้บริการประชาชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างขวัญกำลังใจข้าราชการตำรวจ โครงการธรรมนำใจ โครงการทำดี มีรางวัล การจัดหาเครื่องแบบรูปแบบใหม่ให้กับตำรวจจราจรทั่วประเทศ โครงการครอบครัวตำรวจเราไม่ทิ้งกัน โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการตำรวจและลูกจ้าง นอกจากนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังได้ให้ความสำคัญในการปฏิบัติงาน กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการเสนอร่างกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรการเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดทำโครงการชุมชนยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาปรับปรุงระบบการทำงาน และความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มุ่งเน้นการดำเนินการในทุกมิติ ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นตำรวจมืออาชีพ ทำงานเชิงรุก เพื่อความสงบสุขของประชาชน” และวางแนวทางการปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ว่า “ความทุกข์ร้อนของประชาชน เป็นหน้าที่ของตำรวจต้องเข้าไปแก้ไขอย่างรวดเร็วและทันท่วงที” เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และสังคมส่วนรวมต่อไป
ในโอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้กล่าวขอบคุณเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้ทุ่มเท เสียสละ ร่วมแรง ร่วมใจตลอดระยะเวลา ๑ ปีที่ผ่านมาในการทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน สามารถแก้ปัญหาในภารกิจต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้สำเร็จด้วยดีอย่างมีประสิทธิภาพ และขอให้ดำรง
ความร่วมมือระหว่างเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดูแลประเทศชาติและประชาชน พร้อมกับปกป้องสถาบันหลักของชาติอย่างต่อเนื่องตลอดไป
กองทัพไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาอธิปไตยและความมั่นคงของชาติ รวมทั้ง สนองตอบนโยบายของรัฐบาล โดยจะใช้ศักยภาพและทรัพยากรที่มีอยู่ในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงให้กับประเทศชาติ และประชาชนสืบไป
--------------------------------------------
กองประชาสัมพันธ์ สำนักประชาสัมพันธ์ กรมกิจการพลเรือนทหาร ๑๑ กันยายน ๒๕๖๖