‘กองทัพธรรม’ จากไทยมุ่งสู่แดนพุทธภูมิ จาริกธรรมตามรอยบาทพระศาสดา

“โครงการจาริกธรรมตามรอยบาทพระศาสดา ครั้งที่9” เป็นหนึ่งในข้อพิสูจน์ว่า การทำอะไรทำจริงจังและจริงใจอย่างมีเป้าหมายด้วยศรัทธาที่แน่วแน่นั้น นำมาสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะงานด้านพระพุทธศาสนา ซึ่งพระครูธีรธรรมปราโมทย์ หรือ หลวงพ่อสำเริง ธมฺมธีโร เจ้าอาวาส วัดดอยเทพนิมิต ตำบลป่าซาง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ได้พิสูจน์ให้เห็นผ่านการกระทำตลอดระยะเวลาการดำเนิน “โครงการจาริกธรรมตามรอยบาทพระศาสดา” ทั้ง 9 ครั้ง เป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี ที่อดทนบนหนทางแห่งวิริยะบารมี

ล่าสุดคณะสงฆ์ อุบาสก และ อุบาสิกา ใน “โครงการจาริกธรรมตามรอยบาทพระศาสดา ครั้งที่ 9” กว่า 100 ชีวิต เสมือน “กองทัพธรรม” เดินเท้าผ่านเมืองกุสินารา และ สาลวโนทยาน สถานที่ปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยหลวงพ่อสำเริงฯเมตตานำกองทัพธรรมนำผ้าจีวรห่มองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมณโคดมบรมครู และนำคณะกองทัพธรรมปฏิบัติบูชาในวันมาฆะบูชาที่ “วัดไทยกุสินารา” เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย 

สำหรับวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2566 คณะสงฆ์ได้มุ่งหน้าสู่ประเทศเนปาล โดยมีเป้าหมายไปยังสถานที่ประสูติ ณ ลุมพินีสถาน  

สำหรับเส้นทางของ “โครงการจาริกธรรมตามรอยบาทพระศาสดา ครั้งที่ 9” ในประเทศอินเดีย และ เนปาล เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา  เริ่มปักหลักที่วัดสิขิม เมืองคยา โดยเดินเท้าเข้าสู่เส้นทางแม่น้ำเนรัญชรา ผ่านสภาพอากาศที่ร้อนในตอนกลางวัน และ หนาวในตอนกลางคืน รวมทั้งแวะพักกางเต้นท์ตามจุดต่างๆ ในอินเดีย อาทิ โรงเรียนมัธยม และ มหาวิทยาลัย และวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2566 เดินเท้าผ่านเมืองคยา มุ่งหน้าสู่กรุงราชคฤห์ ผ่านลัฏฐิวัน สวนตาลหนุ่ม ,วัดเวฬุวัน, เขาคิชกูฎ , ถ้ำสัตตบรรณคูหา และ โรงพยาบาลของหมอชีวกโกมารภัจจ์  เป็นต้น

เมื่อถึงกรุงราชคฤห์แล้ว พักที่ “วัดไทยสิริราชคฤห์” 2 คืน 3 วัน และมุ่งหน้าสู่เมืองนาลันทาง มหาวิทยาลัยนาลันทา รวมทั้งเข้ากราบสักการะพระพุทธรูปองค์ดำ และ เข้าสู่เมืองไวสาลี ผ่านแม่น้ำของพระเจ้าลิจฉวี และ เข้าสู่เมืองกุสินาราดินแดนปรินิพพาน คือ “สาลวโนทยาน” และ มุ่งหน้าสู่ประเทศเนปาล เพื่อไป “ลุมพินีสถาน” สถานที่ประสูติของพระพุทธองค์ และ กลับมายังเมืองพาราณสี เพื่อไปยังสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และเดินเท้ากลับมายังจุดเริ่มต้นที่พุทธคยา เมืองคยา ในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2566 และ ปิดโครงการในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2566 

ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ระบุว่า วิริยะบารมีเป็นหนึ่งใน 10 บารมีธรรม หรือ ทศบารมี โดยวิริยะ คือ ความเพียร, ความแกล้วกล้า, ไม่เกรงกลัวอุปสรรค, พยายามบากบั่นอุตสาหะ, ก้าวหน้าเรื่อยๆไป และ ไม่ทอดทิ้งธุระหน้าที่ (energy; effort; endeavour : อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=325)

เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยู่เฉยๆ หายใจทิ้งไปเฉยๆ ในแต่ละวัน บารมีเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด แต่มนุษย์เรานั้นมักอยู่เฉยไม่ได้ ไม่ไปทำกุศลกรรม หรือ ความดี ก็ไปทำอกุศลกรรม หรือ ความชั่ว เพราะฉะนั้น การฝึกฝืนใจตนให้หมั่นประกอบกรรมดี โดยมีวิริยะความเพียรเป็นที่ตั้งจะนำมาสู่หนทางวิริยะบารมี เฉกเช่น “โครงการจาริกธรรมตามรอยบาทพระศาสดา” ที่ทำอย่างไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคใดๆ


ที่มา : naewna