วิกฤตใหญ่รอบนี้อาจไม่ใช่สหรัฐฯ  แต่อาจเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่

(11 พ.ค. 66) แน่นอนว่าหากใครติดตามข่าวสารการเงินโลกอยู่ตอนนี้ ก็คงเห็นข่าวถล่มสหรัฐฯ กันทุกวี่ทุกวันจากฝั่งคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะข่าวที่ว่าดอลลาร์จะเสื่อมค่าหนักกลายเป็นแบงก์กงเต็กที่ไม่มีใครเอา ไม่มีใครต้องการ แต่ในความเป็นจริงแล้วระเบิดลูกใหญ่อาจซ่อนอยู่ในประเทศที่ดูดีเวอร์ ๆ และดูไม่มีความเสี่ยง มากกว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เสียอีก !

World Maker ย้ำมาตลอดหลายบทความแล้วว่าท่านควรจะระวังอะไรบ้าง ซึ่งเราไม่ได้การันตีว่าจะเกิดขึ้นแบบ 100% เนื่องจากผู้เขียนเองก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะถ้าเกิดแล้วจะสร้างความเสียหายแก่คนจำนวนมากที่กำลังประมาท “สู้ให้ผู้เขียนเป็นผู้ผิดเสียเองจะดีกว่า” แต่ถึงกระนั้นก็อยากบรรยายถึงความเสี่ยงเอาไว้ให้ท่านไม่ประมาทเกินไป โดยจะสรุปให้เป็นข้อ ๆ อีกครั้งเพื่อความชัดเจนดังนี้ (ถ้าผมผิดและมันไม่เกิดขึ้นจริงตามนี้ก็ดีแล้ว ให้ผมผิดไปเลย ผมไม่กลัวความผิด แต่ถ้ามันเกิดขึ้นจริงคนที่เดือดร้อนไม่ใช่ผมแต่จะเป็นคนส่วนใหญ่)

1. ตลาดทองคำและ Crypto ตอนนี้กำลังมีข่าวจากผู้ที่ยกตนเป็นกูรูการเงินโลก ออกมาเชียร์ให้คนซื้อทองคำและทิ้งเงินดอลลาร์-พันธบัตรอเมริกา ขณะที่หลายปีมานี้ทองคำถูกดันราคาขึ้นมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันเทรดอยู่ที่ระดับสูงกว่า 2,030 $/Oz และมีแรงเชียร์ซื้อมากมายจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่พยายามล้มดอลลาร์ ซึ่งแม้ว่าตลอด 5,000 ปีที่ผ่านมาทองคำจะมีประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างดูดีและสามารถรักษามูลค่ามาได้ตลอด แต่การจะบอกว่ามันคือสินทรัพย์อมตะที่จะล้มเงินดอลลาร์และราคาพุ่งทะลุเพดานนั้น ไม่แน่ด้วยซ้ำว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ? โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ทองคำแทบไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อะไรในทางเศรษฐกิจจริง นอกจากการเก็งกำไร และการซื้อเพราะหวังว่าจะสามารถขายต่อได้ที่ในราคาแพงกว่าเดิม

ส่วน Crypto นั้นก่อนหน้านี้เป็นกระแสข่าวหนักว่าจะล้มดอลลาร์และทองคำ แต่สุดท้ายก็พังไปก่อนเพื่อน และตอนนี้กำลังถูกหน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐฯ-ตะวันตกตรวจสอบอย่างหนัก สวนทางกับที่จีน-รัสเซียกลับลำเปิดหน้าหันมาดันอย่างชัดเจน โดยฮ่องกงตั้งเป้าตัวเองเป็นศูนย์กลางคริปโตโลก ขณะที่รัสเซียเริ่มเชื่อม Ethereum และ Metamask เข้ากับ Sberbank ที่เป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ของประเทศ แต่ Crypto เป็น 1 สินทรัพย์ที่ปู่ Warren Buffett ออกมาประจานชัดเจนว่าเป็นเหรียญเก็งกำไรไม่มีมูลค่าแท้จริงและจะพบจุดจบไม่สวยงาม (ปู่เคยกล่าวอีกว่าทองคำก็เอามาใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้นอกจากเก็งกำไรเป็นหลัก)

2. อสังหาฯ-ที่ดินใน Emerging Market และอีกหลายประเทศ เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมามีกลุ่มที่กว้านซื้อหวังเก็งกำไรจนดันให้ราคาสูงเกินมูลค่าที่ควรจะเป็นไปอย่างมาก และคนทั่วไปส่วนใหญ่แทบจะเอื้อมกันไม่ถึงแล้ว ซึ่งพอมาถึงสภาพแวดล้อมเช่นนี้ทำให้กลุ่มที่ดันราคามาตลอดหาผู้ซื้อใหม่แทบจะไม่ได้ สุดท้ายหากขาดแคลนสภาพคล่องขึ้นมา จะต้องนำอสังหาฯ-ที่ดินเหล่านี้มาขายทอดตลาดในราคา Discount อย่างมาก

3. พันธบัตร-ตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่ ต้องระวังเอาไว้บ้าง โดยเฉพาะเรื่องของสภาพคล่อง เพราะพันธบัตรเหล่านี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีการออกกู้กันเยอะมากโดยพวกที่โลภและคิดจะหาเงินแบบ Easy Money แต่กลับไม่มีความสามารถในการทำกำไรมาจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินต้นได้ ดังนั้นหากโดนกดดันจากสภาพแวดล้อมในตอนนี้ต่อไปอีกจนถึงทางตันขึ้นมา เราอาจได้เห็นการ Default เกิดขึ้นหนักกว่าในสหรัฐฯ หลายเท่า

4. ธนาคารในหลายประเทศ จะต้องจับตามองเอาไว้ โดยเฉพาะธนาคารที่มีผู้บริหารไม่ได้เรื่อง โลภมาก ใช้จ่ายเงินอย่างประมาท อย่างที่ปู่ Warren Buffett ออกมากล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่ากลุ่มธนาคารนั้นมีความล่อใจอย่างมากให้คนทำชั่วและตักตวงผลประโยชน์เข้าตัวเอง แม้แต่สหรัฐฯ ที่มีการตรวจสอบโดยรวมเข้มงวดก็ยังเกิดวิกฤตเช่นนี้ขึ้นมาได้ ดังนั้นในหลายประเทศที่ไม่มีการตรวจสอบเหมือนสหรัฐฯ อาจมีวิกฤตใหญ่กว่าที่ซ่อนอยู่

5. ค่าเงินของประเทศที่พยายามทำให้ดูดี เพราะแม้ว่าปัจจุบันจะมีข่าวกระหน่ำโจมตีค่าเงินดอลลาร์อย่างหนัก ทำให้ดูเหมือนดอลลาร์จะมีความเสี่ยงมากที่สุด แต่จริง ๆ แล้วประเทศที่มีปัญหาใหญ่เรื่องเศรษฐกิจ-ค่าเงินอาจกำลังปิดข่าวเงียบ ซึ่งหากใครตามข่าวสารดูดี ๆ จะเห็นว่าค่าเงินหลายประเทศกำลังเปราะบางอย่างมาก บางประเทศคิดอะไรไม่ออกก็ต้องหันไปหาทองคำเพื่อพยายามหลีกเลี่ยงการเสื่อมค่าของสกุลเงินเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตอจริง ๆ คือระบบบริหารและระบบสืบทอดอำนาจจากผู้ที่ไม่มีความรู้อย่างถ่องแท้ในการดำเนินเศรษฐศาสตร์-การเงินของประเทศ (และถ้าทองคำไม่ใช่คำตอบอีกก็จะยิ่งเสียหายหนัก)

📌 ตอนนี้สหรัฐฯ กำลังหารือเกี่ยวกับเพดานหนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด Joe Biden ระบุว่ามีความคืบหน้าเล็กน้อยในการเจรจาเมื่อวันอังคาร ซึ่งเรื่องของเพดานหนี้สหรัฐฯ เป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนได้อย่างมาก เพราะแม้แต่ขุนคลัง Janet Yellen ก็ออกมากล่าวชัดเจนว่าหากสหรัฐฯ ผิดชำระหนี้ขึ้นมา มันจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ-การเงินโลกเป็นอย่างมาก รวมถึงทำลายความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ อย่างสาหัส

และขณะเดียวกันก็จะทำให้กลุ่มคอมมิวนิสต์โหมกระหน่ำถล่มสหรัฐฯ หนักขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในแง่ของข้อมูลข่าวสาร นั่นหมายถึงการสั่นคลอนเงินดอลลาร์มากกว่าเดิมหลายเท่าตัว ซึ่งก็ต้องรอดูกันว่าสหรัฐฯ จะยอมให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้หรือไม่ ?

แต่ในทางกลับกัน วันนี้ตัวเลข CPI เทียบรายปีของสหรัฐฯ ประจำเดือนเมษายนประกาศออกมาที่ 4.9% ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 5% แม้ว่า Core CPI ที่ไม่นับรวมอาหารและพลังงานจะอยู่ที่ 5.5% นั่นทำให้ FED อาจมีช่องว่างมากขึ้นในการดำเนินนโยบายทางการเงิน และบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่เป็นหายนะเกินควบคุมเหมือนที่สื่อฝั่งคอมมิวนิสต์กำลังโจมตี

นอกจากนี้ กลุ่มธนาคารในสหรัฐฯ ทำกำไรได้มากถึง 8 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 (เพิ่มขึ้น +33% จากไตรมาส 1 ปี 2022) สวนทางอย่างสิ้นเชิงจากการกระหน่ำข่าวที่ว่าสหรัฐฯ กำลังจะเกิดวิกฤตเหมือนในปี 2008 จนพังทลายลงไป

จากธนาคารเกือบ 4,400 แห่งของสหรัฐฯ พบว่ามีเพียง 197 แห่งหรือน้อยกว่า 5% ที่ขาดทุนในไตรมาสแรก ตามข้อมูลของ BankRegData ซึ่งทำให้น่าจับตามองว่าที่กูรูฝั่งคอมมิวนิสต์กำลังพยายามโจมตีว่าสหรัฐฯ จะล่มสลายนี้ เป็นเรื่องจริงหรือแค่เรื่องแต่งขึ้นมาหวังทุบดอลลาร์แล้วครองโลกเอง ?

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหรัฐฯ อาจไม่ได้น่าเป็นห่วงเหมือนระเบิดที่ซ่อนอยู่ในประเทศอื่น ๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะประมาทได้ เพราะปู่ Warren Buffett และคู่หูอย่างปู่ Charlie Munger ก็กล่าวเองชัดเจนว่ายังมีธนาคารอีกหลายแห่งที่ต้องได้รับบทเรียนจากการบริหารเงินอย่างไม่ได้เรื่อง ในขณะที่สหรัฐฯ จะยกเลิกการผ่อนคลายกฎหมายที่เกิดขึ้นในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ (ซึ่งเป็นรัฐบาลที่สัมพันธ์แน่นแฟ้นกับรัสเซีย) ที่ทำให้ธุรกิจขนาดเล็ก-กลางไม่ต้องโดนตรวจสอบความปลอดภัยด้านการเงินโดยการเข้ารับ Stress Test เหมือนบริษัทใหญ่ ๆ

นั่นหมายความว่านับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ผลประกอบการของธุรกิจหลายแห่งในสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลง หรือในบางแห่งที่มีปัญหาก็อาจจะเริ่มทรุดตัวอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นแม้ว่าโดยภาพรวมจะไม่ใช่จุดที่เป็นความเสียหายครั้งใหญ่เหมือนในปี 2008 แต่ผู้ที่ลงทุนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับภาคการเงินของสหรัฐฯ ก็จะต้องรัดเข็มขัดเอาไว้อย่างไม่ประมาท

ทั้งนี้ อย่างที่บอกว่าเราที่ควรกังวลจริง ๆ อาจยังไม่เป็นข่าวในตอนนี้และไม่ได้อยู่ในสหรัฐฯ แต่เป็นกลุ่มประเทศที่คนปลอยปะละเลยไม่สนใจ แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจระดับมหภาคจะมีความตึงเครียดสูงขึ้นอย่างเงียบ ๆ แต่เป็นแบบทวีคูณ โดยเฉพาะเรื่องของฟองสบู่สินทรัพย์ที่ถูกเก็งกำไรดันราคาโดยกลุ่มคนโลภในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้

ตลาดอสังหาฯ เชิงพาณิชย์ถือว่าน่าจับตามองในช่วงต่อจากนี้ โดยเริ่มจากในสหรัฐฯ ที่ตอนนี้ราคาบ้านในบางพื้นที่ของสหรัฐฯ ได้ลดลงแล้ว -14.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า พร้อมกับยอดขายที่ลดลง แม้ว่าในหลายพื้นที่ราคาจะยังเพิ่มขึ้นสวนทางปัจจัยพื้นฐาน แต่ที่สำคัญคือภาพที่อาจตามมาในประเทศอื่น ๆ หลังจากนี้ ซึ่งภาวะดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะเป็นแรงกดดันต่ออสังหาฯ มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกเก็งกำไรดันราคาขึ้นไปจนเวอร์สูงลิ่วในหลาย 10 ปีที่ผ่านมา หากไปจนถึงจุดที่สูงเกินไป สุดท้ายจะเกิดภาวะฟองสบู่แตกและต้องปรับฐานลงมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยสรุปก็คือ สิ่งที่ World Maker สรุปมา 5 ข้อรวมถึงเรื่องเพดานหนี้และอสังหาฯ นี้ อยากให้จับตามองเอาไว้ให้ดีและระมัดระวังเอาไว้อย่างไม่ประมาท ใครจะทุ่มเงินซื้อบ้าน ซื้อทอง ซื้อรถ ก็อย่าพึ่งมั่นใจนัก อย่าพึ่งรีบร้อนเกินไปกับราคาในปัจจุบัน อย่ามั่นใจ 100% ว่าราคาจะพุ่งทะลุเพดานไปอีกหลาย % ในเร็ว ๆ นี้

ซึ่งแม้ว่าผู้เขียนจะไม่สามารถการันตีได้ 100% ว่าจะเกิดขึ้นจริง และจะอยากให้ตัวเองผิดเสียด้วยซ้ำไป แต่ถ้าผู้เขียนเกิดถูกขึ้นมา คนเสียหายก็คือคนที่โลภมากในก่อนหน้านี้ (ซึ่งกลุ่มนี้ควรได้รับบทเรียนอยู่แล้ว) แต่คนที่ไม่ได้มีเป้าประสงค์ไม่ดี เพียงแต่ว่าขาดความรู้ทางการเงินในการบริหารความเสี่ยง อาจตัดสินใจผิดได้และเสียหายหนักไม่ต่างกัน หากไม่ได้รับรู้ข้อมูลตรงนี้


เรื่อง: World Maker