เมื่อครูยึดขนบปฏิบัติจนขาดความยืดหยุ่นและเมตตา  ส่วนพ่อแม่ก็ยัดเยียดความเกลียดชังให้ลูกตั้งแต่เด็ก

ไม่ร้องเพลงชาติ อาจเจอครูแจ้งจับ

เมื่อไม่นานมานี้ มีคดีน่าสนใจคดีหนึ่ง นั่นคือครูอเมริกันแจ้งตำรวจให้มาจับนักเรียนของตัวเอง ด้วยข้อหาประหลาดว่า “นักเรียนรายนี้ไม่ยอมร้องเพลงชาติ”

ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือเด็กนักเรียนที่เปรี้ยวใส่กฎระเบียบโรงเรียนอายุแค่ 11 ขวบเท่านั้น และเป็นเด็กผิวดำแอฟริกัน-อเมริกัน 

ครูสาวในโรงเรียนลอว์ตัน ไชลส์ มิดเดิล อคาเดมี รัฐฟลอริดา โทรเรียกตำรวจมาจับเด็กนักเรียนชายวัย 11 ขวบ เพราะนักเรียนคนนี้ไม่ยอมยืนตรงเคารพธงชาติ โดยให้เหตุผลว่าการเคารพธงชาติเป็นการเหยียดผิว และเพลงชาติมีเนื้อหาที่เต็มไปด้วยการดูหมิ่นแอฟริกันอเมริกัน

กรณีนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงในโซเชียลมีเดีย ว่า เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นอะไร? และจบลงอย่างไร?

ตามเนื้อข่าว เมื่อครูอเมริกันถามนักเรียนว่า...

“ทำไมจึงไม่ไปอยู่ที่อื่น หากว่าที่นี่เลวร้ายเกินทน”

คำถามแบบนี้ฟังดูคุ้นๆ หูอีกแล้ว แต่เด็กสวนกลับไปทันควันว่า...

“พวกเขา (หมายถึงคนผิวขาว) นำผมมาที่นี่”

เดี๋ยวนะ...หนู สงสัยพ่อแม่เปิดหนังเรื่อง ‘รูทส์’ ให้ดูตั้งแต่เกิดเลยล่ะมั้ง คือตอบเอาจริงเอาจังไปมั้ยน่ะ แม้ว่าจะเป็นเรื่องจริงก็ตามที

เมื่อเรื่องนี้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ความเห็นของฝรั่งอั้งม้อออกไปในแนวว่า พ่อแม่เด็กเสี้ยมให้ลูกเกลียดชังทุกสิ่งทุกอย่างในอเมริกา 

หลายคนมองว่าครูทำเกินกว่าเหตุ เรื่องแค่นี้ไม่น่าต้องโทรเรียกตำรวจมาจับเด็กที่อายุแค่ 11 ขวบเลย แต่ควรใช้หลักความเมตตาอบรมสั่งสอนดีๆ ซึ่งครูสาวส่ายหน้าท่าเดียว เพราะนอกจากพูดจาท้าทายแล้ว เด็กชายคนนี้ยังมีอาการต่อต้านทุกคนอย่างชัดเจน เช่น ขู่ทำร้ายครูและไม่ยอมออกจากห้องเรียน

ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร เด็กผิวสีรายนี้ก็ถูกส่งไปสถานสงเคราะห์สำหรับเยาวชน หรือเทียบง่ายๆ คือบ้านเมตตาบ้านกรุณาของเราอะไรทำนองนั้นนั่นแหละ

โฆษกของเขตการศึกษาโพล์ค เคาน์ตี พับลิก สกูลส์ แถลงการณ์ว่าเด็กชายถูกจับ เพราะทำให้ระบบของโรงเรียนยุ่งเหยิง และปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งโรงเรียน ไม่ได้ถูกจับเพราะไม่ยอมทำความเคารพธงชาติ 

หากจะถามว่าการที่เด็กไม่เคารพธงชาติมีความผิดไหม ถ้ายึดตามตัวบทกฎหมายอเมริกัน คงต้องตอบว่าไม่ผิด ตามกฎหมายพลเมืองสหรัฐฯ ว่าด้วยบทข้อแก้ไขที่ 1 ที่เรียกว่า The First Amendment ห้ามโรงเรียนบังคับให้เด็กนักเรียนต้องกล่าวปฏิญาณต่อธงชาติสหรัฐฯ หรือเคารพธงชาติ  

แต่ในความเป็นจริง เคยเกิดคดีอื้อฉาวที่ครูโรงเรียนมัธยมคนหนึ่งใช้ด้ามธงชี้กระดานดำประกอบการสอน ผลคือ ครูคนนั้นถูกไล่ออกจากโรงเรียนทันที

เด็กผิวสีอ้างว่าไม่อยากร้องเพลงชาติและเคารพธงชาติ เพราะเป็นเรื่องการเหยียดผิว ซึ่งก็ไม่ใช่อีกนั่นแหละ เนื้อหาเพลงชาติอเมริกาที่เรียกว่า ‘เดอะสตาร์สแปงเกิลด์แบนเนอร์’ หรือแปลง่ายๆ ว่า ‘ธงดาราประดับ’ มีที่มาจากบทกวี Defence of Fort M'Henry หรือการพิทักษ์ป้อมแมคเฮนรี่ แต่งโดยฟรานซิส สก็อตต์ คีย์ ผู้เป็นทั้งทนายและกวี  

แรงบันดาลใจนั้นมาจากธงชาติอเมริกา สะพัดเหนือป้อมเมื่อฝ่ายอเมริกันได้ชัยชนะ ในยุทธการบัลติมอร์ ปี ค.ศ. 1812 ต่อมานำมาทำเป็นเพลงชาติและใช้ชื่อว่า ‘เดอะสตาร์สแปงเกิลด์แบนเนอร์’

บทกวีบางตอน มีคำว่า ‘the hireling and slave’ อันหมายถึงพวกรับจ้างและทาส จึงทำให้มีคนเดาความหมายของวลีนี้ไปต่างๆ นานา น่าเสียดายที่กวีเสียชีวิตโดยไม่ได้อธิบายความหมายบทกวี ศาสตราจารย์ชาวอเมริกันคนหนึ่งให้เหตุผลว่า คำทั้งสองใช้เพื่อดูถูกศัตรูอังกฤษในสงครามปี ค.ศ. 1812 ไม่ใช่ยกย่องการมีทาส 

ประมวลกฎหมายสหรัฐอเมริกา ลักษณะ 36 มาตรา 301 กำหนดว่า เมื่อมีการบรรเลงเพลงชาติประกอบการชักธงหรือการแสดงธง ให้ทุกคนยกเว้นผู้อยู่ในเครื่องแบบยืนตัวตรง หันหน้าไปทางธงโดยวางมือขวาไว้ที่หัวใจ ชายที่ไม่อยู่ในเครื่องแบบและมีหมวกพึงถอดหมวกด้วยมือขวา วางหมวกที่ไหล่ซ้าย โดยมีมือขวาวางที่หัวใจ ส่วนบุคคลที่อยู่ในเครื่องแบบพึงแสดงวันทยหัตถ์แบบทหาร เมื่อได้ยินเสียงเพลงชาติและให้อยู่ในท่านั้นจนเพลงจบ และถ้าไม่มีธงแสดง ให้ทุกคนหันหน้าไปทางเสียงดนตรีและประพฤติเช่นเดียวกับเหมือนมีธง

แต่กฎหมายอเมริกาไม่มีบทลงโทษเมื่อไม่ทำตาม ภายใต้การตีความการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญข้อแรกแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งป้องกันเสรีภาพการนับถือศาสนา เสรีภาพการพูด เสรีภาพในการพิมพ์หนังสือ เสรีภาพในการประชุมอย่างสันติภาพ หรือเสรีภาพในการร้องทุกข์ต่อรัฐบาล  

การที่เด็กผิวสีคนหนึ่งไม่ยอมแสดงความเคารพ โดยอ้างว่าเพลงชาติมีเนื้อหาแสดงการเหยียดผิว เหมือนถูกปลูกฝังมาแบบนั้น น่าจะเกิดจากการที่พ่อแม่นำความจริงบางส่วน มาสร้างความเกลียดชังในใจเด็ก กรณีนี้ความผิดตกอยู่กับพ่อแม่และครู ครูยึดตามขนบปฏิบัติเกินไปจนไม่ยืดหยุ่นและขาดเมตตา ส่วนพ่อแม่ก็ยัดเยียดความเกลียดชังให้ลูกตั้งแต่เด็ก จนเรื่องนี้กลายเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจกรณีหนึ่ง


เรื่อง: เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้