‘กลุ่มพิราบขาว’ ยื่นศาล รธน. สอย ‘พิธา’ ปมคุณสมบัติ ด้าน ‘เสรี’ เย้ย มี ส.ว.หนุนนั่งนายกฯ ไม่เกิน 5 เสียง

(27 มิ.ย. 66) ที่รัฐสภา นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำพิราบขาว 2006 ยื่นหนังสือต่อนายสมชาย แสวงการ ส.ว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.ในฐานะประธานกมธ.การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เพื่อขอให้ ส.ว.ร่วมกันลงชื่อร้องเรียน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล กรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี ซึ่งอาจขัด พ.ร.ป.ว่าด้วย ส.ส.มาตรา 42 (3) และกรณีโอนหุ้นให้กับบุคคลอื่นหลังวันเลือกตั้ง อาจเข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่

นายสมชาย กล่าวว่า ประเด็นหุ้นสื่อ ตนขอเรียกร้องให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับนายพิธา และไม่มีปัญหากับการเป็นนายกฯ ส่วนที่เสนอให้ ส.ว.เข้าชื่อเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิธานั้น ในความเป็นส.ส.ของนายพิธา ส.ว.ไม่สามารถทำได้ แต่หากเป็นประเด็นของนายกฯ ส.ว.ทำได้

เมื่อถามถึงนายพิธา มั่นใจว่าจะได้รับเสียงโหวตจาก ส.ว.ให้เป็นนายกฯ นายสมชาย กล่าวว่า จากที่ตนพูดคุยกับ ส.ว.ที่ลงคะแนนเลือกตั้งให้พรรคก้าวไกล พบว่าไม่ได้เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคก้าวไกล เช่น การแก้ไขมาตรา 112 การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รวมถึงหมวด 1 หมวด 2 แต่เห็นด้วยกับบางนโยบาย ดังนั้น การลงมติเลือกของ ส.ว.ขอให้มั่นใจในดุลยพินิจ และวุฒิภาวะของ ส.ว.ที่จะพิจารณาในประเด็นสิ่งที่เป็นผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ความสงบสุข

“ส.ว.ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล หรือคำนึงถึงการเปลี่ยนขั้วอำนาจ เปลี่ยนข้างหรือข้ามขั้วหรือไม่ แต่ประเด็นนายกฯ มีความเกี่ยวข้องกับการตั้งรัฐบาล ต้องพิจารณาสิ่งที่จะไม่ทำให้เกิดความกังวลในความมั่นคงของประเทศ และไม่นำไปสู่ปัญหาความไม่มั่นคง สำหรับบางนโยบายของพรรค พบว่าสุ่มเสี่ยง ดังนั้น ผมขอให้เอาออกเพื่อประโยชน์ของประเทศ” นายสมชาย กล่าว

ด้านนายเสรี กล่าวว่า เรื่องการถือหุ้นของนายพิธา อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ กมธ.พัฒนาการเมือง วุฒิสภาอยู่แล้ว และในวันที่ 28 มิ.ย. เวลา 10.00 น. กมธ.จะไปมอบให้กับประธานกกต. ขอทราบความคืบหน้าการตรวจสอบนายพิธา ที่ถูกตรวจสอบตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 กรณีรู้ตัวขัดคุณสมบัติ แต่ยังลงสมัครเลือกตั้ง และจะนำหลักฐานการถือครองหุ้นสื่อไอทีวีของนายพิธา และข้อมูลการถือครองที่ดิน 14 ไร่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ของนายพิธาไปยื่นต่อ กกต. โดยเห็นว่า กกต. ควรส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนจะมีการเลือกนายกฯ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับ ส.ว.ตัดสินใจ

นายเสรี กล่าวว่า หลังจากนี้ ส.ว.จะเข้าชื่อกันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ส่งเรื่องให้ประธานวุฒิสภา ยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกฯของนายพิธา ที่ระบุต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 160 ที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามการถือครองหุ้นสื่อ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ในฐานะที่ ส.ว.ต้องมีส่วนร่วมเห็นชอบนายกฯ

ดังนั้น เมื่อมีข้อสงสัยเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามย่อมยื่นตีความให้ตรวจสอบได้ โดยควรยื่นให้ตรวจสอบก่อนจะโหวตเลือกนายกฯ แต่จะมีผลทำให้การโหวตนายกฯ ต้องยุติก่อนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภาจะพิจารณา หาก กกต.ไม่ยื่นตีความคุณสมบัติของนายพิธา ก่อนโหวตนายกฯ ก็อาจเป็นไปได้ที่ ส.ว.จะเข้าชื่อกันยื่นตีความคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกฯของนายพิธา

ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก ส.ว.ยื่นตีความคุณสมบัตินายกฯ ของนายพิธา จะทำให้ปลุกกระแสสังคมออกมาต่อต้านหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า กระแสสังคมคือส่วนหนึ่ง ความถูกต้องคือส่วนหนึ่ง ถ้ากระแสสังคมไม่ถูกต้อง จะยึดอะไรระหว่างความถูกต้องกับกระแส ถ้ายึดแต่กระแสก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

เมื่อถามว่านายพิธามั่นใจว่ามีเสียง ส.ว.เพียงพอจะโหวตให้เป็นนายกฯนั้น นายเสรีกล่าวว่า หากเสียงมากพอ ก็เป็นนายกฯ ได้เลย แต่ขณะนี้ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่า ส.ว.คนใดสนับสนุน นอกจาก 17 คน ที่มีชื่อและหลายคนก็บอกว่าถูกเอาชื่อไปใส่ และหลายคนบอกว่า ถ้าได้เสียงข้างมากจะเลือกให้เป็นนายกฯ แต่ตอนนี้ทุกคนพูดตรงกันว่าถ้าเสียงข้างมาก แล้วยังไปแก้มาตรา 112 ก็จะไม่ลงคะแนนให้

“เท่าที่ทราบตอนนี้มี 5 คน ที่จะโหวตให้ ส่วนตนยืนยันมาตลอดว่าหากมีการแสดงออก หรือมีการกระทำไปในแนวทางที่แก้ไขมาตรา 112 ก็ไม่โหวตให้แน่นอน ดังนั้น การลงมติในครั้งนี้ ถึงไม่เหมือนกับการเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2562 พร้อมยืนยัน ส.ว.มีอิสระในการตัดสินใจ ไม่มีใบสั่งจากใครนอกจากประชาชน” นายเสรี กล่าว

เมื่อถามว่า หากเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ มาจากพรรคเพื่อไทย จะทำให้สบายใจขึ้นในการโหวตให้เป็นนายกฯ หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องสบายใจหรือไม่สบายใจ แต่เป็นเรื่องที่ ส.ส.จะไปตกลงกันให้สบายใจ ไปจัดทัพรวบรวมเสียงกันมา เมื่อถึงตอนนั้น ส.ว.จะพิจารณาตามมาตรา 159 คือเลือกบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามย้ำว่า หากแนวโน้มเป็นแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย จะมีภาษีมากกว่านายพิธาหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ต้องดูว่าเป็นใคร เพราะพรรคเพื่อไทยมี 3 ชื่อ ก็ต้องดูว่าเสนอใคร ส่วนพรรคภูมิใจไทยก็มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คงยังตอบไม่ได้ ต้องพิจารณาก่อนว่าบุคคลนั้นเหมาะสมหรือไม่ รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็อยู่ในเกณฑ์เดียวกัน