‘อดีตตุลาการศาล รธน.’ ชี้ ศาลฯ ไม่มีโอกาสชี้แจงผ่านออนไลน์ ทำได้แค่เขียนคำวินิจฉัยให้กระจ่าง วอนสื่อช่วยเชื่อมความเข้าใจ

(25 ก.ค. 66) ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จัดโครงการศาลรัฐธรรมนูญพบสื่อมวลชน ประจำปี 2566 โดยมีนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานเปิดโครงการ โดยมีสื่อมวลชวนจำนวน 25 สำนักข่าวเข้าร่วม

โดยนายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทของสื่อมวลชนในการส่งเสริมประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม” ว่า ศาลรัฐธรรมนูญและทุกศาลไม่มีโอกาสพูดแก้ตัวต่อสังคมผ่านช่องทางสื่อของศาล และศาลไม่มีไอโอ งานในฝ่ายตุลาการท่านได้สร้างประเพณีไว้ว่าอยากจะพูดอะไรกับประชาชนก็เขียนลงในคำวินิจฉัยให้กระจ่างให้หมด แล้วไม่ต้องไปโต้แย้งโต้เถียงหรือแก้ตัวอย่างใด ๆ กับประชาชน ขอให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องตั้งใจนำเอาร่างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปวิเคราะห์แล้วจะวิพากษ์วิจารณ์ หรือเสนอแนะโดยถูกต้องสุจริต เป็นธรรมนั้นก็จะเป็นประโยชน์แก่ศาลรัฐธรรมนูญเราเอง เพราะเสียงติติงของผู้มีใจเป็นธรรมในสังคม เหมือนผู้ที่ชี้ขุมทรัพย์ให้กับศาลเราได้พัฒนาปรับปรุง เพราะไม่มีอะไรในโลกทางวัตถุนี้จะสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือทำอะไรถูกหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ มันก็ต้องมีขาดมีเกิน แต่ขอให้ทำโดยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ตรงไปตรงมา ไม่เบียดเบียน ไม่หลงเชื่อไปตามพยานหลักฐานเท็จ ใช้กฎหมายให้ถูกต้องตามหลักนิติธรรม

นายจรัญ กล่าวอีกว่า ถ้าเราสามารถพัฒนาระบบงานกฎหมาย ยุติธรรมของประเทศเราให้มั่นคงบนหลักการนี้ได้ก็จะช่วยให้ระบอบการปกครอง ระบบการเมือง ระบบกฎหมายงานยุติธรรม ระบบเศรษฐกิจ ระบบคิดและวิถีของประชาชนจะมีคุณภาพมาตรฐานดีขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้พัฒนาการของศาลรัฐธรรมนูญ และศาลอื่นๆคือเสียงสะท้อนที่ทรงคุณประโยชน์ที่ใช้สติปัญญาความรู้ที่เป็นธรรม และวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ให้เราได้มีโอกาสรับไปปรับพัฒนา ซึ่งความจริงแล้วศาลท่านแทบไม่ได้พูดสื่อสารหลักเกณฑ์พื้นฐานให้ประชาชนได้เข้าใจ ตั้งแต่ก่อนที่คดีจะเข้าสู่ศาล ซึ่งข้อขัดแย้งในสังคมความจริงก็สับสนวุ่นวายอยู่ในโลกเสรี หรือโลกไซเบอร์มาอย่างชุลมุนสับสน อย่างศาลแทบจะไม่มีโอกาสได้เข้าไปร่วมแสดงหลักการอะไรได้เลย เพราะถ้าศาลพูดก่อนที่คดีจะมาศาลนั่นศาลก็จะไม่มีใจที่จะพิจารณาคดีนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายตุลาการต้องระมัดระวังไม่ล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่นั้น

ในระหว่างที่คดีเข้ามายังศาลก็ไม่สามารถไปบอกอะไร ๆ ให้ประชาชนรับรู้ในเชิงลึกในเนื้อหาของคดีได้ แล้วกระแสกดดันในสังคม ในคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครองอาจจะไม่รุนแรงเท่าคดีที่มาสู่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเดิมพัน หรือผลของการแพ้ชนะกันที่ศาลรัฐธรรมนูญมันมหาศาล กระทบคนเป็นล้านเป็นสิบล้าน กระทบสถาบันหลักของชาติ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่แรงกดดันของฟากฝ่ายต่าง ๆ ของสังคมก็จะอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไปในทิศทางที่เป็นคุณประโยชน์แก่ตน พอแพ้ไม่ได้ก็จะเป็นสถานะยากลำบากของศาล วันนี้เราตั้งประเด็นว่าแล้วสื่อมวลชนมีเสรีภาพที่ยิ่งใหญ่ และถือเป็นเสาหลักเสาหนึ่งของการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตย เป็นปากเป็นเสียงของประชาชน เป็นเวทีเปิดกว้างให้คนที่ไม่มีพื้นที่เป็นของตัวเองสามารถสะท้อนคิดความเห็น ข้อมูล ออกไปสู่การรับรู้ของประชาชนอย่างมาก ดังนั้นถือเป็นวิชาชีพที่สูงมาก มีมาตรฐาน อุดมการณ์และจริยธรรม ที่ไม่ได้ต่ำต้อยน้อยหน้าไปกว่าอาชีพ อื่น นายจรัญ กล่าว

นายจรัญ กล่าวว่า วันนี้เราใช้ระบบการเมืองแบบรัฐสภา เราเลือกที่จะไม่ใช้ระบบแบบประธานาธิบดี และส่วนใหญ่เราก็เลือกใช้ระบบ 2 สภา ระบบกฎหมายก็สำคัญสำหรับสื่อมวลชนที่จะใช้เสรีภาพ เพราะถ้าเราใช้เสรีภาพล่วงละเมิดกฎหมายบ้านเมืองจะมีปัญหา แล้วเราจะไปโทษว่าคนที่มากล่าวหา ดำเนินคดีกับเราเป็นการกลั่นแกล้ง นั่นมันก็ไม่กระจ่าง ฉะนั้นเราก็ต้องมีกรอบมาในระบบกฎหมายและระบบงานยุติธรรม

อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนถือเป็นกลไกลสำคัญในระบอบการปกครอง ระบบการเมือง ระบบกฎหมาย เศรษฐกิจของประเทศเราที่จะช่วยให้วิถีชีวิตของประชาชนค่อยๆพัฒนาขึ้น แต่ต้องระวังอย่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า อย่าใจเร็วด่วนได้ว่าต้องดีขึ้นวันนี้พรุ่งนี้เลย ไม่เช่นนั้นแตกหัก ถ้าสื่อใดพลาดไปอย่างนั้นตนว่าน่าห่วง อีกทั้งตัวร้ายที่เรามองข้ามไป  มหาอำนาจจากโลกเสรี ประชาธิปไตย ทุนนิยมสุดโต่งทรงพลังครอบงำการปกครองระบบการเมืองของเรา ระบบกฎหมาย ระบบงานยุติธรรมของเรา มีอย่างที่ไหนศาลกำลังพิจารณาพิพากษาคดีสำคัญอยู่แต่ส่งตัวแทนต่างชาติเข้ามา แม้จะบอกว่าเข้ามาเพื่อประดับรู้ แต่ผลกระทบมันคือการกดดันผู้พิพากษาที่ทำภารกิจนั้นอยู่ เว้นแต่ท่านจะมั่นคง ตรงไปตรงมาจริงๆไม่หวั่นไหว แต่แรงกดดันแบบนี้เป็นไปได้ และเคยเป็นไปแล้วให้เราได้เห็น ไม่มีประเทศไหนเขายอมอย่าว่าแต่ผู้แทนต่างชาติเลยแม้แต่คนในประเทศพอคดีสำคัญเข้าสู่ศาลต้องหยุดกดดัน เพราะเราก็ไม่มั่นว่าผู้พิพากษาท่านจะหวั่นไหวหรือไม่ ถ้าท่านหวั่นไหวก็ทำงานง่ายตัดสินตามกระแสกดดัน แบบนี้แล้วฝ่ายตรงข้ามที่ไม่มีกระแสหนุนหลังเขาจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่

หลักการพื้นฐานเมื่อคดีเข้าสู่ศาลต้องสกัดการกดดันศาลทุกรูปแบบเพื่อหวังว่าเราจะได้คุณภาพของคำวินิจฉัย หรือถ้ากลัวว่าไม่กดดันเราจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่นั้นต้องบอกว่าถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมเราต้องจัดการ ซึ่งมันมีช่องทางมากมาย มีตัวอย่างคนในแวดวงตุลาการที่ดูแลองค์กรนี้อยู่ท่านไม่ปล่อยให้เนื้อร้ายเจริญงอกงามแน่ มะเร็งร้ายจะต้องถูกกำจัดไปโดยกระบวนวิธีการของท่านที่ไม่ต้องการประฌานเชื้อโรคหรือเนื้อร้ายนั้น

“ผมไม่ได้อยู่กับคนไหนฝ่ายไหน ผมไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ทุนนิยม และผมก็ไม่เสรีสุดโต่ง แต่ผมก็ไม่อาจจะยอมรับการกดขี่ข่มเหงของผู้ทรงอำนาจในประเทศ ไม่ว่าจะรูปแบบไหน ทรงอำนาจอาวุธหรือเสียงข้างมาก เพราะในชีวิตผมเติบโตมาในแวดวงการตุลาการไทย เราเคารพเสียงข้างมาก ยอมรับมติให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก แต่เราขอให้เราที่เป็นเสียงข้างน้อยได้แสดงความคิดเห็น เหตุผลหลักวิชาของเราให้ปรากฏไว้ว่า ไม่ใช่เพราะผมเป็นตะบึงตะบอนเห็นแต่ความเห็นของตัวเอง ไม่เคารพความคิดเห็นของคนอื่น นี่คือวัฒนธรรมของการทำงานของฝ่ายตุลาการของประเทศเรา แต่มันก็ไม่ค่อยได้มีการเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ เพราะมันเกินกำลังของศาลที่จะเผยแพร่อะไรต่างๆที่เป็นเรื่องเฉพาะตัว นั่นจึงจะเป็นหน้าที่สื่อมวลชนที่จะได้เป็นตัวกลางเชื่อมสื่อสารให้ประชาชนรับรู้เข้าใจ ความโกธรแค้นต่างๆก็จะได้เบาบางลง” นายจรัญ กล่าว

นายจรัญ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนจะต้องเป็นสื่อกลางที่จะเชื่อมระหว่างรัฐ กับประชาชน และประชาชนด้วยกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันสื่อจะต้องมีเสรีภาพเพื่อไม่ให้ตัวกลางหายไป ถ้าหายไปประชาชนก็จะถูกปลุกปั่นให้เป็นเครื่องมือของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล แล้วจะต้องเป็นตัวกลางระหว่างสองฝ่ายที่มักจะขัดแย้งกันเพื่อให้ไปสู่ศาลกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่ยุยงให้ลงถนนเพราะการลงถนนของประชาชนต้องเป็นเส้นทางสุดท้ายของสังคม เพราะฉะนั้นจะกลายเป็น Mob Rule  หรือกฎหมู่ เป็นภัยอันตรายมหาศาลของระบอบเสรีประชาธิปไตย ไม่ค่อยเป็นภัยต่อระบอบเผด็จการ ซึ่งประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เขาไม่กลัว Mob Rule อีกทั้ง Mob Rule เป็นตัวบ่อนทำลายหลักของหลักธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรมที่ทรงพลังที่สุด รวมถึงทำให้เกิดความสูญเสียในสังคม มีผู้วิจารณ์การเมืองบอกว่าถ้าเลือกตั้งใหม่จะเสียค่าอีก 5- 6 พันล้าน ซึ่งเป็นเรื่องเล็กมากถ้าเปรียบเทียบกับความล้มสลายทางเศรษฐกิจเป็นล้านล้าน ถ้าเกิด Mob Rule ซึ่งเสียหายทุกฝ่ายรวมทั้งม็อบเองก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการเดินถนน จึงขอให้นั่นเป็นวิธีสุดท้ายที่หมดปัญญาแล้ว ไม่มีปัญญาจะแก้ปัญหาของประเทศชาติโดยวิธีสันติได้แล้ว