จากอดีตผู้พิพากษา สู่ ว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ผู้ปิดทองหลังพระ ‘ชนะคดีค่าโง่โฮปเวลล์-ฟื้นฟูการบินไทย’
เปิดประวัติ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เจ้าของผลงานเด่น ชนะคดี ‘ค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท’ ช่วยคนไทยไม่ต้องจ่ายเงินพร้อมดอกเบี้ยกว่าหมื่นล้านบาท
โดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ชื่อเล่น ‘ตุ๋ย’ เป็นบุตรของ พลโท ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์และเจ้ากรมการพลังงานทหาร และโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค (นามสกุลเดิม : สุมาวงศ์) อดีตดาวจุฬาฯ คนแรก ส่วนชีวิตครอบครัว สมรสกับ สุนงค์ สาลีรัฐวิภาค (นามสกุลเดิม : โทณวณิก) มีบุตรธิดารวมกันทั้งหมด 4 คน
นายพีระพันธุ์ เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนเดียวกับ ‘บิ๊กป้อม’ จากนั้น เรียนต่อปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบเนติบัณฑิตไทย ที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา จบปริญญาโท กฎหมายอเมริกันทั่วไป (LLM) และเรียนปริญญาโทอีกใบ ด้านกฎหมายเปรียบเทียบ (MCL) ที่มหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา
โดย นายพีระพันธุ์ มีประสบการณ์ทำงานเป็นผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการ ก่อนมาเข้าสู่สนามการเมืองในนามพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมทีมกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เคยได้รับการเลือกตั้งเป็น สส.เขต 3 กรุงเทพมหานคร เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นฝ่ายค้าน ในปี 2550 นายพีระพันธุ์ ถูกรับเลือกให้ทำหน้าที่เป็น รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเงา และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จริงๆ ในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2551
ขณะที่ผลงานอันโดดเด่น คือ การสอบสวนการทุจริต ‘ค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท’ ซึ่งถูกนำไปใช้ในการต่อสู้คดีในชั้นศาลและประสบชัยชนะ ทำให้คนไทยไม่ต้องจ่ายค่าโง่พร้อมดอกเบี้ยนับหมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปช่วงที่ นายพีระพันธุ์ กำลังเบื่อหน่ายการเมือง และได้โบกมือลาพรรคประชาธิปัตย์นั้น เพียงไม่ทันข้ามคืนถูกเทียบเชิญเข้าทำเนียบรัฐบาล ขึ้นชั้นเป็น ‘กุนซือ’ ประจำตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
บทบาทตอนนั้น คือ การนั่งตำแหน่งคู่ขนานทั้งฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ คุมชีพจรการเมืองในตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และ...
...อยู่ในทีมผ่าตัด ‘การบินไทย’ เส้นเลือดใหญ่ของธุรกิจการบินประจำชาติ ด้วยการให้ความสำคัญกับการบิน ‘เส้นทางในประเทศ’ คู่ขนานกับการ ‘สะสางคอร์รัปชัน’ และระบบ ‘เส้นสาย’ ในฝ่ายบริหาร และต้องไม่อยู่ใต้ ‘เงา’ ของนักการเมืองอีกต่อไป
หลังจากนั้นก็เดินหน้าตามแผนฟื้นฟูกิจการ พร้อมทั้งสร้างกลยุทธ์เพื่อคืนชีพการบินไทย รวมไปถึงมุ่งสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงานได้ร่วมกันฝ่าฟัน จนวันนี้ผ่านพ้นวิกฤติและเข้าสู่ช่วงพาสายการบินแห่งชาตินี้ เชิดหัวขึ้น ได้ตามที่หลายท่านคงทราบกันแล้ว
ส่วนจุดพลิกผันทางการเมือง เกิดขึ้นเมื่อครั้งพรรคประชาธิปัตย์ ทำการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่แทนนายอภิสิทธิ์ ภายหลังแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก หลังการเลือกตั้งในปี 2562 ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ได้ สส.เพียง 52 ที่นั่ง โดยมีแคนดิเดตร่วมท้าชิงคือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, นายกรณ์ จาติกวณิช, นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค แต่คนที่ได้รับการคัดเลือกคือ ‘นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’
ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2562 นายพีระพันธุ์ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะมีชื่อถูกแต่งตั้งให้ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 และย้ายสังกัดเข้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งสร้างเสียงฮือฮาเป็นอย่างมาก ก่อนจะถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท การบินไทย ในปี 2563
จากนั้น ในเดือนเมษายน 2565 ได้ยื่นหนังสือลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ ก่อนที่ในเดือนสิงหาคม 2565 จะได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมีเป้าหมายคือ จะรวบรวมคนทำงานทั้ง สส.รุ่นใหม่ รุ่นเก่ามารับใช้ประชาชน ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2565 ก็มีข่าวว่า สส.พรรคประชาธิปัตย์ลอตใหญ่ เตรียมเลือดไหลย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ จนกระทั่งในช่วงปลายเดือนก็มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เตรียมจะลา ‘บิ๊กป้อม’ เพื่อมาสังกัดกับพรรครวมไทยสร้างชาติในการเลือกตั้ง 2566 และก็เป็นจริงตามนั้น