ผู้พิพากษาสตรีเชื้อชาติอินเดียคนแรกของประเทศไทย สะท้อน!! 'ทุกโอกาส-เชื้อชาติ' เกิดขึ้นได้ใต้พระบรมโพธิสมภาร

“ดร. พูยา ทริปาทิ : ผู้พิพากษาสตรีเชื้อสายอินเดียคนแรกของประเทศไทย ตอนที่ 1”

วันเสาร์ที่ 4 มีนาคม 2566 ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุรัตน์ โหราชัยกุล ได้สัมภาษณ์ ดร. พูยา ทริปาทิ ผู้พิพากษาสตรีชาวไทยเชื้อสายอินเดียคนแรก ขณะวันเวลาสัมภาษณ์ ดร. พูยา ทริปาทิดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลจังหวัดบุรีรัมย์ บทสัมภาษณ์แบ่งออกเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 นำลงเพจภารัต-สยามวันที่ 1 เมษายน 2566 ตอนที่ 2 นำลงเพจฯ วันที่ 8 เมษายน 2566 เรื่องราวของผู้พิพากษาท่านนี้หลายประเด็นน่าสนใจมาก ลองอ่านบทสัมภาษณ์ดูนะครับ

สุรัตน์ : พอจะเล่าภูมิหลังของครอบครัวให้ผมฟังก่อนได้ไหมครับ

ดร. พูยา : คุณพ่อเติบโตที่ประเทศอินเดีย บ้านเกิดชื่อมาร์จา (Marcha) เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ใน [มลรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh)] ประเทศอินเดีย เมื่อคุณพ่ออายุได้ 19 ปี ท่านก็ตัดสินใจมาประเทศไทย ในบรรดาสมาชิกครอบครัวของเรา คุณพ่อเป็นคนแรกที่เดินทางมาประเทศไทย เพราะแม้จะเป็นคนขยันและเรียนหนังสือเก่ง แต่คุณพ่อไม่อาจเรียนต่อที่ประเทศอินเดียได้ เนื่องจากสถานภาพทางการเงินที่บ้านไม่ค่อยจะดีนัก ในจำนวนบุตรทั้งหมด 4 คน คุณพ่อมีพี่สาวหนึ่งคน ถัดมาเป็นคุณพ่อและมีน้องชายอีกสองคน ในฐานะที่คุณพ่อเป็นลูกชายคนโต ซึ่งโดยวัฒนธรรมอินเดียแล้ว ต้องเป็นผู้แบกรับภาระหน้าที่ของครอบครัวมากที่สุด

สุรัตน์ : ทำไมต้องประเทศไทย

ดร. พูยา : เหตุที่คุณพ่อเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายเพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เพราะก่อนหน้านี้มีบุคคลผู้หนึ่งที่คุณพ่อนับถือเหมือนคุณลุงหรือที่ดิฉันนับถือเหมือนคุณปู่นั้น ได้เข้ามาอาศัยอยู่ที่ประเทศไทยอยู่ก่อนแล้ว คุณปู่เป็นครูสอนภาษาบาลีสันสกฤตที่ประเทศไทย และเคยมีโอกาสสอนบุคคลสำคัญทางการเมืองบางท่านด้วย

สุรัตน์ : เมื่อมาถึงเมืองไทยแล้ว คุณพ่อประกอบอาชีพอะไรครับ

ดร. พูยา : แรก ๆ คุณพ่อก็เป็นลูกมือช่วยคุณปู่ค่ะ ในขณะเดียวกันคุณพ่อก็เริ่มเรียนภาษาไทยที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์และภาษาอังกฤษที่สถาบันสอนภาษา AUA ไปด้วย ครั้นเมื่อคุณปู่ถึงแก่กรรม คุณพ่อก็เคว้งคว้างอยู่ระยะหนึ่ง สักพักคุณพ่อก็กลับประเทศอินเดียเพื่อแต่งงานกับคุณแม่ แล้วพาคุณแม่มาอยู่ที่ประเทศไทยด้วยกัน แต่ชีวิตก็ไม่ง่าย คุณพ่อรับจ้างทำทุกอย่าง งานหนักเบาแค่ไหน คุณพ่อทำหมด ขอให้ได้เงินมาเลี้ยงครอบครัว มีอะไรที่คุณแม่ช่วยได้ คุณแม่ก็จะช่วย คุณแม่จะสนับสนุนผลักดันช่วยคุณพ่อทำทุกอย่างโดยหวังว่าวันหนึ่งชีวิตจะต้องดีขึ้น

สุรัตน์ : ท่านผู้พิพากษามีพี่น้องกี่คนครับ

ดร. พูยา : หลังจากที่คุณพ่อและคุณแม่แต่งงานกันได้หนึ่งปี ก็มีพี่ชาย ถัดมาอีกปีก็มีดิฉัน ยิ่งมีลูกสองคนไล่เลี่ยกัน ก็ยิ่งต้องขยัน แม้คุณพ่อจะยังเคว้งคว้างอยู่บ้าง ทว่าคุณแม่ก็ไม่หยุดผลักดันคุณพ่อ คุณแม่จะพูดเสมอว่า ต้องขยัน ต้องเก็บเงินให้ลูก คุณแม่ก็ช่วยเต็มที่ จะให้เก็บลังไม้ลังเบียร์เพื่อนำไปขายต่อ คุณแม่ก็ทำ คุณแม่เป็นช้างเท้าหลังจริง ๆ ผลักดันทุกอย่าง ตั้งแต่ดิฉันโตมา ดิฉันเห็นคุณแม่เก็บหอมรอมริบมาโดยตลอด คือไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายเลย คุณแม่เป็นคนเก็บเงินเก่งมากค่ะ ดิฉันไม่เคยเห็นคุณแม่ซื้อแม้กระทั่งเครื่องสำอางให้ตัวเองเลย คุณแม่ยึดมั่นในการใช้ชีวิตอย่างสมถะ

สุรัตน์ : นามสกุล ทริปาทิ ของท่านผู้พิพากษา จริง ๆ ก็คือตริปาถี (Tripathi) ซึ่งผันไปเป็น ตริเวที (Trivedi) หรือติวารี (Tiwari) ด้วยนั้น เป็นนามสกุลคนวรรณะพราหมณ์ ตรงนี้หลายคนอาจจะเข้าใจว่าคนวรรณะพราหมณ์ก็ต้องมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีหรือเปล่าครับ

ดร. พูยา : การอยู่วรรณะสูงก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นคนรวยมีฐานะดีเสมอไป และการอยู่วรรณะพราหมณ์ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องมีอาชีพเป็นนักบวชเท่านั้น เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ทุกคนต่างล้วนต้องทำงานหาเลี้ยงชีพโดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นนักบวชเท่านั้น

สุรัตน์ : ผมพอสรุปได้ไหมว่า คุณพ่อคุณแม่ของท่านผู้พิพากษามีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน แต่ในขณะเดียวกันก็เสริมส่งหรือจรรโลงไว้ซึ่งเสถียรภาพของครอบครัว

ดร. พูยา : ใช่เลยค่ะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีข้อขัดแย้งเลย เวลาคนสองคนที่ต่างกันมาอยู่ด้วยกัน ก็จะมีมุมมองที่ไม่เหมือนกันบ้าง แต่มุมมองที่ต่างกันก็พยายามปรับเข้าหากันได้ ซึ่งท้ายที่สุดก็คือการหาเหตุผลของแต่ละมุมมอง ดิฉันในฐานะลูกก็ได้เรียนรู้เรื่องมุมมองที่ต่างกันด้วย ตรงนี้ทำให้เราเริ่มคิดอะไรหลายอย่างไม่เหมือนกับเด็กในวัยเดียวกัน อย่างเดียวที่ทำได้ตอนเป็นเด็กคือคิด จะทำอะไรมากกว่าคิดไม่ได้ ดิฉันเริ่มคิดเรื่องต้นตอของปัญหาในสมัยยังไม่เข้าสู่วัยรุ่น ถ้าเราเข้าใจต้นตอของปัญหา เราก็จะหลีกเลี่ยงปัญหาได้ไม่น้อยเลย คุณพ่อและคุณแม่ก็สอนเรื่องนี้อยู่เป็นประจำ เช่น ถ้าไม่ทำแบบนี้หรือแบบนั้น ปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้น จำได้อีกว่า ตอนนั้นเริ่มคิดได้ด้วยว่า ชีวิตของเราไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบ ความสมบูรณ์แบบคือความไม่สมบูรณ์แบบ แม้จะยังเด็กอยู่แต่ความคิดความอ่านของดิฉันก็มีความเป็นผู้ใหญ่มาก แต่บางทีดิฉันก็คิดนะว่าเราก็เป็นเด็ก ทำไมเราต้องไปคิดอะไรมาก เราควรจะสนุกสนานตามประสาเด็กมากกว่าไหม

สุรัตน์ : ผมพอจะสรุปได้ไหมว่า ชีวิตของครอบครัวท่านผู้พิพากษาไม่ได้สมบูรณ์แบบเหมือนกับหลายครอบครัว แต่ท่านผู้พิพากษากลับนำสิ่งนี้มาเป็นแหล่งแรงบันดาลใจในการสร้างชีวิตของตน

ดร. พูยา : ถูกต้องค่ะ คือเราต้องดูว่าปัญหาคืออะไร มูลเหตุของปัญหาคืออะไร แล้วก็แก้ปัญหาให้ตรงจุด เด็กหลายคนอาจจะไม่มองแบบดิฉัน อาจจะมองว่าเรามาจากครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์แบบ ก็เลยเลือกทางเดินที่ไม่ควร แต่ดิฉันไม่คิดแบบนั้น คุณพ่อสอนให้เข้มแข็งและสู้กับปัญหาเสมอ อย่าวิ่งหนี อีกหนึ่งคุณค่าทางความคิดที่ครอบครัวให้มาคือ การรู้ค่าของเงิน ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ตอนที่ดิฉันยังเป็นเด็กอยู่ ยังไม่มีรถไฟฟ้าบีทีเอส ดิฉันก็ขึ้นรถเมล์ไปโรงเรียน ไม่มีรถยนต์ส่วนตัวค่ะ

สุรัตน์ : เรียนหนังสือที่ไหนครับ

ดร. พูยา : ระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษาเรียนแถวบ้านค่ะ ส่วนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายเรียนที่โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ในระหว่างที่เรียนโรงเรียนนี้ ดิฉันเป็นเด็กที่ค่อนข้างโตกว่าวัย เป็นคนมีระเบียบวินัย แต่ก็เป็นคนเฮฮาด้วย ตอน ม.5 กับ ม.6 ก็ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าห้อง คงอาจจะเพราะเพื่อน ๆ มองว่าดิฉันเป็นคนมีความรับผิดชอบ ส่วนเรื่องเรียนดิฉันก็ไม่เคยประนีประนอม ตั้งใจให้ถึงที่สุดค่ะ ต้องยกความดีให้คุณพ่อ เรื่องเรียนคุณพ่อผลักดันและส่งเสริมเสมอ

สุรัตน์ : ดูจากภูมิหลังของครอบครัวคุณพ่อแล้ว ที่บ้านก็ไม่น่าจะมีความคิดเรื่องส่งเสริมลูกสาวเรียนหนังสือหรือเปล่า คือสมัยหนึ่งคนไทยเชื้อสายอินเดียก็มักจะคิดกันว่า ลูกสาวจะไปเรียนอะไรเยอะแยะ เดี๋ยวสักพักก็คงจะแต่งงานแล้ว

ดร. พูยา : คุณพ่อไม่เคยคิดแบบนี้เลย ดิฉันก็เคยรู้สึกแปลกใจเหมือนกัน เป็นไปได้ว่าคุณพ่อมาอยู่ประเทศไทยตั้งแต่อายุยังน้อยและประเทศไทยไม่มีค่านิยมดังกล่าวจึงเปลี่ยนแปลงความคิดจากสิ่งที่นิยมปฏิบัติในบ้านเกิด คุณพ่อจึงไม่เคยมองหรือปฏิบัติระหว่างพี่ชายกับดิฉันแตกต่างกัน และไม่เคยนำเรื่องความแตกต่างทางเพศสภาพมาเป็นข้อจำกัดหรือกีดกันไม่ให้ดิฉันได้รับการศึกษา ในทางตรงกันข้ามคุณพ่อสนับสนุนให้เราพี่น้องทั้งสองคนเรียนหนังสือ ตั้งใจเรียน ถ้าเรียนได้ ก็จะสนับสนุนอย่างเต็มที่

สุรัตน์ : หลังจากอยู่ประเทศไทยมาพักหนึ่งแล้ว สถานภาพทางการเงินของที่บ้านดีขึ้นบ้างไหมครับ

ดร พูยา : สถานภาพทางการเงินของที่บ้านก็ดีขึ้นตามลำดับ เริ่มมีช่องทางทำธุรกิจนำเข้าส่งออกบ้าง ตรงนี้ก็ทำให้คุณพ่อมั่นใจว่าจะสนับสนุนเรื่องการเรียนของลูกทั้งสองอย่างเต็มที่ แต่แล้วครอบครัวก็กลับมาย่ำแย่อีกครั้งในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ซึ่งตอนนั้นดิฉันก็กำลังเรียนหนังสือระดับประถมศึกษา รู้ว่าคุณพ่อและคุณแม่ลำบาก แต่คุณพ่อและคุณแม่พยายามไม่ให้เราพี่น้องรับรู้ถึงผลกระทบที่ได้รับจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งนั้น ถึงตรงนี้ดิฉันก็ได้เรียนรู้เรื่องการใช้เงินอีกครั้ง คือทำให้เราคิดได้ตลอดเวลาว่า จะใช้เงินกับสิ่งจำเป็นเท่านั้น เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ สมัยเรียนกระเป๋าที่ใช้ก็เป็นกระเป๋าเป้ธรรมดา ไม่ได้ใช้กระเป๋ามียี่ห้อแต่อย่างใด อะไรที่พี่ชายไม่ใช้แล้ว ดิฉันก็นำของเก่าหลายชิ้นของพี่ชายมาใช้ต่อ เช่น ตำราเรียน เพราะระดับประถมศึกษา เราพี่น้องเรียนโรงเรียนเดียวกัน ซึ่งก็ดีนะ ไม่รู้จะสิ้นเปลืองไปเพื่ออะไร ชีวิตไม่ได้มีอะไรหรูหรา โรงเรียนที่เข้าเรียนก็เพราะใกล้บ้าน จับฉลากได้ นั่งรถเมล์ขาไปจากบ้าน เวลากลับบ้านส่วนใหญ่ก็จะเดินกลับ ได้ออกกำลังกายไปในตัว

สุรัตน์ : ไม่เคยตัดพ้อต่อว่ากับชีวิตบ้างหรือ

ดร. พูยา : ไม่เลยค่ะ รู้สึกเป็นประสบการณ์ชีวิตมากกว่า อย่างที่บอกค่ะว่าดิฉันมีความคิดเป็นผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุยังน้อย ประกอบกับคนรอบตัวดิฉันส่วนใหญ่ก็ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย โรงเรียนที่เข้าเรียนก็เป็นโรงเรียนรัฐบาล มีทั้งนักเรียนนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างกลับบ้าน นั่งสองแถวบ้าง บางคนก็เดินกลับ นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้มีรถยนต์ส่วนตัวมารับส่ง สมัยที่เป็นนักเรียน สิ่งที่เราคิดอยู่ในเวลานั้นคือตั้งใจเรียน เพื่อน ๆ มักจะมองดิฉันว่าเป็นคนเปิดเผยเฮฮา แต่จริง ๆ แล้วดิฉันก็มีโลกอีกใบหนึ่ง ซึ่งหลาย ๆ คนไม่ค่อยทราบ โลกนี้คือโลกแห่งการตั้งใจเรียนหนังสือ เวลาอยู่กับหนังสือก็คืออยู่กับหนังสือจริง ๆ หลายครั้งที่เพื่อนดิฉันก็รู้สึกแปลกใจกับผลการเรียนของดิฉัน ต่อมาเพื่อน ๆ ก็รู้ว่า ดิฉันเป็นเด็กเรียนดีคนหนึ่ง เป็นนักเรียน 1 ใน 5 ของห้องที่ทำคะแนนได้สูงสุดเสมอ

สุรัตน์ : ตรงนี้ต้องยกเครดิตให้คุณพ่อหรือเปล่าครับ

ดร. พูยา : ถูกต้องค่ะ คุณพ่อผลักดันดิฉันตลอด บางทีเวลาดิฉันอ่านหนังสือและดูโทรทัศน์ไปพร้อม ๆ กัน คุณพ่อก็จะถามว่าจะดูโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือ เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะถ้าเราดูโทรทัศน์ก็จะไม่มีสมาธิในการอ่านหนังสือ ดิฉันก็เลือกที่จะอ่านหนังสือ

สุรัตน์ : คือคุณพ่อเป็นคนเข้มงวดเรื่องเรียนหนังสือ

ดร. พูยา : ใช่ค่ะ อาจจะเป็นเพราะคุณพ่อเป็นคนเรียนหนังสือดี แต่ไม่อาจเรียนต่อได้เพราะขาดแคลนทุนทรัพย์

สุรัตน์ : คือที่คุณพ่อขาดโอกาสทางการศึกษา ก็กำลังมาปรากฏในตัวท่านผู้พิพากษาหรือเปล่า

ดร. พูยา : น่าจะใช่นะคะ จุดนี้ก็ทำให้หลายคนที่ครอบครัวดิฉันรู้จักเข้าใจไปว่าคุณพ่อกดดันลูกสาว โดยเฉพาะสังคมชาวไทยเชื้อสายอินเดียบางกลุ่มซึ่งอาจจะมีทัศนคติทำนองว่า “ลูกของฉันโตมาแล้ว ต้องเป็นหมอ ต้องเป็นวิศวกร” ที่บ้านดิฉันไม่ได้มีทัศนคติแบบนี้ มีทัศนคติเพียงว่า ลูกต้องตั้งใจเรียน เพราะพ่อแม่ให้ได้เท่านี้ ทรัพย์สินเงินทองไม่รู้ว่าจะมีให้หรือไม่ แต่ที่จะให้ได้แน่นอนคือการศึกษา คือถ้าจะเรียน ก็จะสนับสนุนให้เรียน เคยถึงกระทั่งว่าช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ คุณแม่นำสร้อยคอไปจำนำเพื่อเป็นทุนการศึกษาสำหรับลูก ดังนั้น สำหรับคุณพ่อและคุณแม่แล้ว จะเรียนอะไรก็เรียนเถิด ไม่เคยมาตีกรอบว่าดิฉันควรเรียนอะไร และในที่สุดดิฉันก็เลือกเรียนศิลป์-ภาษา เพราะไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์สักเท่าไร ก็คือยังเรียนคณิตศาสตร์เสริม แต่เป็นตัวที่ง่ายกว่าที่นักเรียนสายวิทย์-คณิตฯ เรียนกัน ตรงนี้คุณพ่อก็ไม่ถอยอีก เมื่อเราไม่ชอบเรียนคณิตศาสตร์ ท่านก็บอกว่าหนีปัญหาไม่ได้ ในที่สุดก็จ้างครูพิเศษสอนคณิตศาสตร์ให้ดิฉันด้วย

สุรัตน์ : แล้วสมัยเรียนท่านผู้พิพากษาได้ทำกิจกรรมบ้างหรือเปล่าครับ

ดร. พูยา : ทำคะ แต่ทำถึงแค่ ม.5 เช่น จัดกีฬาสี เมื่ออยู่ชั้น ม. 6 ดิฉันทำกิจกรรมน้อยลงค่ะ สนใจเรื่องเรียนมากขึ้น ดิฉันรู้ตัวแล้วว่า ถ้าไม่เอาจริงตอน ม.6 ชีวิตคงไม่ง่ายแล้ว ที่สำคัญดิฉันไม่อาจทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจที่คุณพ่อกับคุณแม่มีต่อตัวดิฉันได้ ตอนนั้นจำได้ว่า ถึงอย่างไรดิฉันก็ต้องสอบเอ็นทรานซ์ให้ติดสักแห่งหนึ่ง แต่คณะและมหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝันคือ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สุรัตน์ : ทำไมต้องคณะนิติศาสตร์

ดร. พูยา : ตอนที่คุณพ่อและคุณแม่มาอยู่ประเทศไทยแบบเสื่อผืนหมอนใบนั้น ก็มีหลายครั้งที่คุณพ่อและคุณแม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ในบางครั้งเวลาคุณพ่อแสดงความเห็นบางเรื่อง ก็จะมีคนพูดในทำนองว่า ถ้าไม่รู้กฎหมายไทย ก็อย่าแสดงความเห็นอะไร ตรงนี้ก็ฝังใจดิฉันอยู่บ้าง คิดในใจว่า จะเรียนกฎหมายเพื่อปกป้องครอบครัวตัวเอง ดิฉันเชื่อมั่นในตนเองว่าดิฉันเรียนได้ ในเมื่อคุณพ่อและคุณแม่ก็ไม่เคยจำกัดทางเลือกของดิฉัน ดิฉันก็อยากเรียนกฎหมาย ตรงนี้อาจจะเป็นสิ่งที่อยู่ในใจดิฉันมานานแล้ว ประกอบกับตอนสมัยเรียนมัธยมก็มีโอกาสเรียนกฎหมายบ้าง รู้สึกว่ามันสนุก มีบางคำในมาตราที่คนอื่นอาจจะมองไม่เห็นความสำคัญ ดิฉันคิดว่าเป็นวิชาที่มีเสน่ห์มาก คุณแม่ก็เข้ามาเชียร์ พูดในลักษณะว่า ผู้หญิงสมัยใหม่ต้องรู้กฎหมาย จะได้ไม่ถูกใครหลอก ไม่ถูกเอาเปรียบ คือที่แม่พูดก็เหมือนกับว่า ลูกฉันต้องไม่ถูกหลอกเหมือนพ่อแม่ รู้สึกโชคดีมาก โชคดีตรงที่ว่า ก่อนจะสอบเอ็นทรานซ์ดิฉันก็รู้แล้วว่าจะเรียนกฎหมาย

สุรัตน์ : ทำไมเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดร. พูยา : ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมต้องเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รู้สึกว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เหมาะกับเรา รู้สึกว่าที่นี่แหละที่จะสอนให้เราช่วยเหลือประชาชน รู้สึกกินใจกับค่านิยมของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ตอนที่ดิฉันยังไม่ได้สอบ เคยไปเดินตลาดแถวบ้านแล้วเห็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่งมาเดินแถวนั้น จำได้ว่าดิฉันจ้องไปยังเข็มธรรมศาสตร์ที่ติดอยู่บนเสื้อของพวกเขา แล้วคิดว่าดิฉันจะต้องได้เรียนที่นี่

สุรัตน์ : ชีวิตสมัยเรียนที่ธรรมศาสตร์เป็นอย่างไรบ้าง

ดร. พูยา : โดยรวมแล้วมีความสุขมาก รู้สึกว่านี่คือที่ของเรา รู้สึกเหมือนว่าได้รับพร เราอยากเรียนที่นี่แล้วเราก็ได้เรียนจริง ๆ ที่บ้านนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ก็เชื่อกันว่าเทพเจ้าให้พรเราได้เรียนที่นี่ ที่จำได้อีกคือ ดิฉันรู้สึกในตอนนั้นว่า การเดินทางของชีวิตได้บังเกิดขึ้นแล้ว ความรู้สึกดี ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นทั้ง ๆ ที่ในช่วงสองปีแรก ดิฉันเรียนได้ไม่ค่อยดีมากนัก ซึ่งดิฉันก็ไม่โทษใคร เป็นทางเดินที่ดิฉันเลือกเอง สิ่งที่คิดได้ในเวลานั้นก็คือ เรายังไม่เข้าใจวิธีการเรียนและตอบคำถามข้อสอบหรือเปล่า ยอมรับว่ารู้สึกตกใจบ้าง เพราะสมัยมัธยมดิฉันเรียนหนังสือดีมาตลอด แต่ก็ตั้งสติแล้วบอกตัวเองว่า ต้องลองใหม่ ต้องทำใหม่ให้ได้ เมื่อทบทวนเสร็จก็รู้ว่าตนเองพลาดตรงไหน พลาดอย่างไร ช่วงปี 3 และปี 4 ก็เลยทุ่มเทเต็มที่กับการเรียน ส่วนหนึ่งที่ทำให้การเรียนของดิฉันดีขึ้นเพราะปี 3 และ 4 ดิฉันเรียนที่ท่าพระจันทร์ ซึ่งดิฉันก็ได้กลับมาอยู่ที่บ้าน ดิฉันเป็นเด็กติดบ้าน รู้สึกว่าการอยู่บ้านกับคุณพ่อและคุณแม่ทำให้เรามีกำลังใจในการเรียนเสมอ และแล้วก็ได้คะแนนดีแทบจะทุกวิชา ทั้งหมดก็มาจากการแก้ไขด้วยตนเอง เมื่อดิฉันรู้ว่าจุดอ่อนของตนเองอยู่ตรงไหน ดิฉันก็หาทางแก้จุดอ่อนนั้น

โปรดติดตามตอนที่ 2 เร็ว ๆ นี้


ที่มา: https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0x5DFCitkVNRJVd7QnisLW3NFeRx9iYXL3FMRTA5AsJUhnrBuH2szfb1VK8aNEEgWl&id=100076113972121&mibextid=Nif5oz