เทรนด์คนจีนยุคใหม่ 'ขอกลับมารับจ้างเป็นลูกให้พ่อแม่เลี้ยง' หลัง 'หมดไฟ-งานหายาก-ตกงาน-เบื่อแก่งแย่ง-แข่งขันสูง'

(24 ก.ค.66) เพจ 'Reporter Journey' ได้โพสต์บทความเกี่ยวกับคนจีนยุคนี้ที่เริ่มขอเป็น 'ลูกฟูลไทม์' กันมากขึ้น หลังจากหมดไฟทำงาน งานหายาก ตกงาน เบื่อแก่งแย่งแข่งขัน กลับมาอยู่บ้านให้พ่อแม่เลี้ยงดีกว่า ไว้ว่า..

ในสภาวะที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจอันดับ 2 ของโลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และจากอัตรการฟื้นตัวที่ชะลอตัว และยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศโดยเฉพาะความแข็งแกร่งของสถาบันการเงิน ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น ต้นทุนการใช้ชีวิตที่มากกว่ารายได้ และปัญหาที่ประชาชนเริ่มไร้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งซุกเอาไว้ใต้พรมและเริ่มที่จะกลบเอาไว้ไว้ไหวอีกต่อไป

สิ่งเหล่านี้กำลังบั่นทอนคุณภาพสังคมจีนที่หลายฝ่ายเคยเชื่อมั่นว่าจะเป็นเครื่องยนต์สำรองที่จะขับเคลื่อนโลก ในยามที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังลุ่มๆ ดอนๆ แต่ก็สุดท้ายก็ไม่สามารถเดินเครื่องช่วยพยุงใครได้ เพราะลำพังแค่พยุงตัวเองก็ลำบากแล้ว

การที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างหนักส่งผลทำให้เปิดปัญหาในเชิงสังคมตามมาโดยเฉพาะการว่างงานที่สูงมากขึ้นในกลุ่มผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 20 - 30 ปี ยิ่งกดดันให้คนในช่วงอายุนี้ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และเริ่มกัดกินความรู้สึกอยากต่อสู้จนเริ่มหมดไฟ และพร้อมหันหลังให้กับสนามแข่งขัน

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในจีนตอนนี้ กำลังเข้าสู่เทรนด์ของ 'การกลับไปเป็นลูกอีกครั้งแบบฟูลไทม์' หรือ 'รับจ้างเป็นลูกให้พ่อแม่เลี้ยง' ซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ไม่มีงานประจํา และอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างดุเดือดในสังคมจีนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ว่านี่คือสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างมากต่ออนาคตของประเทศ จากการที่ผู้ใหญ่ได้สร้างสังคมที่กำลังไม่เหมาะกับการใช้ชีวิตของคนยุคนี้

การเป็นลูกฟูลไทม์ ที่พ่อแม่จ่ายจะเงินให้เพื่อแลกกับการทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ในบางกรณีอาจเรียนต่อหรือพยายามหางานทําไปพรางๆ แต่พ่อแม่ยังคงต้องเลี้ยงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้งานที่ต้องการทำ

ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เกิดขึ้นกับผู้ที่ไร้การศึกษา หรือชีวิตไม่มีทางเลือกเพราะเรียนมาไม่สูง แต่เกิดกับผู้ที่มีการศึกษาที่ดี ซึ่งลูกฟูลไทม์บางคนกล่าวว่า พวกเขาเบื่อกับสภาพแวดล้อมการทํางานที่มีการแข่งขัน ชั่วโมงการทํางานที่ยาวนาน และค่าครองชีพที่สูงในเมืองใหญ่ แต่ด้วยเหตุผลหลายประการที่ชัดเจนกว่าคือ พวกเขาไม่สามารถหางานที่ตรงกับความต้องการของตัวเองได้ ดังนั้นจึงเลือกเส้นทางชีวิตคือหันหลังกลับบ้านเพื่อไปอาศัย “เกาะพ่อแม่กิน”

แต่แทนที่พ่อแม่จะไล่ให้กลับไปหางานทำโดยเฉพาะคนในอายุวัยทำงาน 20 - 30 ปี แต่กลายเป็นว่า พ่อแม่ของพวกเขายินดีที่จะให้ลูกกลับมาอยู่บ้าน เพื่อได้ได้ใช้เวลากับลูก ผู้ปกครองบางคนยังให้เงินเป็นค่าครองชีพ ซึ่งบางครั้งสูงถึงหลายพันหยวนต่อเดือนโดยที่ไม่ต้องดิ้นรนชีวิตอะไรเลย

ชีวิตประจำวันของลูกฟูลไทม์คือ การทําอาหาร ช้อปปิ้ง หรือการพาพ่อแม่ไปพบแพทย์หากพวกเขาไม่สบาย และวางแผนการเดินทางในวันหยุดสุดสัปดาห์

ในขณะที่โพสต์โซเชียลมีเดียบางโพสต์ของลูกฟูลไทม์ได้เล่าชีวิตของพวกเขาที่แสนสบายคือ พวกเขามีความสุขที่ได้ออกจากวงจรชีวิตการทำงานแบบหนูแฮมสเตอร์วิ่งในวงล้อ แต่หลายคนก็พูดถึงความวิตกกังวลและแรงกดดันจากพ่อแม่ หรือญาติของในการหางานที่เหมาะสมและแต่งงาน

คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่และผู้ปกครองมองว่า การเลือกเป็นลูกฟูลไทม์คือวิธีแก้ปัญหาชั่วคราวระหว่างหางาน และเป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อไม่มีทางเลือกอื่น

ทั้งนี้ ประเทศจีนนับว่าเป็นชาติที่มีการแข่งขันสูงในแทบทุกด้าน ด้วยจำนวนประชากรที่มากกว่า 1,400 ล้านคน และส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ทำให้ผู้คนต้องแข่งขันกันอย่างรุนแรงเพื่อยกระดับชีวิตของตัวเองและครอบครัวให้สูงขึ้นนับตั้งแต่วัยเรียนที่ต้องสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยระดับท็อปของประเทศให้ได้ การได้ทำงานในบริษัทหรือองค์กรที่มีชื่อเสียง ความก้าวหน้าในอาชีพการงาน รวมทั้งการสร้างฐานะเพื่อเตรียมตัวแต่งงาน

ความเหนื่อยหน่ายที่ทําให้ผู้ใหญ่วัยทํางานอยากกลายเป็นลูกฟูลไทม์นั้นไม่น่าแปลกใจเลย เนื่องจากความสมดุลระหว่างชีวิตและการทํางานที่ไม่ดีของจีน วัฒนธรรมการทํางานในประเทศมักถูกเรียกว่า '996' ซึ่งผู้คนคิดว่าเป็นเรื่องปกติในการทํางาน 9.00 - 21.00 น. 6 วันต่อสัปดาห์

คำสอนที่ผู้ใหญ่สอนกันต่อๆ มาว่า จะต้องเรียนให้สูงทํางานให้หนัก ให้พวกเขาทุ่มเทให้มากแล้วจะได้ผลตอบแทนความพยายามที่คุ้มค่า ตอนนี้คนส่วนใหญ่รู้สึกเหนื่อนจนอยากพ่ายแพ้และหันหลังให้กับการแข่งขัน

อีกทั้งมากกว่า 1 ใน 5 ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 16 - 24 ปีว่างงานในประเทศจีน และอัตราการว่างงานของเยาวชนได้แตะระดับสูงสุดใหม่ ตามตัวเลขอย่างเป็นทางการที่เผยแพร่จากฐานข้อมูลของรัฐบาลจีน ซึ่งอยู่ที่ 21.3% ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2018 ตัวเลขนี้ไม่ได้รวมถึงตลาดแรงงานในชนบท

อีกทั้งในปีนี้จะมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาอีกเกือบ 12 ล้านคนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งนั่นจะเป็นเหมือนกับสึมามิแรงงานลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้ามาท่ามกลางปัญหาเดิมที่ยังไม่อาจแก้ไขได้

ความสิ้นหวังยังลามไปถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยด้วย จนบางคนตั้งใจทำข้อสอบผิดๆ ให้สอบตก เพื่อจะได้ศึกษาจบช้าลง

ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สังคมออนไลน์จีนเต็มไปด้วยภาพถ่ายวันรับปริญญาที่แปลกผิดปกติ ซึ่งสะท้อนถึงความท้อแท้สิ้นหวังของเด็กจบใหม่ บางรูปเป็นภาพคนรุ่นใหม่ 'นอนราบ' ในชุดรับปริญญา ใบหน้าเต็มไปด้วยสีชอร์ก รูปอื่น ๆ เป็นภาพนักศึกษาจบใหม่ถือใบปริญญาเหนือถังขยะ เหมือนจะสื่อว่า จะโยนปริญญาทิ้งลงถังขยะ

ปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐบาลจีนเองก็รับรู้ แต่การแก้ไขปัญหานั้นอาจจะดูไม่ตรงจุด เพราะในเดือนพฤษภาคม สี จิ้นผิง ผู้นําจีนได้ให้สัมภาษณ์ผ่านหนังสือพิมพ์พีเพิลส์เดลี่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เรียกร้องให้คนหนุ่มสาว 'กินความขมขื่น' ซึ่งเป็นสํานวนภาษาจีนกลางที่หมายถึงการอดทนต่อความยากลําบาก ไปทำงานที่ตัวเองไม่ชอบไปก่อนเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า ต่อให้รายได้จะต่ำว่าวุฒิการศึกษาก็ต้องฝืน ๆ ทำไปก่อน

ในขณะที่จีนกําลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว เกือบ 1 ใน 3 ของประชากรหรือ 400 ล้านคนจะมีอายุ 60 ปีขึ้นไปภายในปี 2035

หลายคนที่ถึงวัยเกษียณมีลูกเพียงคนเดียวซึ่งหมายความว่า คู่สมรสจะต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุถึง 4 คน

สําหรับการเป็นลูกเต็มเวลาอาจเป็นเพียงการจัดการชีวิตแบบชั่วคราว แต่เป็นการซื้อเวลาสําหรับประเทศจีน สถานการณ์นี้จะไม่ดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต เมื่อพ่อแม่ของพวกเขามีแนวโน้มที่จะเข้าใกล้อายุ 80 ปีและอาจต้องการการดูแลเต็มเวลาจริงๆ ปัญหานี้จะย้อนกลับมาที่คนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าจะต้องพบในไม่ช้า